xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสื้อแดงตาสว่างได้แล้ว ใครกันแน่ฆ่า 91 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลพยายามเร่งรัดให้ผ่านออกมาโดยเร็ว เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับจากมีศพแรกเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในวันที่ 10 เมษายน 2553 แกนนำคนเสื้อแดงก็พร่ำเพ้อกับบรรดาสาวกมาตลอดว่า จะนำตัวฆาตกรมาลงโทษให้ได้

คำว่าฆาตกรนั้น บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงทุกคน รวมทั้ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ต่างชี้นิ้วไปที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แกนนำคนเสื้อแดง รวมทั้ง นช.ทักษิณ ก็ทำได้เพียงเล่นละครตบตาบรรดาสาวกบริวารว่าได้พยายามที่จะนำตัวฆาตรกรตัวจริงที่ทำให้มีคนตาย 91 คน ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 มาลงโทษตามกฎหมายแล้ว

ทั้งการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court - ICC)

การให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ยื่นร้องให้ศาลไต่สวนการตายของคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุม และให้อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ

ทั้งสองอย่างดูเหมือนว่า ฝ่าย นช.ทักษิณเอาจริงเอาจริง เพราะได้พยายามรวบรัดให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพถูกดำเนินคดีโดยเร็ว แต่เมื่อพิจารณาดูข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ก็จะเห็นว่านี่เป็นเพียงละครตบตาคนเสื้อแดง และเป็นเกมการเมืองที่จะบีบให้พรรคฝ่ายค้านเห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง”เท่านั้น

กรณีการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ นช.ทักษิณได้มอบหมายให้นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดาผู้มีชื่อเสียงในการรับว่าความให้นักการเมืองทรราชในหลายประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553

แต่จนขณะนี้ไอซีซี.ก็ยังไม่สามารถเข้ามาสอบสวนคดีดังกล่าวได้ มีเพียงความคืบหน้าเล็กๆ น้อยๆ ที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความลูกจ้างทักษิณ และแกนนำคนเสื้อแดงเอามาแถลงข่าวหลอกสาวกให้ดีใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

อุปสรรคสำคัญคือการที่ประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง แม้ว่าจะมีช่องทางให้ ไอซีซี.เข้ามาไต่สวนคดีได้สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้ลงสัตยาบัน โดยให้ฝ่ายบริหาร คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามรับรองขอบเขตอำนาจของไอซีซี.ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 12 วรรค 3

แต่จนกระทั้งบัดนี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เจ้ากระทรวงบัวแก้ว ก็ยังไม่กล้าใช้อำนาจลงนาม เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน

หรือ หากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรมฯ จนนำไปสู่การลงสัตยาบันหรือการรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซี.ได้ ก็ยังติดขัดที่หลักการกฎหมายใช้บังคับย้อนหลังไม่ได้ เพราะการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเกิดขึ้นในปี 2553 แต่การยอมรับอำนาจไอซีซี.เกิดขึ้นภายหลัง

หรือ หากดันทุรังให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ พ.ต.ท.ทักษิณเองอาจจะโดนไอซีซี.สอบสวนก่อน ในคดีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด และการตายของชาวมุสลิมในภาคใต้ในเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

สรุปแล้วการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นแค่ “มุกหลอกควาย” ที่ นช.ทักษิณนำออกมากล่อมให้คนเสื้อแดงอยู่ใต้โอวาทเท่านั้น

ส่วนการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่อัยการสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเพียงละครฉากหนึ่ง และเป็นเกมที่จะบีบให้พรรคฝ่ายค้านยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมมากกว่าที่จะมุ่งหวังเอานายอภิสิทธิ์-สุเทพเข้าคุกจริงๆ

นั่นเพราะโดยลึกๆ แล้ว นช.ทักษิณก็รู้อยู่แก่ใจว่าต้นตอของ 91 ศพ มาจากไหนกันแน่

หากพิจารณาข้อหา “ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามที่ดีเอสไอเป็นคนตั้งและอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องตามนั้น ก็จะเห็นถึงความพิลึกพิลั่นของการตั้งข้อหานี้

อัยการสูงสุดอ้างว่านายอภิสิทธิ์-สุเทพกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80,83,84,90,288 กรณีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธและเครื่องกระสุนจริงในการขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

อัยการย้ำว่าเรื่องนี้ เป็นกรณีที่นายอภิสิทธิ์-สุเทพก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าโดยการออกคำสั่ง โดยอ้างจากหลักฐานเอกสารการลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ศอฉ. จึงเป็นการกล่าวหาคดีลักษณะวิสามัญฆาตกรรม และมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะพิจารณาสั่งฟ้อง ไม่ใช่การกระทำความผิดต่ออำนาจหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

เห็นได้ชัดเจนว่าการให้เหตุผลการสั่งฟ้องของอัยการขัดแย้งในตัวเอง ในเมื่อบอกว่าการกระทำความผิดของนายอภิสิทธิ์-สุเทพไม่ใช่การกระทำความผิดในหน้าที่ แต่กลับอ้างหลักฐานการลงนามในคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.

ประเด็นสำคัญคือลักษณะการตั้งข้อหาที่พยายามจะเชื่อมโยงแบบหลวมๆ เพื่อจะเอาผิดนายอภิสิทธิ์-สุเทพฐานฆ่าคนตายให้ได้ โดยอ้างถึงการออกคำสั่ง ศอฉ.แล้วเป็นเหตุให้มีคนตายตามมา ซึ่งถ้าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ข้อกล่าวหา นั่นเพราะในคำสั่ง ศอฉ.ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าให้ฆ่าผู้ชุมนุม ส่วนการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงได้นั้น ก็เกิดขึ้นหลังจากการปรากฏตัวของชายชุดดำที่นำอาวุธสงครามมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจนมีทหารเสียชีวิตหลายนาย จึงไม่ใช่คำสั่งที่เกินกว่าเหตุแต่อย่างใด

หรือในทางกลับกัน หากการออกคำสั่ง ศอฉ.มีผลทำให้มีคนตายตามมา แล้วคนออกคำสั่งต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตาย การประกาศสงครามกับยาเสพติดที่ทำให้มีคนตายราว 2,500 คน และการสั่งให้ใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคที่ นช.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี นช.ทักษิณก็ต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายเช่นกัน

นช.ทักษิณน่าจะรู้ดีว่า คดีนี้เมื่อเข้าสู่ชั้นศาลมีโอกาสสูงที่ศาลจะยกฟ้อง ยิ่งต้องสู้กันถึง 3 ศาลแล้ว เป็นเรื่องยากที่ นช.ทักษิณจะคาดหวังผลการตัดสินตามที่ตนเองต้องการได้

การฟ้องนายอภิสิทธิ์-สุเทพฐานฆ่าคนตายกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นั้น จึงเป็นการยื่นฟ้องแบบส่งๆ เพียงเพื่อเอาใจมวลชนคนเสื้่อแดง ไม่ได้ฟ้องเพื่อที่จะให้มีการลงโทษฆาตกรตัวจริงตามที่เคยโฆษณาชวนเชื่อในกลุ่มคนเสื้อแดง

และเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเกมบีบพรรคฝ่ายค้านให้ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังเร่งวันเร่งคืนให้คลอดออกมา

เป็นเรื่องน่าประหลาดอย่างยิ่งที่คนที่กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นฆาตกร แต่กำลังเร่งออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดของคนที่ตัวเองกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรด้วย
คำประกาศที่เคยบอกว่าจะนำฆาตกรตัวจริงมาลงโทษให้ได้จึงมีค่าแค่ลมปากเหม็นๆ ของ นช.ทักษิณและแกนนำคนเสื้อแดงเท่านั้น

ยิ่งตอนนี้ นช.ทักษิณกำลังเดินหน้าลุยแหลกเพื่อจะผ่านกฎหมายออกนิรโทษกรรมแบบทะลุซอยออกมาโดยเร็ว

จึงถึงเวลาแล้วที่มวลชนคนเสื้อแดงจะตาสว่างและประจักษ์ต่อข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุทำให้มีคนตาย 91 คนในปี 2553


กำลังโหลดความคิดเห็น