ASTVผู้จัดการรายวัน - "สมศักดิ์" เรียกถก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ 31 ต.ค.นี้ รวบรัด 3 วันเสร็จ "ยิ่งลักษณ์" ดื้อตาใส ยันเป็นเรื่องของส.ส. รัฐบาลไม่เกี่ยว "เพื่อไทย" มีมติเอกฉันท์ให้โหวตหนุน ห้ามส.ส.แดงแตกแถว ด้านปชป. เป่านกหวีด นัดประชาชนแต่งดำ รวมตัวสถานีรถไฟสามเสน 31 ต.ค. ส่วนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมภาคเอกชน ร้องยูเอ็น ค้านนิรโทษคนโกง
เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ผ123 ลงวันที่ 29 ต.ค.56 นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ต.ค.56 เวลา 09.30 น. ณ ตึกรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาเสร็จแล้ว โดยบรรจุระเบียบวาระไว้เป็น วาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ได้มีหนังสืองดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 ต.ค.56 ไปแล้ว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่อง เพราะวาระที่ 1 ได้พิจารณาเสร็จแล้ว จึงต้องพิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ถ้าไม่เรียกประชุมในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ก็ต้องเรียกประชุมในสัปดาห์หน้าอยู่ดี
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งรีบครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประธานสภาฯ กล่าวสวนทันทีว่า ต้องไปถามคนที่อยู่ในคุก เราต้องคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามีข้อสงสัย อาจจะต้องเรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯทั้ง 35 คณะ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อขอมติชี้ขาดว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่
"ปู"ยังแถเป็นเรื่องของส.ส. รัฐบาลไม่เกี่ยว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง จุดยืนของรัฐบาล ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ฉบับนี้ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล เป็นร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทำงานกันคนละส่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 31 ต.ค. ที่ประธานสภาฯ นัดส.ส.พิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ2 จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรีจะต้องไปประชุมครม.สัญจร เมื่อถามว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศหนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดซอย ตามที่กรรมาธิการแก้ไข ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ มองว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบานปลายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องรอดู
เมื่อถามว่า นายกฯ จะอธิบายอย่างไร ที่เคยแถลงไว้ในรัฐสภาว่า จะพิสูจน์และค้นหาความจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 แต่วันนี้กลับจะมานิรโทษกรรม นายกฯกล่าวว่า ต้องเรียนว่า การพิสูจน์ความจริงเราได้ให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ป.คอป.) ในการหาข้อมูล แต่เรื่องการนิรโทษกรรม เป็นเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วนที่อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้
"เพื่อไทย"ห้ามส.ส.เสื้อแดงแตกแถว
การประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระ 2 และ 3 วันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยมี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นประธานการประชุม และมีแกนนำของพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
หลังการประชุม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ใส่เกียร์เดินหน้าอย่างเดียว เรายึกยักกันมา 2 ปีกว่าแล้ว อะไรที่เดินได้ ก็ต้องเดิน ไม่ให้ชะงัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากส.ส.เสื้อแดงโหวตสวน จะมีมาตรการลงโทษหรือไม่ นายจารุพงศ์ ตอบว่า เรื่องนี้มีกติกาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาขู่กันให้แสลงใจ เมื่อมติพรรคเป็นเอกฉันท์ ทุกคนก็ต้องเคารพกติกา หากไม่ทำตาม ก็มีขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ต้องมาพูดขู่กัน ยอมรับว่าในที่ประชุมมีส.ส.เสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น
ยอมเสียเชลยศึก 2 คน แลกแม่ทัพ
ด้าน นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คาดว่าจะใช้เวลา 2 วัน คือวันที่ 31ต.ค.-1พ.ย. ตั้งแต่เวลา 9.30น .-22.00 น. เบื้องต้นมีผู้สงวนคำแปรญัตติไว้ 197 คน เมื่อเสร็จวาระ 2 แล้ว จะให้ต่อในวาระ 3 ทันที ในวันที่ 2 พ.ย. เสร็จแล้วจะส่งให้กับทางวุฒิสภาพิจารณาต่อไป
“แก๊งแดง" ลั่นงดออกเสียง สวนมติพรรค
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมมีส.ส.ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยมี ส.ส.เสื้อแดง ลุกขึ้นเสนอความคิดเห็น อาทิ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้พรรคเพื่อไทย จะมีมติพรรคให้ส.ส.ทุกคนยกมือสนับสนุน แต่ตนยืนยันขอใช้สิทธิงดออกเสียง ตอนลงมติ วาระ 2 เฉพาะ มาตรา 3 ที่มีการแก้ไขเนื้อหาให้นิรโทษกรรมแกนนำทุกฝ่าย รวมถึงการโหวตลงมติ วาระ 3 ก็จะงดออกเสียงด้วย เพื่อรักษาจุดยืนที่ไม่ต้องการให้นิรโทษกรรมคนสั่งฆ่าประชาชน ส่วนนายณัฐวุฒิ ขอใช้สิทธิตามความคิดเห็น ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า นายภูมิธรรม ได้บอกสมาชิกพรรคว่า นี่เป็นมติของพรรค หากใครเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ให้รับผิดชอบตัวเอง
"จ่าประสาท"ลั่นอยากยิง"มาร์ค-เทือก"
ต่อมา จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ได้ขึ้นรถปราศรัยกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ผมอยากยิงแม่งในสภาให้ตายห่าไปเลยด้วยซ้ำ แต่เอาทักษิณ กลับมาสะใจกว่า ทำให้เหมือนตายทั้งเป็น ยิ่งกว่าติดคุก เพราะพวกมันมีจุดอ่อนอยู่ที่ทักษิณ ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกดูสิว่ามันจะว่ายังไง”
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวว่า ตนยังยืนยันหลักการเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแกนนำ หรือผู้บริหารฝ่ายรัฐ ที่มีอำนาจสั่งการ
ปชป.เป่านกหวีด เจอกันที่สามเสน31ต.ค.
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการประชุมส.ส.เพื่อหารือถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กำชับให้ ส.ส.ทุกคน อภิปรายอย่างเต็มที่ ชี้แจงถึงผลดีผลเสียที่ประเทศชาติจะได้รับ พร้อมยังวิเคราะห์อีกว่า การที่พรรคเพื่อไทยเร่งเกมเร็ว เพราะเพื่อให้คนที่จะออกมาชุมนุมคัดค้านตั้งตัวไม่ทัน ซึ่งจะทำให้ม็อบจุดไม่ติด และเพื่อต้องการพิจารณาเรื่องนี้ให้จบก่อนวันที่ 11 พ.ย. ที่จะมีคำตัดสินของศาลโลก กรณีปราสาทพระวิหาร เพราะหากมีการพิจารณาในช่วง วันที่ 6-7 พ.ย. ก็จะใกล้วันที่ 11 พ.ย.เกินไป อาจจะทำให้มีผู้ชุมนุมจำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าหากดำเนินการแล้วมีกระแสต่อต้านมาก พรรคเพื่อไทยก็อาจจะถอยมาใช้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเลขานุการ กมธ.ได้สงวนความเห็นไว้ แทนร่างแก้ไขที่ กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ โดยร่างดังกล่าวนั้น จะให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายตามความเห็น กรรมาธิการทุกประการ ยกเว้นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้สั่งการให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองในช่วงดังกล่าว ซึ่งก็หมายถึงจะนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้มาชุมนุม ไม่รวมตน และนายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อลดแรงเสียดทานและเอาใจคนเสื้อแดง พร้อมทั้งนำไปสู่เป้าหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย
" การพิจารณาในครั้งนี้อาจใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น เพราะคาดว่ารัฐบาลจะใช้วิธีปิดปาก ด้วยการขอปิดอภิปราย เหมือนที่เคยคำมาแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา และเมื่อกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาในช่วงนี้ จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งก็ต้องมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอีก และอาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้วุฒิสภาพิจารณาเสร็จทันภายในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ทุกอย่าง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ส.ส.เสร็จสิ้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้นัดหารือกับกลุ่ม ส.ส.ที่สนิทสนมกัน ที่เซฟเฮ้าท์แห่งหนึ่งใน กทม. โดยได้มีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลเร่งเกมเร็วเพื่อตัดตอน ขณะเดียวกันประธานสภาก็รับเข้าเป็นวาระประชุมเป็นการพิเศษ ถือเป็นการลักไก่ เนื่องจากผู้ชุมนุมค่อนข้างน้อย
ฉะนั้นการเป่านกหวีดหลังจากผ่านวาระ 3 คงจะไม่ทันแล้ว จึงเห็นว่าหลังจากพิจารณาวาระ 2 นายสุเทพ พร้อมด้วย ส.ส.พรรค ส่วนหนึ่งจะออกมาต่อสู้เคียงข้างประชาชน โดยจะมีการเป่านกหวีด และให้ประชาชนแต่งชุดดำ มารวมตัวกันที่สถานีรถไฟสามเสน ในเวลา 16.00 น. วันที่ 31 ต.ค. เป็นต้นไป หลังจากนั้นจึงจะมีการกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวผู้ชุมนุมอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีมติเคลื่อนไหวเป่านกหวีดระดมพล บรรดา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งผ่านเฟสบุ๊กของตนเองชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมกันต่อต้านกฎหมายล้างผิด ในวันที่ 31ต.ค. ที่สถานีรถไฟสามเสน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันร้องยูเอ็น
วานนี้ (29 ต.ค.) ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำโดย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรฯ ได้เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมความใน มาตรา 3 มีเจตนาและมุ่งหมายที่จะลบล้างให้คดีทุจริตคอร์รัปชันถูกเพิกถอนไปทั้งหมด พร้อมกับร่วมส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Convention against Corruption : UNCAC 2003) ที่รัฐบาลเคยให้สัตยาบันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก
นายประมนต์กล่าวว่า การยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อองค์การสหประชาชาติในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ต้องการให้สังคมนานาชาติรับรู้ว่า องค์กรฯให้ความสนใจอย่างมากต่อการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย และ 2. ต้องการให้สังคมนานาชาติจับตามองท่าทีของรัฐบาลไทย กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการขัดต่ออนุสัญญาฯ ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย
นายประมนต์ระบุว่า การที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่าง มาตรา 3 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของสหประชาชาติ ในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหา และการคุกคาม จนนำมาสู่การมีมติให้พิจารณากำหนดเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่มาของอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 และรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องจัดให้มีมาตรการที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารเพื่อให้มีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ
กม.นิรโทษฯตอบโจทย์แค่ 'ตระกูลชิน'
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงผลประชุมวิปฝ่ายค้านว่าได้มีการหารือเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ดูในรายละเอียดร่างกฎหมายแล้ว เห็นว่าประเด็นที่ กรรมาธิการฯ เสนอให้เปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์จากล้างผิดครึ่งเข่ง เป็นล้างผิดยกเข่ง และจะล้างผิดการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. และ กกต. ด้วยหรือไม่นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้กรรมาธิการฯ จะชี้แจงว่าไม่รวม แต่ก็เชื่อถือไม่ได้ อีกทั้งการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในวาระ 1 ระบุแค่ต้องการนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการฯ ก็เปลี่ยนแปลง จึงไม่มีจุดใดที่สร้างความเชื่อถือให้สังคมได้ และเชื่อว่าหากกฎหมายนี้ผ่านสภาเมื่อไร ก็จะมีการฟ้องร้องเรียกทรัพย์คืนอย่างแน่นอน ส่วนการเตรียมแผนสองใช้ร่างกฎหมายของ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยตัดการนิรโทษกรรมให้แกนนำและผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 91 ศพออกไปนั้น สะท้อนชัดเจนว่าไม่ว่าจะอยู่ แผน 1 หรือแผน 2 จะมีบุคคลพิเศษอยู่ในเข่งเสมอ
ระวังประชาชนสุดทน ลุกฮือล้มรัฐบาล
นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประเมินสถานการณ์การเมือง โดยเชื่อว่าการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย จะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะปลุกประชาชน ที่เคยเบื่อหน่ายความขัดแย้ง หรือกลุ่มไทยเฉย ออกมาร่วมขับไล่รัฐบาล จากที่เคยกระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ อาจจะจุดติด เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่แม้ผู้นำนักศึกษาจะถูกจับติดคุก 13 คน แต่ประชาชนที่ทนการกดขี่ของรัฐบาลเผด็จการไม่ไหว มีการสร้างผู้นำตามธรรมชาติ และก่อขบวนการต่อสู้ขึ้นมา เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้จะเกิดการนำโดยธรรมชาติ และจะเป็นพลังที่รัฐบาลเองก็ควบคุมไม่อยู่ ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ อ่านเกมไม่ขาด ยังจะเดินเกมสุดซอยอาจจะเพลี่ยงพล้ำก็ได้ ขอเตือนว่าอย่าประมาทพลังของประชาชน
คปท.เตรียมแผนต้านนิรโทษ
วานนี้ (29 ต.ค.) ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของ เครือข่ายนักศึกษา และประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ว่าจำนวนผู้ชุมนุมที่ปักหลักพักค้างเริ่มเบาตา ขณะที่กิจกรรมส่วนใหญ่บนเวที ทาง คปท. มีการปรับรูปแบบการปราศรัยบนเวที โดยเพิ่มเนื้อหาในการโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล และความเลวร้ายของระบอบทักษิณ รวมไปถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศ
นายอุทัย ยอดมณี แกนนำ คปท.ได้แจ้งของดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดยระบุว่าอยู่ระหว่างการหารือกับแกนนำและที่ปรึกษาในการเตรียมยกระดับการชุมนุม และติดตามกรณีที่ประธานสภาฯได้นัดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ซึ่งอาจมีการเร่งรัดเพื่อลงมติวาระ 3 ในวันเดียวกัน ทางแกนนำ คปท. จึงต้องเตรียมความพร้อม