xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยมาถึง “จุดพลิกผัน” ที่สำคัญแล้ว! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
1.คำนำ

สัปดาห์นี้ขอพักเรื่องพลังงานไว้ชั่วคราวก่อน ทั้งๆ ที่มีประเด็นโต้แย้งที่กำลัง “มัน” แต่ขอมาพูดเรื่องสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังมีปัญหากับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมลบล้างความผิดในคดีอาญา และคดีคอร์รัปชันให้แก่นักการเมืองที่ประชาชนทั่วประเทศออกมาคัดค้านอยู่ในขณะนี้ โดยจะหยิบเอาแนวคิด “The Tipping Point” หรือ “จุดพลิกผัน” มาให้กำลังใจในการคัดค้านครั้งนี้

2.ความจำเป็นที่ต้องคัดค้าน

ถ้าในฐานะปัจเจกที่เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง เราถูกสอนกันมาว่า ในศีล 5 ข้อที่เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ตน และสังคมเป็นเย็นเป็นสุขนั้น ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ข้อที่ 4 ที่ว่า “งดเว้นจากการกล่าวเท็จ” เพราะหากว่าใครคนนั้นกล่าวเท็จแล้วก็เป็นการยากที่จะตรวจสอบพฤติกรรมในศีลที่เหลืออีก 4 ข้อ

ถ้าในฐานะสังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นประเทศชาติ เราถูกสอนมาว่า หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ บ้านเมืองต้องมีกฎหมาย และกฎหมายนั้นก็ต้องมีความเป็นธรรมด้วย มิฉะนั้น สังคม หรือประเทศจะมีปัญหาคือมีความขัดแย้งจนถึงขั้นนองเลือดอย่างแน่นอน

การผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของระบบรัฐสภาไทยครั้งนี้ กำลังนำประเทศไปสู่จุดพลิกผันที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทย หากร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถออกมามีผลบังคับใช้ได้จริง สังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ระดับจริยธรรมของสังคมก็จะตกต่ำลงไปอีก ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณบ่งชี้แล้วว่า คนไทยยอมรับคนโกงมากขึ้น คนไทยที่เคยถูกกล่าวขานด้วยทัศนะที่เป็นบวกโดยคนต่างชาติว่า “ยิ้มสยาม” ก็จะถูกตราว่า “เป็นคนขี้โกง” และนานไปในสังคมไทยเราเองก็คงไม่ต่างจากสังคมสัตว์ที่เมื่อตัวใดมีกำลังมากกว่าก็เป็นผู้ชนะ และรับประโยชน์ไปแต่ฝ่ายเดียว

แต่หากการคัดค้านของประชาชนครั้งนี้สำเร็จ ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปด้วยพลังของประชาชน ระดับจริยธรรมของสังคมไทยที่มีแนวโน้มตกต่ำก็จะพลิกผันกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะพัฒนาด้านอื่นๆ ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

สถานการณ์ปัจจุบันนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสถานการณ์ที่จะตัดสินอนาคตอันใกล้ๆ นี้ว่า สังคมไทยจะเคลื่อนไปทางไหน ขึ้นหรือลง สดใส หรือสุ่มเสียงต่อหายนะ

3.ลักษณะของจุดพลิกผัน

ในฐานะนักคณิตศาสตร์ ผมขอกล่าวถึงลักษณะของจุดพลิกผันในมุมที่กว้างแต่มีความหมายลึกซึ้งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วสักเล็กน้อย ในวิชาคณิตศาสตร์เรียกจุดพลิกผันว่า “จุดวิกฤต (Critical Point)” ซึ่งคำว่า วิกฤต แปลว่าช่วงเวลาที่เป็นอันตรายยิ่ง ถ้าผลการศึกษาของนักศึกษาอยู่สภาพวิกฤตก็หมายความว่ามีโอกาสที่จะถูกรีไทร์

วิชาคณิตศาสตร์ นิยมเขียนกราฟเพื่อบอกลักษณะของจุดวิกฤต หรือจุดพลิกผัน ซึ่งสามารถพลิกจากกำลังดีขึ้น (มีมาก) ไปสู่แย่ลง (รูป ก.) พลิกจากกำลังตกต่ำไปสู่ดีขึ้น (รูป ข.) พลิกจากลงเร็วไปสู่การขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูป ค.) รวมทั้งไม่พลิกผันเลยก็ได้ (แต่ก็ยังคงเรียกว่าจุดวิกฤต ดังรูป ง.) แต่ค่อยๆ ขึ้น (หรือเลวลง) ไปอย่างช้า แต่ไม่พลิกผัน และยังเป็นจุดวิกฤตเหมือนกัน
 

 
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” จึงเป็นวลีที่มีความถูกต้อง และจำเป็นในเชิงจังหวะการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองได้จากการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเมื่อจุดพลิกผันมาถึง ความยากไม่ได้อยู่ที่จะเปลี่ยนอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าเรารู้แล้วหรือยังว่าสถานการณ์ได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ตรงนี้แหละยาก แต่ก็คงไม่ยากเกินที่จะใช้ปัญญาเรียนรู้

ภาพข้างล่างนี้เป็นการแสดงจุดพลิกผันชนิดในรูป ก. ผมได้รูปนี้มาจาก http://www.rvbookthai.com/the-tipping-point/ ซึ่งเป็นเว็บของหนังสือแปลของผู้เขียนฉบับภาษาอังกฤษ (Malcolm Gladwell) แต่ตัวหนังสือภาษาไทยเป็นคำอธิบายของผมครับ
 

 
4.ทำอย่างไรจึงจะเกิดจุดพลิกผัน


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (Gladwell) ได้แนวคิดมาจากกลไกการทำงานของเชื้อโรคระบาด ที่เริ่มต้นจากเชื้อโรคจำนวนน้อยนิด (ย้ำ จำนวนน้อยนิด) แต่สามารถแพร่ระบาด และส่งอำนาจการทำลายได้อย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

Gladwell เชื่อว่า การแพร่ของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความนิยมในตัวสินค้าบางยี่ห้อก็มีกลไกที่เหมือนกับกลไกการแพร่ของโรคระบาด เพียงแต่เป็นการระบาดทางสังคม

Gladwell เรียกกฎเกณฑ์ดังกล่าวว่า “Law of the Few” ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แห่งกลุ่ม Civic Net แปลว่า “กฎของคนหยิบมือเดียว”

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของโลกก็ล้วนเกิดจากคนส่วนน้อย หรือคนหยิบมือเดียวทั้งนั้น บางครั้งเกิดจากคนคนเดียวเสียด้วยซ้ำ เช่น ศาสดาของแต่ละศาสนา เป็นต้น

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวอียิปต์ครั้งล่าสุด ก็เกิดจากคนเพียง 8 คน ที่ลุกขึ้นมาประท้วงการตัดต้นไม้เพื่อนำพื้นที่มาสร้างศูนย์การค้า แต่น่าเสียดายที่ทหารมาฉวยโอกาสไปทำรัฐประหาร เหมือนกับเหตุการณ์ของไทยปี 2549

การทำลายกำแพงเบอร์ลินที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของชาวเยอรมันตะวันออก และเยอรมันตะวันตก จนนำไปสู่การรวมชาติกันใหม่ เมื่อปี 2533 ก็เกิดจากการคุยกันของคนเพียง 3-4 คนเท่านั้นในร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง

คนที่ทำความชั่ว ความเลวต่อบ้านเมือง และส่งผลเสียหายต่อบ้านเมืองก็เป็นคนส่วนน้อยอีกเช่นกัน กฎข้อนี้จึงใช้ได้กว้างขวางมาก พร้อมมีสถิติยืนยันจริง

เราจะเห็นได้ว่า จุดพลิกผันซึ่งเป็นจุดวิกฤตที่มีโอกาสจะนำไปสู่ความตกต่ำ หรือรุ่งโรจน์นั้นเกิดจากคนส่วนน้อย หรือคนหยิบมือเดียวทั้งนั้น

แต่กฎของคนหยิบมือเดียวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการจัดการหรือการจัดตั้งอย่างเป็นระบบที่ประกอบด้วย คนที่มีลักษณะ 3 กลุ่มประกอบกันขึ้น คือ ผู้ประสานงาน (Connector) ที่รู้จักคนจำนวนมาก มีเครดิตในสังคม และประสานงานได้ดี นักวิชาการ (Maven-ภาษาอิสราเอล) ที่รู้ลึกซึ้งแตกฉานในแต่ละสาขา และ นักการตลาด (Salesman) ที่มีความสามารถแปลงานวิชาการที่หลากหลาย และเข้าใจยากมาเป็นภาษาง่ายๆ ให้ติดตลาด ให้คนติดใจ เป็นต้น
 

 
พูดถึงผู้ประสานงาน เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ได้ให้ข้อคิดในเวทีพลังงานว่า กลุ่มคนก็เหมือนกับกลุ่มนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว นิ้วที่ประสานได้ดีที่สุดคือ นิ้วหัวแม่มือ ไม่เชื่อก็ลองขยับนิ้วตนเองแต่ละนิ้วไปสัมผัสนิ้วอื่นๆ ดูสิครับ แม้ว่านิ้วอื่นๆ ก็ประสานได้ แต่ยาก

ดังนั้น เราต้องหานิ้วหัวแม่มือของสังคมให้เจอนะครับ ยิ่งเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน (คอลัมน์นี้ชื่อ “โลกที่ซับซ้อน” ) ก็ยิ่งหาได้ยากขึ้น แต่คำว่ายากก็ไม่ได้แปลว่า หาไม่ได้

ความเป็นไปได้ของจุดพลิกผันจึงขึ้นอยู่กับความเนียนของการหาองค์กรผู้ประสานงานเป็นอย่างมาก

นอกจากกฎของคนหยิบมือเดียว หรือกฎคนส่วนน้อยเป็นผู้สร้างกระแสสังคมแล้ว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (Gladwell) ยังได้ให้ความสำคัญกับอีก 2 กฎ เพื่อทำให้จุดพลิกผันเกิดขึ้น คือ

ความหนักแน่น (Stickiness) ของข้อมูลข่าวสาร หรือตัวสาระของข่าวสารหรือ “เชื้อไวรัสทางสังคม” นั่นแหละ

ในทัศนะของผมเองแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ คือ สาเหตุสำคัญที่จะนำสังคมไทยพลิกผันไปสู่สังคมที่ป่าเถื่อน เป็นสังคมที่ใครใหญ่ใครอยู่ ไม่ยึดหลักความเป็นธรรม ไม่ต่างจากสังคมของสัตว์เดรัจฉาน ผมไม่ได้ใช้อารมณ์ หรือเสกคำที่ฟังแล้วรุนแรงให้สะใจเล่น

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ส่วนกฎข้อสุดท้าย คือ ความสำคัญของสภาพแวดล้อม ซึ่งในทัศนะของผมแล้ว ผมเห็นว่าสถานการณ์แวดล้อมของบ้านเมืองไทยในขณะนี้นั้นมีความชัดเจนมากพอแล้วที่จะสรุปได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่จะพลิกสังคมไทยไปสู่ความตกต่ำไม่เพียงแต่ในด้านจริยธรรมที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น

แต่ยังมีทั้งด้านนำสิ่งแวดล้อมที่จะไปสู่หายนะจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพราะนอกจากจะไม่เคารพต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว ยังไม่เคารพต่อกฎของธรรมชาติที่เป็นกฎเหนือหัวของมนุษย์ทั้งปวงด้วย ในด้านเศรษฐกิจ มีผู้รู้ที่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดได้ออกมาเตือนเป็นระยะๆ แล้วว่า มีสัญญาณหลายตัวที่มีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

5.สรุป

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้นอกจากจะขัดกับหลักนิติรัฐ และนิติธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่า กระบวนการผ่านกฎหมายในขั้นวาระ 2-3 ก็ยังขัดกับหลักการที่ตนได้รับหลักการในวาระแรกอีกต่างหาก พูดง่ายๆ ก็คือ หลอกลวงประชาชนตลอดมา

ดังนั้น ในทัศนะของผมแล้ว ประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดพลิกผัน หรือจุดวิกฤตอันตรายที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าประชาชนต้านไม่อยู่ สังคมไทยในอนาคตจะตกต่ำทางจริยธรรมถึงขั้นป่าเถื่อน แต่หากประชาชนสามารถต้านทานไว้ได้ สังคมไทยก็จะพลิกกลายไปเป็นดี

และโดยส่วนตัว ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถต้านได้ ประชาชนต้องชนะ แล้วแรงเหวี่ยง หรือโมเมนตัมจากการชนะครั้งนี้จะส่งผลให้เราสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้อีกหลายอย่าง เชื่ออย่างนี้จริงๆ ครับ โดยเริ่มต้นจากคนหยิบมือเดียว แต่ต้องมีกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น