รายงานการเมือง
มากันแบบไม่ให้ซุ่มให้เสียง ทำเอารัฐบาลตกอกตกใจพอสมควร เมื่อจู่ๆ “ม็อบสวนยาง” ผนึกกำลังกับ “ม็อบสวนปาล์ม” ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล อุดหนุนราคายาง ให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และราคาปาล์มน้ำมันที่ 6 บาทต่อกิโลกรัมอีกครั้ง
โดยยึดรูปแบบเดิมในการการเรียกร้องคือ ยุทธวิธี “ปิดถนนเพชรเกษม” บริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีจันธ์ ก่อนย้ายมาที่ อ.บางสะพานน้อยในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำให้การเดินทางปพื้นที่ภาคใต้เป็นอัมพาตเกือบทั้งหมด
เป็นผลให้รัฐบาลต้องครั่นเรื้อครั่นตัวอีกครั้ง และต้องส่งคนระดับ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความม่นัคง ลงไปเจรจากับ “ม็อบสวนยาง-ปาล์ม” ด้วยตัวเองอีกครั้งเช่นกัน
ซึ่งการเจรจาก็เป็นเหมือนครั้งก่อนๆ ที่ไม่จบกันในการพูดคุยครั้งแรก โดยเฉพาะชาวสวนยางที่ต้องการให้เปลี่ยนการอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ เป็นการอุดหนุนราคายางที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ พล.ต.อ.ประชา ที่รับหน้าเสื่อ “ตัวแทนรัฐบาล” ก็อ้างว่าตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องขอนำข้อเสนอของผู้ชุมนุมไปให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง
เมื่อออกมาในรูปนี้ ชาวบ้านก็ต้องรู้สึกว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ เป็นผลให้ข้อเสนอของรัฐบาลที่ต้องการให้เปิดถนนเพชรเกษม เพื่อให้การสัญจรผ่านไปมาได้ ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง
ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.ประชาจะยกมือไหว้อ้อนวอนแล้วก็ตาม
เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า หากยอมลงให้กับรัฐบาลง่ายๆ ก็จะไร้ค่าหมดความหมายในสายตารัฐบาลทันที ย้อนไปเมื่อช่วง 2 เดือนก่อน กว่ารัฐบาลจะหันมาให้ความสำคัญและรับฟังข้อเสนอจากชาวเกษตรกร ก็ต้องยื้อกันนานพอสมควร
คำถามมีว่ามาตรการช่วยเหลือ “ค่าปัจจัยการผลิต” ที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ก็ได้มีการประเดิมเบิกจ่ายเงินไปบ้างแล้ว และรัฐบาลก็อ้างว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ทำให้เบาใจไปเปราะหนึ่งกับการยุติการชุมนุม โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่า “ม็อบสวนยาง” จะรีเทิร์นกลับมาอีก
แล้วสาเหตุไรที่ทำให้ “ชาวสวนยาง” โดดลงมาบนถนนอีกครั้ง
ปัจจัยหนึ่งที่กำเนิด “ม๊อบสวนยางภาค 2” ก็เพราะไม่ปลื้มกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล เพราะแทบจะหาความจริงใจไม่ได้ การอ้างว่า ค่าปัจจัยการผลิด 2,520 บาทต่อไร่ ตีเป็นมูลค่าราคายาง 12 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถทำให้ชาวสวนยางได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ “ผู้ที่รับจ้างกรีดยาง” เพราะอย่าลืมว่า เงินที่ว่าโอนตรงเข้าบัญชี “เจ้าของสวนยาง”
จะแบ่งสรรปันส่วนอย่างไรก็อยู่ที่ “เจ้าของสวน” ส่วน “ลูกจ้าง” ก็ได้แต่ภาวนา
ตรงนี้รัฐบาลโดย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) รู้อยู่เต็มอก แต่ก็พยายามล็อบบี้บรรดานายทุน - เจ้าของสวนยางให้เออออห่อหมกไปกับรัฐบาลด้วย
เมื่อแก้ไม่ถูกจุด แผลที่อุดไว้ก็แตกโผละในที่สุด
ประจวบเหมาะกับห้วงเวลานี้กระแสต่อต้านรัฐบาล “สุกงอม” เต็มที การชุมนุมของ “ม็อบสวนยาง - ปาล์ม” เหมือนมาถูกที่ถูกเวลาในการฉายการชุมนุมทางการเมืองในภาพใหญ่
เพราะรู้กันดีว่า “โซนภาคใต้” นั้นใครคุม
หากยุคที่ “ตำรวจครองเมือง” การจะตระเตรียมเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสะสมกำลังกันก่อนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมใน “เมืองหลวง” อาจจะถูกรัฐบาลจับยามสามตาอ่านทิศทางออก และอาศัยอำนาจในมือดักตีเข้าให้ แถมอาจจะเพิ่มความชอบธรรมให้ฝ่ายรัฐ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการสลายการชุมนุมเสียก่อนได้
เมื่อกลัวว่าจะถูกจับไต๋ได้ การก่อม็อบก็ต้อง “ซ่อนรูป” กันหน่อย
จับทิศทางแนวร่วมต่อต้าน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จากปากคำของ “สุริยะใส กตะศิลา” ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ที่เริ่มย่างกรายออกมายืนแถวหน้า และโดดขึ้นให้กำลังใจเวทีการชุมนุมของ “กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (คปท.) ที่แยกอุรุพงษ์ อยู่บ่อยครั้ง
ก่อนหน้านี้ “ยะใส” เคยเอ่ยถึง “สงคราม 20 ทัพ” ซึ่งหมายถึงการจัดทัพชุมนุมขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ โดยเห็นว่าหากใช้วิธีแพ็ครวมกันมาแค่ “กลุ่มเดียว” เหมือนการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างปรากฎการณ์แบบนั้น
ยากทั้งการรวบรวมมวลชน ให้มาชุมนุมกันจำนวนมาก
ยากที่จะต่อสู้กับรัฐบาลที่ถอดบทเรียนการสู้รบกับมวลชนมามาก
และมีโอกาสสูงที่จะถูกล้อมตีแบบที่เกิดขึ้นกับ “องค์การพิทักษ์สยาม” เมื่อปีกลาย
โดยเวที “เครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้มีการหยิบยกยุทธวิธีดาวกระจาย หรือสงคราม 9 ทัพขึ้นมาเพื่อต่อกรกับรัฐบาลในประเด็นการทำคลอด “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” โดยให้แต่ละกลุ่มปัญหาจัดตั้งมวลชนไว้รอสัญญาณ “นกหวีดยาว” เพื่อบุกเข้ากรุงพร้อมกัน
การปรากฎ “ม็อบสวนยาง-ปาล์ม” ในห้วงเวลานี้ แม้ชาวบ้านอาจจะมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจริงๆ แต่ก็ถือว่าเป็นชนวนชั้นดีที่อาจจะกลายเป็น 1 ใน 9 หรือ 20 ทัพที่ร่วมกรีฑาทัพไปโค่นล้มรัฐบาลกับเขาด้วย
ถือเป็นโมเดลที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสุกดิบ หลังจากนี้จับตาการกำเนิดก่อม็อบใหม่ที่ “ชื่อ” อาจจะไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” แต่อาจจะนำ “มวลชน” มาผสมโรงชุมนุมทางการเมืองก็เป็นได้ ตามยุทธศาสตร์แยกกันเดิน-รวมกันตี ที่น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดในตอนนี้
ตามคิวที่รัฐบาลพอจะอ่านเกมไล่ทัน “เด็จพี่-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาใช้มุกเดิมๆแฉนักการเมืองอักษรย่อ “ส.-ฉ.” อยู่เบื้องหลัง “ม็อบสวนยาง”
ไม่ต้องใบ้ คนเขาก็รู้ทั้งบางว่า “เสด็จพี่” หมายถึงใคร “ส.เสือ” ก็ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ส.ส.สุราษฎร์ธานี ส่วน “ฉ.” ก็ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ การที่ต้องขุดมุกนี้ออกมาแฉ ก็เพราะเกรงว่า “ม็อบสวนยาง-ปาล์ม” อาจจะเป็นชนวนจุดหนึ่งที่สามารถเกณฑ์ “คนใต้” มาร่วมชุมนุมได้
ต้องถือว่าการที่ “ม็อบสวนยาง-ปาล์ม ภาค 2” คัมแบ็คกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่เพียบ
หมากกระดานนี้ถ้า “นายใหญ่” คิดจะกิบรวบ-กินเรียบแบบไม่เกรงใจใคร ก็ต้องพึงสังวรณ์ว่ายังมี “มวลชน” ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐบาล พร้อมลุกขึ้นมาต่อกร “รัฐบาล” ในทุกรูปแบบได้เหมือนกัน