xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปวดตับ “คดีพระวิหาร” “ตู่นะจ๊ะ” สั่งติด “ลำโพง”กลัวทหารเขมรเข้าใจผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กว่าจะรู้ตัวว่าอะไรสำคัญ อะไรควรทำก่อนหลังสำหรับการเป็นผู้นำประเทศ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ถูกรุมถล่มเสียยับเยิน เพราะขณะที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต่างรอลุ้นด้วยใจระทึกในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกจะตัดสินชี้ขาดในวันที่ 11 พ.ย. 56 นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับแอ่นระแน้เตรียมเดินทางไปเยือนเอธิโอเปีย ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย. 56 เพื่อปาฐกถาเรื่อง “การวางแผนครอบครัวและบทบาทสตรี” หน้าตาเฉย ก่อนที่จะตัดสินใจยกเลิกในภายหลังเพื่อรอดูสถานการณ์หลังคำพิพากษาที่ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย
 
แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายเท่าใดนักที่นางสาวยิ่งลักษณ์ จะไม่ค่อยรู้ประสีประสา เพราะเธอเข้าสู่วงการเมืองแค่ไม่กี่สิบวันก็ถูกผลักดันจากพี่ชายให้ขึ้นนั่งตำแน่งนายกรัฐมนตรี แถมยังถ่างขาควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย ตัวพี่ชายเธอและทีมที่ปรึกษานั่นต่างหากที่น่าตบกะโหลกและบ้องหู โทษฐานที่ไม่สามารถทำให้เธอแลดูเฉลียวฉลาดขึ้นมาได้สักที
 
หลังจากซวนเซเสียรังวัดไปหลายตลบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ทำท่าทีขึงขังเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงรับมือการตัดสินคดีของศาลโลก เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 56  ขณะที่บรรดาลิ่วล้อก็ล้ำ เส้นกระเหี้ยนกระหือรือที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศาลจะตัดสินออกมาเช่นใด ดังที่กระทรวง การต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข้อเสนอผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 56 ว่า 
 
“การจัดตั้งกลไกเพื่อรองรับคำพิพากษา ที่ประชุมได้เห็นพ้องในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติของไทย เพื่อพิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับคดีฯ นอกจากนั้นได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อเจรจาหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งต้องหารือกับฝ่ายกัมพูชาก่อน....”
 
แต่เมื่อมีคำถามดังเซ็งแซ่ว่าจะรีบร้อนตั้งคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกไปทำไม ทำให้ผลการประชุมฝ่ายความมั่นคง ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ นั่งหัวโต๊ะ ได้ข้อสรุปว่าจะใช้เวทีคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-กัมพูชา (เจซี) ที่มีอยู่แล้ว หารือร่วมกันแทน
 
อ้ายปึ้ง-นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงภายหลังการประชุมฝ่ายความมั่นคงว่า ไม่ว่าศาลโลกจะตัดสินออกมาในรูปแบบใด ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าไทยกับกัมพูชาต้องพูดคุยกันก่อน โดยใช้เวทีของเจซี เพื่อตกลงกันก่อนว่าผลตัดสินออกมาเป็นอย่างไรต้องไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งหลังจากนี้ตนจะโทรศัพท์หานายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศของกัมพูชา เพื่อหารือเบื้องต้นถึงการจัดประชุมเจซี ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมายที่ต่อสู้ในคดีดังกล่าว เพื่อศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาและหาแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป
 
ท่าทีของนายสุรพงษ์ ที่จะต่อสายโทรศัพท์คุยกับนายฮอร์ นัม ฮง ทำให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือในการประชุมรัฐสภานัดพิเศษ ในวันถัดมาว่า ไม่เห็นด้วยที่นายสุรพงษ์ จะโทรไปหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนายฮอร์ นัม ฮง เพราะรมว.ต่างประเทศของไทยควรวางตัวให้เหมาะสมและงดงามกว่านี้ เนื่องจากไทย-กัมพูชา มีเวทีร่วมกันอยู่แล้วคือ คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) กับคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว และการตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาก็ไม่ควรทำ เพราะจุดยืนในคำพิพากษาของไทย-กัมพูชาอาจจะต่างกัน ถึงแม้จะต้องการสันติภาพเหมือนกัน
 
นายคำนูณ ยังให้คำแนะนำว่า สิ่งที่รัฐบาล หรือนายสุรพงษ์ ควรจะทำคือ
 
1. อย่าด่วนประกาศว่าไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา

2. ตั้งคณะกรรมการไทยฝ่ายเดียวเตรียมการศึกษาคำพิพากษา โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน

3. ให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างรอบด้านถึงผลดีและผลเสียของการปฏิบัติตาม และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เสนอแนวความคิดผ่านสื่อของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

และ 4. จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (1) ทั้งนี้ คำพิพากษาที่มีอยู่ 4 แนวทาง โดยแนวทางที่เลวร้ายที่สุดสำหรับไทยคือ พิพากษาให้อาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดน้อยที่สุดแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นรมว.ต่างประเทศ จะทำอะไรพึงระลึกถึงข้อนี้ด้วย
 
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาแล้วตั้งแต่ปี 2503 หรือ 51 ปี ก่อนกัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาปี 2505 หรือ 49 ปีหลังมีคำพิพากษาปี 2505 แม้จะอ้างว่าเป็นขอตีความคำพิพากษาเดิมตามธรรมนูญศาลข้อ 60 ซึ่งประเทศไทยยังคงจะต้องผูกพันอยู่ก็ตาม
 
ส.ว.สรรหา ยังมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ 1. เป็นคดีที่ยาวนานที่สุดใน 4 คดี ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีการรับตีความ นานที่สุดก่อนหน้านี้คือ 4 ปี 2.จะต้องศึกษาถึงมาตรฐานในการตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลข้อ 60 ใน 4 คดีที่ผ่านมา กล่าวคือ

หนึ่ง คดีการให้ลี้ภัยระหว่างโคลัมเบียกับเปรู ปี 1950

สอง คดีไหล่ทวีประหว่างตูนิเซียกับลิเบียปี 1984

สาม คดีเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างแคมารูนกับไนจีเรียปี 1998

และ สี่ คดีอัลรีน่าและชาวเม็กซิโก ระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯปี 2008-2009 ต้องดูว่าคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนี้ดำเนินการไปตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ หรือนอกมาตรฐาน และมีความยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ อย่าด่วนพูดว่าจะต้องปฎิบัติตาม
 
สำหรับแนวทางที่ศาลโลกจะพิจารณานั้น กระทรวงต่างประเทศ เสนอต่อที่ประชุมฝ่ายความมั่นคงว่ามีอยู่ 4 แนวทาง คือ

1. ศาลโลกตัดสินว่าไม่มีอำนาจ และไม่มีเหตุต้องตีความ 

2. ศาลโลกตัดสินตามคำขอของกัมพูชาว่า ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงให้เป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน
         
   3. ศาลโลกตัดสินให้ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2505 

และ  4. คำตัดสินจะออกมาเป็นกลางๆ เช่น ศาลยืนยันหรือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับน้ำหนัก และขอบเขตของเส้นเขตแดนแบบแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ในฐานะเหตุผลของคำพิพากษาปี 2505  และให้คู่กรณีไปเจรจากัน
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลโลกจะตัดสินออกมาในทิศทางใด หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ว่า ไทยมีแต่ “เจ๊า” กับ “เจ๊ง” คือ เสมอตัวกับเสียดินแดนให้กับกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
 
โดยเฉพาะตัวต้นเหตุของเรื่องนี้ ก็คือ นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ ที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องสุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียดินแดนให้กับกัมพูชา และความผิดของนายนพดล ในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตั้งองค์คณะขึ้นเพื่อพิจารณาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นฟ้องต่อนายนพดล แล้ว
 
คำบรรยายฟ้องของ ป.ป.ช. นั้นชัดเจนว่า การกระทำของนายนพดล จะนำความหายนะมาสู่ประเทศไทยอย่างไร “.... คำแถลงการณ์นี้มีผลทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะต้องเอาประสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต กรณีศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 เป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ประเด็นการกระทำของนายนพดล จึงขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ....”
         
“นาย นพดล ปัทมะ รู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า แถลงการณ์ร่วมนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยได้กระทำไปโดยปกปิดซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง จำเลยเอาใจฝักใส่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยเจตนาที่แอบแฝงในประโยชน์ที่ตรงข้ามกับประโยชน์ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน และอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจหน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กระทำขัดรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน” คำฟ้องของ ป.ป.ช. ระบุให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระทำของนายนภดลที่กระทำผิด
 
นอกจากนั้น ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า เวลานี้มีความเคลื่อนไหวที่มาพร้อมๆ กับการใกล้เวลาตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 ที่จะไปเข้าทางกัมพูชา โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ชี้ว่า กรณีการแก้มาตรา 190  หนังสือสัญญาที่เข้าข่ายมาตรา 190 มี 5 ประเภท คือ 1. มีบทเปลี่ยนอาณาเขตไทย 2. มีบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขต 3. ทำหนังสือสัญญาแล้วต้องตราพระราชบัญญัติให้เป็นไปตามนั้น 4. หนังสือสัญญามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวาง 5. มีผลผูกพันการค้าการลงทุนและงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ  โดยร่างแรกที่เสนอมาแก้ครั้งนี้ มีการตัดเงื่อนไขมีบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขต เหลือแต่มีบทเปลี่ยนอาณาเขตไทย และเรื่องเศรษฐกิจ 2 ประเภท
 
จากนั้น พอถึงชั้นกรรมาธิการ มีการแก้ไขโดยเอาหนังสือประเภทมีบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขตกลับเข้ามา แต่เติมคำว่า “โดยชัดแจ้ง” เข้าไป ส่วนหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจสองประเภทไม่ได้กลับคืนมา เหลือแต่ FTA เท่านั้นที่ต้องเอาเข้า ขณะที่เรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน การเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา การเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาล่วงหน้า ไปอยู่ในกฎหมายลูกทั้งหมด และการเสนอกรอบก็มีเฉพาะการทำ FTA เท่านั้น ส่วนเรื่องเปลี่ยนอาณาเขต และอธิปไตยนอกอาณาเขตไม่ต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภา เท่ากับว่าเป็นการตัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในหนังสือสัญญาทุกประเภท
      
ประเด็นสำคัญ ก็คือ การเติมคำว่า “โดยชัดแจ้ง” เข้าไปในเรื่องอาณาเขต เข้าทางกัมพูชา ซึ่งกำลังจะมีคำพิพากษาของศาลโลกออกมา ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ศาลโลกก็ต้องให้สองประเทศไปเจรจากัน และมีหนังสือตกลงอย่างใดอย่างหนึ่ง นัยว่าจะกระทบต่อเขตแดน ถ้าเป็นมาตรา 190 แบบเก่าก็ต้องเข้าสภา รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ และเสนอกรอบก่อนไปเจรจา แต่มาตรา 190 ที่แก้ไขใหม่ไม่ต้องเลย เพราะไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแบบชัดแจ้ง คือถ้าไม่เขียนชัดแจ้งว่าเรายอมเสียดินแดนไม่ต้องเอาเข้าสภา ไม่ว่าหนังสือสัญญาประเภทไหน ไม่ต้องเสนอกรอบ ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน เหลือแค่ให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียด แต่ไม่บอกว่าเข้าถึงอย่างไร เข้าถึงตอนไหน อาจเซ็นมาแล้ว 1 ปีค่อยให้เข้าถึงก็ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด โดยไม่มีสภาเป็นกันชนอีกแล้ว
 
นั่นเป็นหายนะซ้ำสองของประเทศไทยจากผลงานของพรรคเผาไทย ที่มีการตั้งข้อสังเกตจากส.ว.สรรหา
 
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงเสียดินแดน ก็ใช่ย่อย โดยก่อนหน้านั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระเหี้ยนกระหือรือเลือกที่จะเดินเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลกโดยยกข้ออ้างว่าเพื่อจะได้เข้าไปให้ข้อมูลและแก้ต่าง แทนที่จะปฏิเสธอำนาจศาลโลกและไม่เข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี และเป็นเพราะท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่มีนายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงต่างประเทศ เป็นสายล่อฟ้า ทำให้กัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างในการนำคดีพระวิหารขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้ง
 
 จากถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกของตัวแทนราชอาณาจักรกัมพูชา นำโดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการประเทศ เห็นชัดว่า ซัดรัฐบาลอภิสิทธิ์ เต็มๆ โดยอ้างว่า กรณีปราสาทพระวิหารถือเป็นความร้ายแรงต่อประเทศกัมพูชา ดังนั้นจำเป็นต้องยื่นเรื่องนี้ให้ศาลโลกพิจารณา เพื่อตัดสินให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค ด้วยเหตุที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รุกรานบริเวณชายแดนตัวปราสาทพระวิหาร ขณะที่กัมพูชาได้นำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
         
“หากไม่มีการรุกราน กัมพูชาก็จะมีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ต่อมามีการใช้อาวุธใกล้บริเวณปราสาท ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนจากสื่อสิ่งพิมพ์ถึงการโจมตีกัมพูชา จนสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ใกล้เคียงและตัวปราสาท รวมถึงมีผู้เสียชีวิต” คำแถลงต่อศาลโลกของนายฮอร์ นัม ฮง ซึ่งเป็นการแถซึ่งๆ หน้าเช่นกันเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการใช้อาวุธใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร นั้นแท้จริงแล้วคือกองกำลังของฝ่ายกัมพูชาที่ขึ้นไปตั้งฐานอยู่ในบริเวณดัง กล่าว และมีการยิงตอบโต้กันทั้งสองฝ่าย

การพุ่งเป้าอัดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของฝ่ายกัมพูชา โดยระบุชัดเจนว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์คือตัวการสำคัญที่ทำให้กัมพูชาตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่ การพิจารณาของศาลโลก อีกด้านหนึ่งยังเป็นเกมการเมืองที่เกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลนายฮุนเซน เพื่อโจมตีพรรคประชาธิปัตย์
 
สังคมไทย ต้องจารึกบัญชีหนังหมาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รู้ว่า การเล่นเกมการเมืองสกปรกของสองพรรคการเมืองใหญ่ได้กลายเป็นชนวนเหตุให้ประเทศชาติต้องเสี่ยงเสียดินแดนอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย 

แต่ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ปฏิกิริยาของ “ทหารไทย” ภายใต้คำบัญชาการของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก เพราะดูเหมือนจะมีความเอื้ออาทรและสอดรับกับท่าทีของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นปี่เป็นขลุ่ย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ให้ดำเนินการติดตั้ง “ลำโพง” รอบเขาพระวิหาร เพราะเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดหากเกิดเหตุกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ จนนำไปสู่การปะทะใหญ่กับทหารกัมพูชา

พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ซึ่งคุมกำลังทหารดูแลรักษาอธิปไตยรอบบริเวณเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดเผยข้อมูลอันทำให้คนไทยทั้งปวดตับและปวดใจว่า ขณะนี้ทหารไทยได้ทำการติดตั้งลำโพงเครื่องขยายเสียงตลอดแนวรอบเขาพระวิหารกว่า 10 จุด เพื่อเป็นการสื่อสารกับทหารกัมพูชา โดยหากเกิดมีเหตุกระทบกระทั่งกันหรือว่ามีเหตุปืนลั่นหรือเกิดเหตุอะไรขึ้นมาจะได้ใช้เครื่องขยายเสียงประสานแจ้งเป็นภาษากัมพูชาให้ทางฝ่ายกัมพูชาได้รับทราบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดเพราะหากเมื่อมีการยิงกันขึ้นมาแล้วจะไม่ได้ยินเสียง ดังนั้นจึงต้องใช้ลำโพงนี้แจ้งให้ทางฝ่ายกัมพูชาทราบว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร จะได้ไม่ต้องปะทะกันด้วยความเข้าใจผิด

ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ พ.อ.ธนศักดิ์กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ได้สั่งการมา และได้ดำเนินการติดตั้งลำโพงรอบเขาพระวิหารเรียบร้อยแล้ว

จริงอยู่แม้เป้าประสงค์ของการติดตั้งลำโพงเป็นเรื่องที่ดี เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ถามว่า ฝั่งกัมพูชาจะสนใจฟังลำโพงหรือไม่ ถ้าหากปรากฏกระสุนปืนใหญ่ตกลงในพื้นที่อันเป็นอธิปไตยของเขา เช่นเดียวกับฝ่ายไทยเองที่เมื่อปรากฏกระสุนปืนใหญ่ตกลงในพื้นที่อันเป็นอธิปไตยของชาติ ก็จะต้องปฏิบัติการตอบโต้เช่นกัน และที่สำคัญคือโดยปกติแล้ว ทหารไทยกับทหารกัมพูชาก็มีช่องทางสื่อสารที่สามารถติดต่อกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ขณะที่เสียงปืนลั่นเล็กๆ น้อยๆ ตามที่กล่าวอ้าง คงจะไม่ใช่เหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายขวัญอ่อนถึงกับถล่มกันโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรม

เหตุผลหนึ่งเดียวที่ติดตั้งลำโพงก็คือ กลัวเกินกว่าเหตุ

หรือไม่ก็เกรงกว่าจะทำให้กัมพูชาไม่พอใจ

สุดท้ายถ้าสมมติว่า ถ้าประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนไปตามคำพิพากษาของศาลโลกจริงๆ ทหารไทยจะมีท่าทีอย่างไร จะใช้ลำโพงอันเกิดจากแนวความคิดอันบรรเจิดของผู้บัญชาการทหารบก ปฏิบัติการปกป้องอธิปไตยของชาติเช่นนั้นหรือ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
ลำโพงที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้กองกำลังสุรนารีนำไปติดไว้รอบเขาพระวิหารกว่า 10 จุดเพื่อสื่อสารกับทหารกัมพูชาหากมีการกระทบกระทั่งกัน
พารามอเตอร์ที่ทหารใช้บินลาดตระเวณตรวจสอบสถานการณ์ตามแนวชายแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น