xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงเซ็ง ของแพง-รถติด รัฐบาลห่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรุงเทพโพล เผยคนกรุงเครียดของแพง รถติด รัฐบาลบริหารห่วย ทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และไม่เชื่อน้ำยาว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “รัฐบาลกับสุขภาพจิตคนกรุง และวิธีคลายเครียดอย่างสร้างสรรค์” เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกวันที่ 10 ต.ค.2556 โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,746 คน พบว่า เรื่องที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เครียดและวิตกกังวลมากที่สุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่าน คือ ข้าวของราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.3 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2555 ร้อยละ 10.7 รองลงมาคือ การจราจรติดขัดคิดเป็นร้อยละ 11.8 ลดลงร้อยละ 0.6 และการบริหารประเทศของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลคิดเป็นร้อยละ 10.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1

ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่า ปัญหาที่ท่านรู้สึกเครียด และวิตกกังวลในข้างต้น ส่งผลให้สุขภาพจิตเสียมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 74.9 บอกว่ามากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 25.1 บอกว่าน้อยถึงน้อยที่สุด

สำหรับเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหามากที่สุดในขณะนี้ เพื่อทำให้สุขภาพจิตของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น คือ แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ร้อยละ 43.1 รองลงมา คือ ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้สังคมแตกแยก ร้อยละ 21.4 และการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 15.0

โดยเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นพบว่า ร้อยละ 73.6 เชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 26.4 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อถามว่าคนในกรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะมีปัญหาทางสุขภาพจิตมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับคนต่างจังหวัด ร้อยละ 56.8 เห็นว่ามีมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 38.2 เห็นว่ามีพอๆ กัน และร้อยละ 5.0 เห็นว่ามีน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ปัจจุบันนี้ ข่าวการเมืองทำให้ท่านเครียดใช่หรือไม่ ร้อยละ 77.8 บอกว่าใช่ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 41.0 เห็นว่าใช่ แต่จำเป็นต้องติดตาม และร้อยละ 36.8 เห็นว่าใช่ จึงพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ร้อยละ 22.2 เห็นว่าไม่ใช่ เพราะไม่ค่อยสนใจการเมือง

ส่วนวิธีคลายเครียดอย่างสร้างสรรค์ที่คนกรุงเทพฯ มักทำมากที่สุดเพื่อลดความเครียด คือ คิดบวกอยู่เสมอๆ มองโลกในแง่ดี ร้อยละ 48.9 รองลงมา คือ ออกกำลังกาย ร้อยละ 35.1 ทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ร้อยละ 32.9 เล่นสังคมออนไลน์ ร้อยละ 24.9 และเข้าวัด ฟังเทศน์ ทำบุญ ร้อยละ 18.8
กำลังโหลดความคิดเห็น