ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปฏิบัติการสายฟ้าแลบเข้าชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลของ “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” หรือ “ม็อบ กปท.” รวมถึง “กองทัพธรรม” ของสันติอโศกนำโดย “สมณโพธิรักษ์” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 กำลังสร้างความปริวิตกให้ระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างหนัก ทั้งนี้ เนื่องเพราะเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน กระทั่งไม่สามารถระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั่วทุกสารทิศมาป้องกันทำเนียบรัฐบาลเอาไว้
นี่คือการหยามหรืออาจจะใช้คำว่า “เหยียบหน้ารัฐบาล” ก็คงจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
เพราะต้องไม่ลืมว่า ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และระบอบทักษิณได้แสดงเจตจำนงให้เห็นชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ทำเนียบรัฐบาลได้ ดังจะเห็นจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นกับชุมนุมของ “เสธ.อ้าย-พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” ประธานองค์การพิทักษ์สยาม และการชุมนุมของพลพรรคแมลงสาบนำโดย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะระดมตำรวจมาสร้างแนวป้องกันรอบทำเนียบรัฐบาลแล้ว ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อมิให้ผู้ชุมนุมเฉียดกรายเข้ามารวมกลุ่มกันได้
แต่แล้วทำไมเที่ยวนี้ ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่นำโดย เสธ.แมว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และสำนักงานตำรวจแห่งชาตินำโดย บิ๊กอู๋-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ตลอดรวมถึง “บิ๊กแจ๊ด-ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล” ที่มีวันนี้เพราะพี่ให้ จึงพลาดท่าเสียทีเช่นนี้
หรือเป็นเพราะมั่นใจว่าสามารถควบคุมอำนาจและกลไกการบริหารประเทศ ทั้งตำรวจและทหารเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนไม่ยี่หระต่อพลังของภาคประชาชน
ทั้งนี้ ก่อนที่กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) จะสามารถเคลื่อนทัพพิสดารปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้นั้น ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของฝ่ายรัฐบาล และเชื่อว่าน่าจะทราบระแคะระคายมาก่อนแล้วเช่นกันไม่เช่นนั้นนายกรัฐมนตรีตัวจริงอย่างนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร จะไม่ปล่อยข่าวเรื่องฤกษ์ผานาทีของการโค่นล้มรัฐบาลในวันที่ 8 ตุลาคมออกมาอย่างแน่นอน
หากยังจำกันได้ ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้คือวันที่ 19 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นรับครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหาร นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์เอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า
“เป็นที่รู้กันภายในว่าจะต้องเอารัฐบาลล้มให้ได้ในวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งผมก็รู้ว่ามันคือวันอะไร ถือฤกษ์ ถือยาม อะไร ซึ่งมันตลก ผมว่ามันไม่อยู่ในกติกา กติกามันต้องคิดว่า 4 ปีนะ การเซ็นเซอร์ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายต่าง ๆ มันต้องผ่านกระบวนการตามระบอบ ไม่เห็นเป็นไร วันนี้มันเหมือนกับว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันรวน ถ้าไม่รีเซตมันก็เดินต่อไม่ได้”
คำให้สัมภาษณ์ของนักโทษชายทักษิณสอดคล้องกับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การกำหนดวันที่ 8 ต.ค. เพราะเขาไปดูหมอ จึงรู้ว่าในวันดังกล่าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดวงตกสุดขีด กำลังอ่อนแรง ดังนั้นถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำในช่วงวันนี้ เพราะหากเลยไปแล้วก็รู้ว่าทำอะไรไม่ได้ หรือหากมีเลือกตั้งใหม่ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทยอยู่ดี”
และก็ให้บังเอิญอีกต่างหากที่ในช่วงเวลานี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอันต้องเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เอเปก ครั้งที่ 21 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และต่อด้วยประชุมอาเซียนที่บรูไนพอดิบพอดี ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นถูกมองว่าเป็นการแก้เคล็ดตามคำแนะนำของโหราจารย์ฝ่ายรัฐบาลที่ให้เดินทางไปต่างประเทศในช่วงดังกล่าว
ทว่า ด้วยความประมาทและคาดไม่ถึงว่าจะมีการเคลื่อนทัพพิสดารในรูปแบบใด จึงทำให้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพลาดท่าเสียทีอย่างไม่น่าเชื่อ
ทั้งนี้ แม้ปากของรัฐมนตรีคนสำคัญ ทั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รวมถึงแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายสมหวัง อัสราษีจะบอกว่า ไม่น่ากลัว ไม่น่าเป็นห่วง เพราะการเคลื่อนไหวของ กปท.เป็นเพียงแค่ต้องการสร้างกระแสกดดันเท่านั้น เนื่องจากตลอด 60 กว่าวันที่ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีก็ไม่ได้สร้างความกดดันอะไรให้กับรัฐบาลเลย แต่พฤติกรรมการแสดงออกกลับแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลวิตกกังวลไม่น้อย
ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจมากมายถึง 16 กองร้อยพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือปิดถนนและปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่บริเวณแยกพาณิชยการ สะพานชมัยมรุเชฐไปจนถึงแยกมิสกวัน
ไหนจะความเคลื่อนไหวของกองทัพแดงที่ประกาศชุมนุมคู่ขนานขนาบกลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ที่โรงเรียนเทคนิค ดอนเมือง
มิหนำซ้ำ หลายต่อหลายคนอาจจะถูกนักโทษชายทักษิณก่นด่าอีกต่างหาก ที่ปล่อยให้กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณซุ่มเงียบมาปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ เพราะมีข่าวว่านายใหญ่นักโทษหนีคุก ถึงกับจับเครื่องบินบินไปพบโคลนนิ่งผู้น้องซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมผู้นำเอเปกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนิเซียเพื่อวางแผนแก้เกมรวมทั้งสั่งการด้วยตนเอง
ส่วนปฏิบัติการเคลื่อนทัพพิสดารไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ต้องบอกว่า เป็นปฏิบัติการอันแยบยลของคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณและกองทัพธรรม โดยอาศัยจังหวะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่บริเวณแยกมิสกวัน หน้าวังปารุสก์ เคลื่อนตัวออกมาจากสวนลุมพินีและสามารถปักหลักตั้งเวทีที่หน้าประตู 3 ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลได้ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม
คำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากสามารถปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จมีอยู่ว่า เมื่อประสบชัยชนะในยกแรกแล้ว กปท.จะทำอย่างไรต่อไป จะระดมคนออกมาได้มากกว่านี้หรือไม่ เพราะเวลาที่ผ่านไป แม้จำนวนผู้ชุมนุมจะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงแรกเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ขณะที่ในฝั่งรัฐบาลนั้นหลังจากแพ้ในสงครามครั้งแรก ก็ได้แก้เกมอย่างหนัก โดยสิ่งที่ถนัดก็คือการให้ตำรวจออกมาให้ข่าวว่า สามารถตรวจยึดอาวุธและสิ่งเทียมที่สามารถใช้เป็นอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม อาทิ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว หัวนอต ประทัดยักษ์
ที่เด็ดที่สุดคือ การแถลงข่าวจับกุม “นายวีรพันธ์ มาไลยพันธุ์” อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรว่า พกพาอาวุธปืนแบบรีวอลเวอร์ ยี่ห้อนอร์ทอเมริกาบรรจุกระสุนขนาด .22 แมกนั่ม จำนวน 5 นัดขณะเดินเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม พร้อมทั้งระบุชัดแจ้งว่า เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “สภาท่าพระอาทิตย์” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่นายวีรพันธ์ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์”แต่อย่างใด เพียงแต่เคยเป็นแขกรับเชิญมาออกรายการทาง ASTV หลายครั้งในประเด็นเขาพระวิหาร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ตำรวจและสื่อฝ่ายทักษิณพยายามที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงและใส่ร้ายป้ายสีอย่างน่าไม่อาย
ขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวอย่างใหญ่โตว่า อาจจะเชื่อมโยงกับการเสวนาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยของ 56 องค์กรที่จัดขึ้นโดยกลุ่มกรีนของนายสุริยะใส กตะศิลาร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว.ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
จากนั้นได้มีการเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะมีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค.ในพื้นที่ 3 เขตของ กทม.คือ ในพื้นที่ 3 เขต 8 แขวงของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตดุสิต (แขวงดุสิต และแขวงจิตรลดา) เขตพระนคร (แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม แขวงบางขุนพรหม) และเขตป้องปราบศัตรูพ่าย (แขวงวัดโสมนัส) รวม 9 วัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาถึงความเหมาะสม เพราะจำนวนม็อบที่มีอยู่อยู่ในขณะนี้เทียบไม่ได้เลยกับตำรวจหลายพันนายที่ล้อมรอบผู้ชุมนุมและทำเนียบรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง
ที่สำคัญคือกลุ่มผู้ชุมนุมก็มิได้มีท่าทีว่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายอะไร เป็นเพียงการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงออกถึงสิทธิอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การยอมรับเท่านั้น จะอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายในช่วงระหว่างที่นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับในต่างประเทศ
แต่ทั้งนี้นั้นก็ต้องยอมรับว่า ยุทธการของฝ่ายรัฐบาลได้ผลเนื่องจากสามารถสกัดกั้นการเสริมกำลังบำรุงได้อย่างอยู่หมัด
นอกจากนี้ กลเกมที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษก็คือ การเจรจาต่อรองขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงระหว่างที่นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 11 ตุลาคม โดยในการเจรจาครั้งแรกฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มาลงนามข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน จึงจะยอมออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาล และจะกลับมาอีกครั้งหลังวันที่ 11 ต.ค. แต่สุดท้ายการเจรจากับ พล.ต.อ.ประชาก็ไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก พล.ต.อ.ประชาติดการตอบกระทู้ในสภาแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ยังคงอึมครึม ปรากฏว่า ฝ่ายนำของกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย พล.อ.ปรีชาได้เข้าไปเจรจากับคณะของ พล.ต.อ.วรพล ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. และใช้เวลาไม่นานนัก พล.อ.ปรีชาก็ได้ขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจะกลับไปยังสวนลุมพินี ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเดิม หลังจากนั้นจะกลับมาชุมนุมใหม่อีกครั้ง โดยมิได้กำหนดวันชัดเจนว่า จะเป็นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือแห่งหนตำบลไหน
สมณโพธิรักษ์อธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าวเอาไว้ว่า “การย้ายการชุมนุมไม่ถือว่าแพ้ ถ้าจะแพ้ก็แพ้ชะตาทรามมากกว่า พร้อมเตือนสติผู้ชุมนุมว่าคำว่า"กูต้องชนะ"นั้นเป็นกิเลสและเป็นอัตตาอีกตัวหนึ่ง เราต้องชนะกิเลส ชนะตัวเองให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่ชนะอะไรได้เลย นับแต่เราชุมนุม เราชนะรายทางมาเรื่อยๆ แล้ว ตั้งแต่การชุมนุม 158 วัน การชุมนุม เสธ.อ้ายก็ถือว่าชนะ จนมาครั้งนี้ การยอมกลับไปที่สวนลุมฯ ก็ไม่ถือว่าแพ้”
ด้าน ร.ต.แซมดิน เลิศบุญ เสขาธิการร่วม กปท. หนึ่งในแกนนำที่เข้าร่วมเจรจากับฝ่ายรัฐบาลที่ บช.น. กล่าวว่า กลุ่ม กปท.จะถอนการชุมนุมออกจากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวตามที่ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลรับปากว่าหากเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีจีนจะให้กลับมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง และในระหว่างนี้จะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับกลุ่มผู้ชุมนุม
การประกาศยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมถึงยอมกลับ และจะเชื่อได้อย่างไรว่า หลังจากนายหลี่ เค่อ เฉียงกลับไปแล้ว รัฐบาลจะยอมให้กลับมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลใหม่อีกครั้ง
แน่นอน หากวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่แท้จริงในการตัดสินใจถอย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพราะจำนวนผู้ชุมนุมมีไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่แกนนำหลายคนติดคดีความเก่า ซึ่งตำรวจก็ได้หยิบมาเป็นหมัดเด็ดในการเจรจา ดังนั้น เมื่อรัฐบาลยื่นเงื่อนไขนี้มา แกนนำจึงตัดสินใจเล่นเกมวัดใจ เพราะถ้าหากรัฐบาลเบี้ยวทั้งๆ ที่ตกลงกันเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วก็จะทำลายภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะส่งผลทำให้การเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ยุ่งยากหนักเข้าไปอีก เพราะสังคมเห็นแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้มีแต่ความโกหกและหลอกลวง
กระนั้นก็ดี นับจากนี้เป็นต้น จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดชนิดมิอาจกระพริบตาได้เลยทีเดียวว่า ฝ่ายไหนจะชนะในยกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้เกมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณว่าจะสามารถจุดไฟให้ติดรวดเร็วพอหรือไม่หลังหยุดชุมนุมและกลับมาอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่า แม้ กปท.จะประสบความสำเร็จในยกแรกที่สามารถเคลื่อนทัพออกจากสวนลุมพินีมาปักหลักที่ประตู 3 ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลได้ พร้อมทั้งสามารถแย่งชิงพื้นที่ข่าวได้สำเร็จ แต่ในแง่ของ “จำนวน” แล้วยังถือว่าไม่มีพลังมากพอที่จะกดดันรัฐบาลได้
ไม่เช่นนั้นแล้ว สุดท้าย กปท.ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องย่ำรอยเดิมเหมือนเมื่ออครั้งที่เกิดกับม็อบ เสธ.อ้ายมาแล้วในยกแรก รวมถึง กปท.เองก็เคยประสบกับเหตุการณ์ในทำนองนี้จนมิอาจเคลื่อนขบวนออกจากสวนลุมพินีได้
ที่สำคัญคือการกลับมาชุมนุมครั้งใหม่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในตัวผู้นำอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่า การถอยกลับไปสู่ที่ตั้งที่สวนลุมพินี ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของศรัทธาตามมาอยู่ไม่น้อย