xs
xsm
sm
md
lg

“ม๊อบยาง-ปาล์ม”ฟื้นอีกระลอก เสริมกำลัง 20 ทัพเขย่ารัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**มากันแบบไม่ให้ซุ่มให้เสียง ทำเอารัฐบาลตกอกตกใจพอสมควร เมื่อจู่ๆ “ม็อบสวนยาง”ผนึกกำลังกับ “ม็อบสวนปาล์ม”ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล อุดหนุนราคายาง ให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และราคาปาล์มน้ำมันที่ 6 บาทต่อกิโลกรัม อีกครั้ง
โดยยึดรูปแบบเดิมในการการเรียกร้องคือ ยุทธวิธี “ปิดถนนเพชรเกษม”บริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีจันธ์ ก่อนย้ายมาที่ อ.บางสะพานน้อย ในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำให้การเดินทางปพื้นที่ภาคใต้ เป็นอัมพาตเกือบทั้งหมด
เป็นผลให้รัฐบาลต้องครั่นเรื้อครั่นตัวอีกครั้ง และต้องส่งคนระดับ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก”รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ลงไปเจรจากับ ม็อบสวนยาง-ปาล์ม ด้วยตัวเองอีกครั้งเช่นกัน
ซึ่งการเจรจาก็เป็นเหมือนครั้งก่อนๆ ที่ไม่จบกันในการพูดคุยครั้งแรก โดยเฉพาะชาวสวนยาง ที่ต้องการให้เปลี่ยนการอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ เป็นการอุดหนุนราคายางที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ พล.ต.อ.ประชา ที่รับหน้าเสื่อเป็นตัวแทนรัฐบาล ก็อ้างว่าตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องขอนำข้อเสนอของผู้ชุมนุมไปให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง
เมื่อออกมาในรูปนี้ ชาวบ้านก็ต้องรู้สึกว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ เป็นผลให้ข้อเสนอของรัฐบาลที่ต้องการให้เปิดถนนเพชรเกษม เพื่อให้การสัญจรผ่านไปมาได้ ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง
**ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.ประชา จะยกมือไหว้อ้อนวอนแล้วก็ตาม
เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า หากยอมลงให้กับรัฐบาลง่ายๆ ก็จะไร้ค่าหมดความหมายในสายตารัฐบาลทันที ย้อนไปเมื่อช่วง 2 เดือนก่อน กว่ารัฐบาลจะหันมาให้ความสำคัญและรับฟังข้อเสนอจากชาวเกษตรกร ก็ต้องยื้อกันนานพอสมควร
คำถามมีว่า มาตรการช่วยเหลือ “ค่าปัจจัยการผลิต”ที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ก็ได้มีการประเดิมเบิกจ่ายเงินไปบ้างแล้ว และรัฐบาลก็อ้างว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ทำให้เบาใจไปเปลาะหนึ่งกับการยุติการชุมนุม โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าม็อบสวนยางจะรีเทิร์นกลับมาอีก
แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้ ชาวสวนยางโดดลงมาบนถนนอีกครั้ง
ปัจจัยหนึ่งที่กำเนิด “ม็อบสวนยางภาค 2” ก็เพราะไม่ปลื้มกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล เพราะแทบจะหาความจริงใจไม่ได้ การอ้างว่า ค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ ตีเป็นมูลค่าราคายาง 12 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถทำให้ชาวสวนยางได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ ผู้ที่รับจ้างกรีดยาง เพราะอย่าลืมว่า เงินที่ว่า โอนตรงเข้าบัญชี เจ้าของสวนยาง
** จะแบ่งสรรปันส่วนอย่างไรก็อยู่ที่ “เจ้าของสวน” ส่วน “ลูกจ้าง”ก็ได้แต่ภาวนา
ตรงนี้รัฐบาลโดย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) รู้อยู่เต็มอก แต่ก็พยายามล็อบบี้บรรดานายทุน –เจ้าของสวนยางให้เออออห่อหมกไปกับรัฐบาลด้วย
**เมื่อแก้ไม่ถูกจุด แผลที่อุดไว้ก็แตกโผละในที่สุด
ประจวบเหมาะกับห้วงเวลานี้กระแสต่อต้านรัฐบาล“สุกงอม”เต็มที การชุมนุมของ“ม็อบสวนยาง–ปาล์ม”เหมือนมาถูกที่ถูกเวลาในการฉายการชุมนุมทางการเมืองในภาพใหญ่เพราะรู้กันดีว่า โซนภาคใต้ นั้นใครคุม
หากยุคที่ “ตำรวจครองเมือง”การจะตระเตรียมเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือสะสมกำลังกันก่อนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมใน“เมืองหลวง”อาจจะถูกรัฐบาลจับยามสามตา อ่านทิศทางออก และอาศัยอำนาจในมือดักตีเข้าให้ แถมอาจจะเพิ่มความชอบธรรมให้ฝ่ายรัฐ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการสลายการชุมนุมเสียก่อนได้
เมื่อกลัวว่าจะถูกจับไต๋ได้ การก่อม็อบก็ต้อง“ซ่อนรูป”กันหน่อย
จับทิศทางแนวร่วมต่อต้าน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากปากคำของ“สุริยะใส กตะศิลา”ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ที่เริ่มย่างกรายออกมายืนแถวหน้า และโดดขึ้นให้กำลังใจเวทีการชุมนุมของ “กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย”(คปท.) ที่แยกอุรุพงษ์ อยู่บ่อยครั้ง
ก่อนหน้านี้ “ยะใส”เคยเอ่ยถึง “สงคราม 20 ทัพ”ซึ่งหมายถึงการจัดทัพชุมนุมขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ โดยเห็นว่าหากใช้วิธีแพ็ครวมกันมาแค่ กลุ่มเดียว เหมือนการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างปรากฎการณ์แบบนั้น
ยากทั้งการรวบรวมมวลชน ให้มาชุมนุมกันจำนวนมาก
ยากที่จะต่อสู้กับรัฐบาลที่ถอดบทเรียนการสู้รบกับมวลชนมามาก
และมีโอกาสสูงที่จะถูกล้อมตีแบบที่เกิดขึ้นกับ “องค์การพิทักษ์สยาม”เมื่อปีกลาย
โดยเวที “เครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด”เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการหยิบยกยุทธวิธีดาวกระจาย หรือ สงคราม 9 ทัพ ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับรัฐบาลในประเด็นการทำคลอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง โดยให้แต่ละกลุ่มปัญหาจัดตั้งมวลชนไว้รอสัญญาณ “นกหวีดยาว”เพื่อบุกเข้ากรุงพร้อมกัน
การปรากฏ “ม็อบสวนยาง-ปาล์ม”ในห้วงเวลานี้ แม้ชาวบ้านอาจจะมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจริงๆ แต่ก็ถือว่าเป็นชนวนชั้นดีที่อาจจะกลายเป็น 1 ใน 9 หรือ 20 ทัพ ที่ร่วมกรีฑาทัพไปโค่นล้มรัฐบาลกับเขาด้วย
ถือเป็นโมเดลที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสุกดิบ หลังจากนี้จับตาการกำเนิดก่อม็อบใหม่ที่ “ชื่อ”อาจจะไม่เกี่ยวกับ “การเมือง”แต่อาจจะนำ “มวลชน”มาผสมโรงชุมนุมทางการเมืองก็เป็นได้ ตามยุทธศาสตร์แยกกันเดิน-รวมกันตี ที่น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดในตอนนี้
ตามคิวที่รัฐบาลพอจะอ่านเกมไล่ทัน “เด็จพี่ - พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์”โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาใช้มุกเดิมๆ แฉนักการเมืองอักษรย่อ “ส - ฉ”อยู่เบื้องหลัง ม็อบสวนยาง
ไม่ต้องใบ้ คนเขาก็รู้ทั้งบางว่า“เด็จพี่”หมายถึงใคร “ส.เสือ”ก็ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”ส.ส.สุราษฎร์ธานี ส่วน“ฉ.”ก็ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ การที่ต้องขุดมุกนี้ออกมาแฉ ก็เพราะเกรงว่า ม็อบสวนยาง-ปาล์ม อาจจะเป็นชนวนจุดหนึ่งที่สามารถเกณฑ์ “คนใต้”มาร่วมชุมนุมได้
ต้องถือว่าการที่ ม็อบสวนยาง –ปาล์ม ภาค 2 คัมแบ็คกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่เพียบ
** หมากกระดานนี้ถ้า “นายใหญ่”คิดจะกิบรวบ-กินเรียบแบบไม่เกรงใจใคร ก็ต้องพึงสังวรณ์ว่ายังมี มวลชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐบาลพร้อมลุกขึ้นมาต่อกรกับรัฐบาลในทุกรูปแบบได้เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น