xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ จี้ปรับร่าง กม.นิรโทษกรรม ชี้ล้างผิดเกินไปขัดหลักสากลกระทบ ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าทั่วประเทศและหอการค้าต่างประเทศแถลงจุดยืนจี้ฝ่ายนิติบัญญัติปรับปรุงกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เหตุเป็นการลบล้างผิดที่เกินจากผู้ชุมนุมทางการเมืองขัดหลักสากล และจะกระทบต่อความเสียหายประเทศ โดยเฉพาะการลบล้างความผิดมาตรา 3 ขณะที่ กกร.เห็นชอบร่วมกันขอให้ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดแถลงจุดยืนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้าและหอการค้าต่างประเทศต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า ขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ดำเนินการที่ถูกต้องต่อการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองให้เป็นไปตามหลักสากลและไม่ส่งผลกระทบให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศ

ทั้งนี้ ตามกฎหมายได้มีการแปรญัตติเพิ่มเติมในมาตรา 3 ให้ครอบคลุมผู้กระทำความผิดในทางอาญาคดีทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 รวมระยะเวลากว่า 9 ปี ซึ่งบางช่วงไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นหอการค้าฯ จึงเสนอแนวทางดังนี้

1. หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลต่อการจัดอันดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ รวมทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงขัดแย้งกับอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันในการเข้าเป็นภาคีไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งจะส่งผลให้ขาดการยอมรับและความน่าเชื่อถือจากนานาอารยประเทศ

2. จะทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น ทำให้การลงทุนและธุรกิจจะขับเคลื่อนได้ยาก มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ส่งผลกระทบในระยะยาว เป็นการซ้ำเติมประเทศในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้สูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้

3. การลบล้างความผิดตามมาตรา 3 ทั้งหมดจะทำให้ผลของคดีทุจริตคอร์รัปชันทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ทั้งที่มีการตัดสินคดีแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และไม่เป็นธรรมต่อคดีทุจริตอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้

4. ส่งผลให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง และการเผชิญหน้าในทางสังคมมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการทำลายระบบคุณธรรมของสังคมไทยอย่างร้ายแรง จึงควรให้คดีทุจริตคอร์รัปชันได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นปกติ

นายอิสระยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.มีความเห็นร่วมกันต่อปัญหาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่กำลังนำไปสู่การเผชิญหน้าในสังคมอย่างกว้างขวาง จึงขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการเพื่อให้เกิดทางออกและนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศ

“วันนี้ กกร.ยังไม่ได้มีมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากบางส่วนยังไม่ได้มีการสอบถามสมาชิกโดยเฉพาะส่วนของสมาคมธนาคารไทยและ ส.อ.ท. ซึ่งหลังจากนี้แต่ละส่วนจะไปแถลงจุดยืนของตนเองต่อไป แต่เห็นตรงกันว่าต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรคงไม่ใช่หน้าที่เราที่จะตอบ” นายอิสระกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกร.ไม่สามารถมีมติเป็นเอกฉันท์ได้ โดยเฉพาะ ส.อ.ท. เนื่องจาก นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้รองประธานที่เข้ามาแทนไม่สามารถตัดสินใจ ประกอบกับยังไม่มีการสอบถามสมาชิกเช่นเดียวกับสมาคมธนาคารไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น