xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยมาถึง “จุดพลิกผัน” ที่สำคัญแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1. คำนำ

สัปดาห์นี้ขอพักเรื่องพลังงานไว้ชั่วคราวก่อนทั้งๆ ที่มีประเด็นโต้แย้งที่กำลัง “มัน” แต่ขอมาพูดเรื่องสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังมีปัญหากับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมลบล้างความผิดในคดีอาญาและคดีคอร์รัปชันให้กับนักการเมืองที่ประชาชนทั่วประเทศออกมาคัดค้านอยู่ในขณะนี้ โดยจะหยิบเอาแนวคิด “The Tipping Point” หรือ “จุดพลิกผัน” มาให้กำลังใจในการคัดค้านครั้งนี้

2. ความจำเป็นที่ต้องคัดค้าน

ถ้าในฐานะปัจเจกที่เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง เราถูกสอนกันมาว่า ในศีล 5 ข้อที่เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ตนและสังคมเป็นเย็นเป็นสุขนั้น ข้อที่สำคัญที่สุดคือข้อที่ 4 ที่ว่า “งดเว้นจากการกล่าวเท็จ” เพราะหากว่าใครคนนั้นกล่าวเท็จแล้วก็เป็นการยากที่จะตรวจสอบพฤติกรรมในศีลที่เหลืออีก 4 ข้อ

ถ้าในฐานะสังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นประเทศชาติ เราถูกสอนมาว่า หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือบ้านเมืองต้องมีกฎหมายและกฎหมายนั้นก็ต้องมีความเป็นธรรมด้วย มิฉะนั้นสังคมหรือประเทศจะมีปัญหาคือมีความขัดแย้งจนถึงขั้นนองเลือดอย่างแน่นอน

การผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของระบบรัฐสภาไทยครั้งนี้กำลังนำประเทศไปสู่จุดพลิกผันที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทยหากร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถออกมามีผลบังคับใช้ได้จริง สังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ระดับจริยธรรมของสังคมก็จะตกต่ำลงไปอีก ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณบ่งชี้แล้วว่า คนไทยยอมรับคนโกงมากขึ้น คนไทยที่เคยถูกกล่าวขานด้วยทัศนะที่เป็นบวกโดยคนต่างชาติว่า “ยิ้มสยาม” ก็จะถูกตราว่า “เป็นคนขี้โกง” และนานไปในสังคมไทยเราเองก็คงไม่ต่างจากสังคมสัตว์ที่เมื่อตัวใดมีกำลังมากกว่าก็เป็นผู้ชนะและรับประโยชน์ไปแต่ฝ่ายเดียว

แต่หากการคัดค้านของประชาชนครั้งนี้สำเร็จ ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปด้วยพลังของประชาชน ระดับจริยธรรมของสังคมไทยที่มีแนวโน้มตกต่ำก็จะพลิกผันกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะพัฒนาด้านอื่นๆ ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

สถานการณ์ปัจจุบันนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสถานการณ์ที่จะตัดสินอนาคตอันใกล้ๆ นี้ว่า สังคมไทยจะเคลื่อนไปทางไหน ขึ้นหรือลง สดใสหรือสุ่มเสียงต่อหายนะ

3. ลักษณะของจุดพลิกผัน

ในฐานะนักคณิตศาสตร์ ผมขอกล่าวถึงลักษณะของจุดพลิกผันในมุมที่กว้างแต่มีความหมายลึกซึ้งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วสักเล็กน้อย ในวิชาคณิตศาสตร์เรียกจุดพลิกผันว่า “จุดวิกฤต (Critical Point)” ซึ่งคำว่า วิกฤต แปลว่าช่วงเวลาที่เป็นอันตรายยิ่ง ถ้าผลการศึกษาของนักศึกษาอยู่สภาพวิกฤตก็หมายความว่ามีโอกาสที่จะถูกรีไทร์

วิชาคณิตศาสตร์นิยมเขียนกราฟเพื่อบอกลักษณะของจุดวิกฤตหรือจุดพลิกผัน ซึ่งสามารถพลิกจากจากกำลังดีขึ้น (มีมาก) ไปสู่แย่ลง (รูป ก.) พลิกจากกำลังตกต่ำไปสู่ดีขึ้น (รูป ข.) พลิกจากลงเร็วไปสู่การขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูป ค.) รวมทั้งไม่พลิกผันเลยก็ได้ (แต่ก็ยังคงเรียกว่าจุดวิกฤต ดังรูป ง.) แต่ค่อยๆ ขึ้น (หรือเลวลง) ไปอย่างช้า แต่ไม่พลิกผัน และยังเป็นจุดวิกฤตเหมือนกัน

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” จึงเป็นวลีที่มีความถูกต้องและจำเป็นในเชิงจังหวะการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองได้จากการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเมื่อจุดพลิกผันมาถึง ความยากไม่ได้อยู่ที่จะเปลี่ยนอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าเรารู้แล้วหรือยังว่าสถานการณ์ได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ตรงนี้แหละยาก แต่ก็คงไม่ยากเกินที่จะใช้ปัญญาเรียนรู้

ภาพข้างล่างนี้เป็นการแสดงจุดพลิกผันชนิดในรูป ก. ผมได้รูปนี้มาจาก http://www.rvbookthai.com/the-tipping-point/ ซึ่งเป็นเว็บของหนังสือแปลของผู้เขียนฉบับภาษาอังกฤษ (Malcolm Gladwell) แต่ตัวหนังสือภาษาไทยเป็นคำอธิบายของผมครับ

4. ทำอย่างไรจึงจะเกิดจุดพลิกผัน

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (Gladwell) ได้แนวคิดมาจากกลไกการทำงานของเชื้อโรคระบาด ที่เริ่มต้นจากเชื้อโรคจำนวนน้อยนิด (ย้ำ จำนวนน้อยนิด) แต่สามารถแพร่ระบาดและส่งอำนาจการทำลายได้อย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

Gladwell เชื่อว่า การแพร่ของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความนิยมในตัวสินค้าบางยี่ห้อก็มีกลไกที่เหมือนกับกลไกการแพร่ของโรคระบาด เพียงแต่เป็นการระบาดทางสังคม

Gladwell เรียกกฎเกณฑ์ดังกล่าวว่า “Law of the Few” ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แห่งกลุ่ม Civic Net แปลว่า “กฎของคนหยิบมือเดียว”

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของโลกก็ล้วนเกิดจากคนส่วนน้อยหรือคนหยิบมือเดียวทั้งนั้น บางครั้งเกิดจากคนคนเดียวเสียด้วยซ้ำ เช่น ศาสดาของแต่ละศาสนา เป็นต้น

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวอียิปต์ครั้งล่าสุด ก็เกิดจากคนเพียง 8 คนที่ลุกขึ้นมาประท้วงการตัดต้นไม้เพื่อนำพื้นที่มาสร้างศูนย์การค้า แต่น่าเสียดายที่ทหารมาฉวยโอกาสไปทำรัฐประหาร เหมือนกับเหตุการณ์ของไทยปี 2549

การทำลายกำแพงเบอร์ลินที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของชาวเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตกจนนำไปสู่การรวมชาติกันใหม่ เมื่อปี 2533 ก็เกิดจากการคุยกันของคนเพียง 3-4 คนเท่านั้นในร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง

คนที่ทำความชั่ว ความเลวต่อบ้านเมืองและส่งผลเสียหายต่อบ้านเมืองก็เป็นคนส่วนน้อยอีกเช่นกัน กฎข้อนี้จึงใช้ได้กว้างขวางมากพร้อมมีสถิติยืนยันจริง

เราจะเห็นได้ว่าจุดพลิกผันซึ่งเป็นจุดวิกฤตที่มีโอกาสจะนำไปสู่ความตกต่ำหรือรุ่งโรจน์นั้นเกิดจากคนส่วนน้อยหรือคนหยิบมือเดียวทั้งนั้น

แต่กฎของคนหยิบมือเดียวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการจัดการหรือการจัดตั้งอย่างเป็นระบบที่ประกอบด้วยคนที่มีลักษณะ 3 กลุ่มประกอบกันขึ้น คือ ผู้ประสานงาน (Connector) ที่รู้จักคนจำนวนมาก มีเครดิตในสังคมและประสานงานได้ดี นักวิชาการ (Maven-ภาษาอิสราเอล) ที่รู้ลึกซึ้งแตกฉานในแต่ละสาขา และ นักการตลาด (Salesman) ที่มีความสามารถแปลงานวิชาการที่หลากหลายและเข้าใจยากมาเป็นภาษาง่ายๆ ให้ติดตลาด ให้คนติดใจ เป็นต้น

พูดถึงผู้ประสานงาน เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ได้ให้ข้อคิดในเวทีพลังงานว่า กลุ่มคนก็เหมือนกับกลุ่มนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว นิ้วที่ประสานได้ดีที่สุดคือนิ้วหัวแม่มือ ไม่เชื่อก็ลองขยับนิ้วตนเองแต่ละนิ้วไปสัมผัสนิ้วอื่นๆ ดูซิครับ แม้ว่านิ้วอื่นๆ ก็ประสานได้ แต่ยากส์

ดังนั้น เราต้องหานิ้วหัวแม่มือของสังคมให้เจอนะครับ ยิ่งเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน (คอลัมน์นี้ชื่อ “โลกที่ซับซ้อน” ) ก็ยิ่งหาได้ยากขึ้น แต่คำว่ายากก็ไม่ได้แปลว่า หาไม่ได้

ความเป็นไปได้ของจุดพลิกผันจึงขึ้นอยู่กับความเนียนของการหาองค์กรผู้ประสานงานเป็นอย่างมาก

นอกจากกฎของคนหยิบมือเดียวหรือกฎคนส่วนน้อยเป็นผู้สร้างกระแสสังคมแล้ว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (Gladwell) ยังได้ให้ความสำคัญกับอีก 2 กฎ เพื่อทำให้จุดพลิกผันเกิดขึ้น คือ

ความหนักแน่น (Stickiness) ของข้อมูลข่าวสาร หรือตัวสาระของข่าวสารหรือ “เชื้อไวรัสทางสังคม” นั่นแหละ

ในทัศนะของผมเองแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ คือสาเหตุสำคัญที่จะนำสังคมไทยพลิกผันไปสู่สังคมที่ป่าเถื่อน เป็นสังคมที่ใครใหญ่ใครอยู่ ไม่ยึดหลักความเป็นธรรม ไม่ต่างจากสังคมของสัตว์เดรัจฉาน ผมไม่ได้ใช้อารมณ์ หรือเสกคำที่ฟังแล้วรุนแรงให้สะใจเล่น

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ส่วนกฎข้อสุดท้าย คือ ความสำคัญของสภาพแวดล้อม ซึ่งในทัศนะของผมแล้ว ผมเห็นว่าสถานการณ์แวดล้อมของบ้านเมืองไทยในขณะนี้นั้นมีความชัดเจนมากพอแล้ว ที่จะสรุปได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่จะพลิกสังคมไทยไปสู่ความตกต่ำไม่เพียงแต่ในด้านจริยธรรมที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น

แต่ยังมีทั้งด้านนำสิ่งแวดล้อมที่จะไปสู่หายนะจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพราะนอกจากจะไม่เคารพต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว ยังไม่เคารพต่อกฎของธรรมชาติที่เป็นกฎเหนือหัวของมนุษย์ทั้งปวงด้วย ในด้านเศรษฐกิจ มีผู้รู้ที่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดได้ออกมาเตือนเป็นระยะๆ แล้วว่า มีสัญญาณหลายตัวที่มีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

5. สรุป

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้นอกจากจะขัดกับหลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ากระบวนการผ่านกฎหมายในขั้นวาระ 2-3 ก็ยังขัดกับหลักการที่ตนได้รับหลักการในวาระแรกอีกต่างหาก พูดง่ายๆ ก็คือหลอกลวงประชาชนตลอดมา

ดังนั้น ในทัศนะของผมแล้ว ประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดพลิกผันหรือจุดวิกฤตอันตรายที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าประชาชนต้านไม่อยู่ สังคมไทยในอนาคตจะตกต่ำทางจริยธรรมถึงขั้นป่าเถื่อน แต่หากประชาชนสามารถต้านทานไว้ได้ สังคมไทยก็จะพลิกกลายไปเป็นดี

และโดยส่วนตัว ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถต้านได้ ประชาชนต้องชนะ แล้วแรงเหวี่ยงหรือโมเมนตัมจากการชนะครั้งนี้จะส่งผลให้เราสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้อีกหลายอย่าง เชื่ออย่างนี้จริงๆ ครับ โดยเริ่มต้นจากคนหยิบมือเดียวแต่ต้องมีกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น