xs
xsm
sm
md
lg

"ปู-พาณิชย์"โวต่างชาติรุมซื้อข้าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.พาณิชย์อ้างหลายประเทศทั่วโลกหวั่นวิกฤตอาหารคัมแบ็ก หลังผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เผยเริ่มมีหลายประเทศเข้าคิวขอซื้อข้าวไทย เหตุอินเดียเริ่มชะลอส่งออก และเวียดนามผลผลิตวูบ โวมีคนติดต่อเพียบ ดีไม่ดีอาจไม่พอขาย ล่าสุดมีทั้งชาติอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา “ปู” คุยโว กล่อมจีนซื้อข้าวเพิ่มจาก 5 ปี 1 ล้านตัน เป็นปีละล้านตัน รวมยางปีละ 2 แสนตัน บอกโครงการต่อเนื่องจีทูจี ไม่รวมยอดขายเอกชน ด้านหม่อมอุ๋ย ยัน 15 ต.ค. เปิดโปงเจ๊งจำนำข้าว 4 แสนล้าน

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีการพูดคุยกันในเวทีระหว่างประเทศ หรือองค์กรสำคัญๆ เช่น เวทีการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เริ่มมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าอาหารและธัญพืช โดยหลายๆ ประเทศเริ่มมีความกังวลว่าหากไม่มีการวางแผนรับมือ วิกฤตอาหารที่เคยเกินขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็อาจจะกลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเหมือนเดิม แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะขณะนี้ ปริมาณผลิตด้านอาหารและธัญพืชปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้หลายประเทศจะมีปริมาณสต๊อกเพิ่มสูงขึ้น เช่น สต๊อกข้าวในไทย และอินเดีย โดยในส่วนของไทยได้มีการระบายสต๊อกข้าวออกอย่างต่อเนื่อง อินเดีย เริ่มมีความกังวลและอาจจะชะลอการส่งออกข้าว เพื่อคงสต๊อกไว้ในประเทศ ส่วนเวียดนาม ที่เคยเร่งส่งออก เริ่มชะลอการส่งออก เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง และมีแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตในปี 2557 จะลดลงอีก
“ตอนนี้หลายๆ ประเทศเริ่มมีความกังวล และเริ่มมองหาข้าวเพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกของตัวเองมากขึ้น ซึ่งมีสัญญาณชัดเจนขึ้นหลังจากพบว่าในขณะนี้มีหลายๆ ประเทศได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อเสนอขายข้าว ก็เริ่มคุยได้ง่ายขึ้น”นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสต๊อกข้าวคงเหลือประมาณ 15 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีภาระผูกพัน 5 ล้านตัน และอีก 10 ล้านตันยังไม่มีภาระผูกพัน ซึ่งไม่มากไม่น้อยเกินไป และยิ่งมีผู้ติดต่อขอซื้อเข้ามามาก ปริมาณข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ อาจจะไม่พอขายก็ได้ จึงอยากจะประกาศไปถึงประเทศที่ต้องการซื้อข้าวไทย หากไม่รีบซื้อตอนนี้ ในไม่ช้า อาจจะซื้อในราคานี้ไม่ได้แล้ว

เพราะข้าวที่เหลืออยู่ มีกลไกที่จะขายในหลายรูปแบบ ทั้งเปิดประมูลขายในทั้งประเทศและส่งออก ขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) และขายให้กับผู้ซื้อต่างประเทศโดยตรง สต๊อกข้าวอาจจะหมดลงได้ในเร็วๆ นี้

ส่วนปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่สต๊อกจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 แม้ตั้งเป้าจะมีข้าวเข้าสู่โครงการประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร แต่ผลกระทบจากน้ำท่วม ได้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในหลายๆ จังหวัดได้รับความเสียหาย ผลผลิตข้าวก็จะหายไปส่วนหนึ่ง ปริมาณสต๊อกก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้หลายๆ ประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เริ่มมีการติดต่อเจรจาขอซื้อข้าวไทย เพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกข้าวในประเทศ ป้องกันปัญหาการขาดแคลน โดยอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดปริมาณและราคา รวมทั้งยังมีการติดต่อขอซื้อข้าวทั้งจากจีน ประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยเฉพาะจีน มีการเจรจาหลายออเดอร์มาก

**"ปู"โวจีนซื้อข้าวปีละล้านตัน

วานนี้ (13 ต.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งสื่อมวลชนให้มารอทำข่าว ที่ ท่าอากาศยาน กองบิน 6 เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะมีการแถลงข่าวใหญ่ ในเวลา 14.00 น. แต่ยังไม่บอกประเด็นว่าเป็นเรื่องอะไร ทำให้มีสื่อมวลชน มารอเพื่อจะทำข่าวเป็นจำนวนมาก

จากนั้น เวลา 14.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังนำ นาย หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เยี่ยมชมสินค้าโอทอป ที่จ.เชียงใหม่ว่า ถือว่าเป็นโอกาสดี ที่ได้มีการหารือร่วมกันเพิ่มเติม และบรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยทางจีน ก็ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และการเยี่ยมชมศูนย์โอทอป นายกฯ จีน ได้เห็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ของจ.เชียงใหม่ และชื่นชมผลงานที่มีการพัฒนาสินค้าต่างๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการค้าการลงทุน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่าได้มีการหารือประเด็นเพิ่มเติมหลังจากที่มีการลงนามใน เอ็มโอยู เรื่องการสั่งซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งปกติทางภาคเอกชนก็ทำอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือพิเศษ ที่เราได้ลงนามเซ็นสัญญาไป ซึ่งได้มีการลงนามซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน ในระยะเวลา 5 ปี แต่จากความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย ก็เห็นควรปรับการซื้อข้าวจากไทยเพิ่มเติม มาเป็นปี ละ 1 ล้านตัน เป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยเป็นโครงการต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและจะเริ่มในทันที รวมถึงทางการจีนจะรับซื้อยางพาราจากไทย ปีละ 2 แสนตันด้วย ทั้งนี้การซื้อขายดังกล่าวไม่รวมยอดการซื้อขายของภาคเอกชนที่ได้มีการดำเนินการขายตามปกติ นอกจากนี้ก็ยังมีการหารือถึงสินค้าอื่นๆกันอีก โดยรายละเอียดจะให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เร่งดำเนินการประชุมหารือกันโดยเร็ว

***หม่อมอุ๋ยยันเปิดโปงเจ๊งจำนำข้าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า วันที่ 15 ต.ค.นี้ ตนจะออกมาเปิดเผยตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งเบื้องต้นพบการขาดทุนแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพียงแต่ต้องการที่จะนำข้อเท็จจริงออกมาให้รัฐบาลได้เห็น โดยขออย่ามองว่าเป็นการทำให้กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ไม่ได้สร้างการกระจายรายได้ให้กับประชาชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่กลับมีผลเสียมากกว่า เพราะจะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศที่อาจหมดความยั่งยืน เนื่องจากสร้างผลขาดทุน 205,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมเป็นการรับจำนำข้าว 2 ปี กว่า 410,000 ล้านบาท แต่ขณะที่เกษตรกรมีรายได้เพียง 80,000 ล้านบาท เท่านั้น

***“พาณิชย์” ติดเบรกตรึงราคานมถึงสิ้นปี

นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำมาตรการดูแลราคานมและผลิตภัณฑ์นม เสนอให้กับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พิจารณา โดยจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาไปจนถึงสิ้นปี แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท ตามมติของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด)ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการยังมีสินค้าสต๊อกเดิม ทำให้สามารถตรึงราคาได้อีก 2-3 เดือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ มิลค์บอร์ด ได้เห็นชอบปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ 1 บาท/กก. จากกก.ละ 18 บาท เป็นกก.ละ 19 บาท โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์เห็นชอบให้ปรับราคาจำหน่ายนมพร้อมดื่มในท้องตลาด และยังเห็นชอบชดเชยส่วนต่างราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นอีก 31 สตางค์ต่อกก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยจะเสนอให้ครม.พิจารณาเพื่อขอใช้งบประมาณจากรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งการขยายตัวของตลาดนมพร้อมดื่ม

“ตามเงื่อนไขของมิลค์บอร์ด ได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มราคาซื้อน้ำนมดิบอีก กก.ละ 1 บาท แต่จะมีผลก็ต่อเมื่อกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ผู้ผลิตขึ้นราคานมพร้อมดื่มก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า การขึ้นราคาน้ำนมดิบ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ก็เห็นด้วย แต่ในส่วนของการให้ปรับขึ้นราคา เห็นว่า น่าจะยังตรึงราคาได้ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดยื่นขอปรับราคาเข้ามาเลย”นายสมชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผ่านช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาวันที่ 31 ธ.ค.2556 ไปแล้ว หากผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถยื่นเรื่องเข้ามาให้กรมฯ พิจารณาได้

เบื้องต้นการปรับขึ้นน้ำนมดิบ 1 บาท/กก. ส่งผลให้นมสดพาสเจอร์ไรซ์ขนาด 500 มิลลิลิตร มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 25 สตางค์ ขนาด 1,000 มิลลิลิตร มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่กรมฯ วิเคราะห์ไว้แล้ว เพื่อใช้ในการดูแลการขอปรับขึ้นราคาสินค้านมของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริง และไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาเกินความเหมาะสม.
กำลังโหลดความคิดเห็น