xs
xsm
sm
md
lg

สอนลูกให้โกง

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

คู่ชีวิตผมเป็นคนทำงานสื่อด้านเด็กและการศึกษามายาวนานเท่าอายุของลูกชายคนโตบวกกับอีก 1 ปี ซึ่งก็คือ 16 ปีเศษ นี่คือบทความชิ้นหนึ่งที่เธอเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ชื่อบทความก็คือ...

“สอนลูกให้โกง”

ขออนุญาตนำมาลง ณ ที่นี้อีกครั้งนะครับ

.........

“คนเป็นแม่ยุคนี้เหนื่อยเนอะ เธอเหนื่อยไหม”

เป็นคำถามของเพื่อนคุณแม่คนหนึ่ง ที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน แต่ก็รู้ว่าเป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการ หรือสนใจคำตอบ เพียงแต่เธอพูดขึ้นมาลอยๆ

แต่..ก็น่าฉุกคิดไม่ใช่เหรอ..!!


เรื่องเหนื่อยเป็นเรื่องแสนจะธรรมดาของคนเป็นแม่ ที่เมื่อตั้งใจจะมีลูกก็คงเตรียมพร้อมที่จะยอมเหนื่อยอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นปัญหา ยิ่งปัจจุบันคนเป็นแม่ยุคใหม่ก็มีการเตรียมการเป็นอย่างดี ก็ย่อมหาผู้ช่วยมาผ่อนแรงไม่มากก็น้อยค่ะ ไม่ว่าจะเหนื่อยยาก อดหลับอดนอนขนาดไหนก็บ่ยั่น ขอเพียงแต่ให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายและพัฒนาการที่สมวัย แข็งแรงสมบูรณ์ ก็เพียงพอแล้ว

ฉะนั้น เรื่องเหนื่อยกาย หรือกระทั่งเหนื่อยใจก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นมากนัก

แต่สิ่งที่เหนื่อย ..ที่ดิฉันกลับคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นก็คือ.. เรื่องการอบรมสั่งสอนสำหรับคนเป็นแม่ยุคนี้มากกว่า เพราะสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบันมันยากต่อการที่จะสอนลูกได้ว่าอะไรดีอะไรชั่วได้ชัดเจน เพราะบางทีบางสถานการณ์ก็เทาๆ

เมื่อก่อนเวลาที่ลูกถามว่า “ถ้าเก็บเงินได้แล้วไม่นำไปคืนเจ้าของ เป็นคนไม่ดีหรือเปล่า หรือบาปหรือเปล่า” เราอาจจะตอบทันทีว่าไม่ใช่เงินของเรา เราก็ควรจะนำไปคืนเจ้าของ หรือถ้าไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของก็น่าจะนำไปให้เจ้าหน้าที่ หรือส่วนกลางที่จะสามารถประกาศให้ผู้ที่ทำเงินหายมารับคืนไปได้ แม้จะไม่มีใครเห็นว่าเราเก็บเงินได้ แต่ตัวเราก็รู้ไม่ใช่หรือ

นั่นคือการสอนให้ลูกละอายใจต่อการทำไม่ดี หรือละอายใจต่อบาป

เวลาลูกถามว่า “หนูไปซื้อของแล้วแม่ค้าทอนเงินผิด จะคืนแม่ค้าดีหรือเปล่า หรือแกล้งเก็บเอาไว้ ไม่มีใครรู้หรอก” เราอาจจะตอบทันทีว่า เป็นสิ่งไม่ดี ใครจะไปรู้ว่าเงินที่แม่ค้าทอนผิดมา คือ กำไรที่เขาจะนำไปซื้อนมให้ลูกเขาหรือเปล่า แล้วกลายเป็นว่าวันนั้นเขาไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน หรือแม่ค้าต้องขาดทุนในวันนั้น แล้วลูกจะรู้สึกอย่างไร เราอาจไม่เห็นว่าแม่ค้าคนนั้นจะเป็นอย่างไร แต่เรากำลังทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า ฉะนั้น ถ้าเราคืนเงินเขาไป อย่างน้อย แม่ค้าก็ต้องกล่าวคำว่าขอบคุณ และเขาก็คงอดชื่นชมคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความภาคภูมิใจในตนเองก็คงมีความสุขมิใช่หรือ

แต่ในปัจจุบันความสลับซับซ้อนของชีวิต ความสลับซับซ้อนที่วิ่งไล่ตามเทคโนโลยีที่พรั่งพรูเข้ามาในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้จิตใจของคนก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน และนั่นหมายถึงอาการเหนื่อยที่ว่าของดิฉันนั่นแหละค่ะ

เหนื่อยที่จะต้องอบรมสั่งสอนให้ลูกเติบโตขึ้นมาให้รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนับวันยิ่งสลับซับซ้อน เพื่อให้เขาอยู่ได้ชนิดที่ไม่โดนเอาเปรียบ

ซึ่ง...คำว่า ‘ไม่โดนเอาเปรียบ’ อีกนี่แหละค่ะ ก็ยากขึ้นไปอีก เพราะการสอนไม่ให้ลูกโดนเอาเปรียบ แต่ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงไปโดนผู้อื่นเอาเปรียบด้วยกลวิธีแยบยล

ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกเอาเปรียบ ก็ต้องเอาเปรียบผู้อื่น กระนั้นหรือ ?


หรือแม้แต่การสอนไม่ให้ลูกโกง แต่ถ้าลูกถูกโกง แล้วเราจะบอกลูกว่าอย่างไร

เราอาจจะบอกลูกได้ว่าไม่เป็นไรหรอก สักวันคนที่โกงก็คงบาปกรรมตามทันอยู่ดี ฉะนั้น หนูก็ไม่ควรไปโกงคนอื่น

ลูกของเราก็เชื่อเช่นนั้น !

แต่หากว่าด้วยวิธีการที่แยบยลที่ดูเหมือนไม่โกง แต่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ถูกศีลธรรมล่ะ เราจะบอกลูกว่าควรกระทำหรือเปล่า เป็นเรื่องน่าคิด !!

โลกยุคปัจจุบันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนประหนึ่งเหมือนไม่อาจบอกลูกได้ว่าอะไรคือขาว อะไรคือดำ อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เพราะเด็กมักจะเชื่อให้สิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันอึ้งกับหลายคำถามของลูกชายวัยอยากรู้อยากเห็นทั้งสองคน วัย 8 ปี และ 6 ปี 3 เดือน ค่อนข้างมาก หลายคำถามก็ไม่สามารถตอบออกมาได้ชัดเจนในถ้อยที และหลายคำถามก็ตะลึง เพราะไม่คิดว่าเด็กวัยประถมจะถามออกมาเช่นนี้

“ทำไมนายกฯไม่เป็นคนดี”

“แล้วทำไมหนูถึงคิดว่านายกฯไม่ใช่คนดี”

“ถ้าเป็นคนดี แล้วทำไมเขาต้องไล่นายกฯด้วย”

“เอ่อ..อ่า..เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับนายกฯ และคิดว่านายกฯ ทำไม่ถูก”

“เพื่อนต้นน้ำก็บอกเหมือนกันว่าพ่อของเขาบอกว่า นายกฯขี้โกง โกงภาษีประชาชน แล้วทำไมคนโกงถึงได้เป็นนายกฯ”

ดิฉันใช้เวลานานทีเดียวในการอธิบายลูกเรื่อง ‘โกง’ และมีความรู้สึกอย่างชัดเจนว่าการอธิบายให้ลูกเข้าใจในเรื่อง ‘ดี’/‘ชั่ว’ และ ‘โกง’/’ไม่โกง’ ในยุคนี้ ยากเหลือเกิน

การจะบอกว่าคนโกงเป็นคนไม่ดี เป็นคนบาป แต่เหตุไฉนเราจึงพบเห็นคนโกงเต็มบ้านเต็มเมือง

ยิ่งถ้าเป็นการโกงที่แยบยล เพราะความที่มีโอกาสมากกว่าผู้อื่น และเป็นศูนย์รวมของ 3 สิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจ การศึกษา เงิน แล้วทำให้การโกงแยบยล เอาเปรียบผู้อื่นได้เนียนกว่า

แล้วเราจะสอนลูกเราอย่างไร ?

ยังจะคงเน้นค่านิยมให้ลูกเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด แล้วไม่สนใจเรื่องความดีเป็นตัวนำอีกกระนั้นหรือ !

ถ้าเรายังเร่งสร้างผลผลิตของมนุษยชาติตามแบบอย่างของผู้นำที่เป็นศูนย์รวมของทั้ง 3 สิ่ง ไม่ต้องห่วงเลยว่าอีกหน่อยคงมีคู่มือสารพัดเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่และรุ่นต่อ ๆ ไป ที่อยากมีทั้ง 3 สิ่งที่ว่ามาวางขายให้เกลื่อนเมืองด้วยชื่อว่า...

“คู่มือสอนลูกให้โกง”

.......

นั่นคือข้อเขียนของเธอเมื่อ 7 ปีเศษเกือบ 8 ปีมาแล้ว

มันทำให้ผมคิดได้ว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯวันนี้มีความหมายมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่มีความหมายถึงระบบนิติธรรม ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ของสังคมไทยทั้งระบบทีเดียว เพราะถ้ามันผ่านออกไปบังคับใช้ได้ ในหนังสือคู่มือสอนลูกให้โกงในอนาคตคงจะต้องเขียนไว้เป็นบทหนึ่งเลยว่า

ถ้าลูกจะโกง ต้องโกงให้มากเข้าไว้ โกงให้มีเงินเหลือมากพอจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อมามีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แล้วสั่งการให้ลูกพรรคของลูกออกกฎหมายล้างผิดการโกงทุกประเภท

เอาคนโกงทุกประเภททุกกรณีมาเป็นเกราะกำบังการล้างผิดของตัวลูกเอง

โดยใช้หลักนิติธรรมมาอำพรางอีกที

ถ้าไม่อยากจะต้องสอนลูกอย่างนี้ในอนาคตอันใกล้ วันนี้ก็ออกแรงกันคนละไม้คนละมือต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายลักหลักประเทศไทยกันให้ถึงที่สุด

มันอาจจะเป็นเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ได้

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ด้วยมือเราครับพี่น้อง

กำลังโหลดความคิดเห็น