xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงผวา!ซ้ำรอย54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อุตุฯเตือนภาคกลาง-ตะวันออก-ใต้ตอนบน ฝนตกหนักถึง 5 ต.ค. เขื่อนป่าสัก-ขุนด่านระบายน้ำเพิ่ม เตือนชาวบ้าน 2 ฝั่งรับมือ ฝนถล่มกาญจนบุรี ซัดถนนใน อ.เลาขวัญ ขาดกว่า 20 เมตร ส่วนชาวบ้านเมืองกรุงเก่าผงะจระเข้ยาว 1 เมตรว่ายเข้าบ้าน เคราะห์ซ้ำ!หามผู้ประสบภัยปราจีนฯส่งรพ.พิษข้าวกล่องบริจาค "บ้านสร้าง-แปดริ้ว" จมบาดาล "ปู" สั่งทหารป้องกทม.-ปริมณฑล คนกทม.ผวาซ้ำรอยปี 54

วานนี้(3 ต.ค.)กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ว่าร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรง ยังคงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีฝนหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณจ.ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี กทม.รวมทั้งปริมณฑล นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักช่วงวันที่ 3-5 ตุลาคม

**เขื่อนป่าสักระบายเพิ่ม600ลบ.ม./วินาที

วันเดียวกัน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 932 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 96% ของความจุอ่างที่ 960 ล้านลบ.ม. แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักทางตอนบนในเขตต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพุบรี ส่งผลให้มีน้ำจำนวนมากไหลลงอ่าง จำเป็นต้องพร่องน้ำจากเขื่อนในเกณฑ์ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที และควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา 600-620 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ เพื่อลดปริมาณน้ำไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนมากนัก โดยสำนักชลประทานที่ 10 ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจ.สระบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา เตือนประชาชน 2 ฝั่งแม่น้ำป่าสัก ให้เตรียมรับมือกับระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ด้านสถานการณ์ในพื้นที่นั้น นายชาญวิทย์ ศุภกิจจานุสรณ์ นายอำเภอเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมไร่มันสำปะหลัง ซึ่งได้ให้ตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ถนนเชื่อมหมู่ 6 และ 8 ต.หนองโสน ถูกกระแสน้ำพัดขาดยาว 20 เมตร ไม่สามารถใช้เส้นทางได้ ส่วนบ้านเรือนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนปริมาณน้ำที่ฝายน้ำคลุ้ง เริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียง ต้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำลงสู่คลองหมื่นเทพ ส่วนเขตเทศบาลตำบลบาลเลาขวัญ ถูกน้ำท่วมไม่มากนัก หากฝนไม่ตกลงมาอีก คงเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

**น้ำข้ามคันท่วมโบราณสถานป้อมเพชร

ที่โบราณสถานป้อมเพชร ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นจนล้นแนวกระสอบทราย เข้าท่วมโบราณสถานแล้ว ระดับน้ำสูง 5-10 เซนติเมตร เรือบรรทุกสินค้า เรือนักท่องเที่ยวที่แล่นผ่านสร้างสร้างคลื่นกระแทกตัวโบราณสถานตลอดเวลา ทำให้หลายฝ่ายหวั่นว่าจะได้รับความเสียหาย
นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยกระดับกระสอบทรายให้สูงขึ้น พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และจะขอความร่วมมือกรมเจ้าท่า กำชับให้เรือที่แล่นผ่าน ชะลอความเร็วเพื่อลดความรุนแรงของคลื่นด้วย

**ผงะไล่จับจระเข้1เมตรว่ายเข้าบ้าน

เวลา 17.00 น. หน่วยกู้ภัยอยุธยารวมใจ รับแจ้งจากนายชูศิลป์ อ่อนแก้ว อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28/1 หมู่ 7 ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา ให้มาช่วยจับจระเข้ที่ขังเอาไว้ภายในบ้านที่ถูกน้ำท่วม จึงไปที่บ้านซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบนายชูศิลป์ต้อนจระเข้ไว้ที่มุมกำแพงบ้าน เจ้าหน้าที่จึงใช้ผ้าคลุมหัวจระเข้ แล้วเข้าไปจับตัวไว้ได้ พบเป็นจระเข้เพศผู้ ยาว 1 เมตร น้ำหนัก 10 กิโลกรัม

นายชูศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ตนกับภรรยากำลังขนย้ายสิ่งของไว้ที่สูง เห็นจระเข้ว่ายน้ำคิดว่าเป็นตัวเงินตัวทอง เข้าไปดูใกล้ๆพบว่าเป็นจระเข้ จึงพยายามจะจับ แต่กลับถูกขู่จะเข้าทำร้าย จึงได้ต้อนเข้าไปที่ซอกกำแพงบ้าน แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมาจับ

**ท้องร่วงเข้ารพ.ประจันตคาม

จ.ปราจีนบุรี เวลา 00.30 น.หน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญู นำชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเขตต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ขึ้นรถทหารลำเลียงส่งโรงพยาบาลประจันตคาม หลังกินข้าวกล่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้วมีอาการถ่ายท้อง อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เบื้องต้นอาการหนัก 5 คน ส่งต่อโรงพยาบาลศรีมโหสถ 2 คน และโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ 3 คน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงควบคุมโรคในหมู่บ้าน พบว่ามีผู้ป่วย 46 ราย ร้อยละ 80 เป็นเด็ก ขณะนี้ทุกรายปลอดภัย จึงให้เก็บตัวอย่างอาหารและตัวอย่างอาเจียน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะทราบผลใน 1-2 วัน

นายคณิศร โชปัญญา หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานปภ.จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ระดับน้ำในอ.บ้านสร้าง ข้ามคันกั้นน้ำ และเกินจุดวิกฤตแล้ว 62 เซนติเมตร นอกจากนี้มวลน้ำเริ่มไหลเข้ามาท่วมหมู่บ้านที่อยู่ติดกับจ.ปราจีนบุรี 2 หมู่บ้าน คือ บ้านบางกระดาน และบ้านบางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ติดกับต.บางแตน อ.บ้านสร้าง

**ฉะเชิงเทราระทึกรีบจับกุ้ง-ปลาขาย

จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรอ.บางน้ำเปรี้ยว และอ.บางคล้า ริมแม่น้ำบางปะกง ต่างระดมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหนีน้ำกันอย่างวุ่นวาย ซึ่งนายบัญชา พิสิฐพัฒนะ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42/5 หมู่ 9 ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า กล่าวว่า ขณะนี้น้ำจากจ.ปราจีนบุรี เริ่มไหลเข้าบ่อกุ้ง บ่อปลา และนาข้าว เจ้าของบ่อพากันระดมจับขาย ทั้งที่กุ้งและปลายังไม่ได้ขนาด แม้แต่กุ้ง 200-300 ตัวต่อกิโลกรัมก็ยังต้องเร่งจับขายทิ้ง เพราะหากปล่อยไว้จะไม่ได้อะไรติดมือเลย ส่วนนาข้าวมีทั้งเกี่ยวทันบ้างไม่ทันบ้าง รายที่เงินทุนน้อยก็ต้องปล่อยจมน้ำไป

จ.บุรีรัมย์ น้ำในลำปะเทีย ลำน้ำมาศ และลำนางรอง เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมถนนโชคชัย-เดชอุดม ที่บ้านถนนหลัก ต.ถนนหัก บ้านทุ่งแหลม ต.นางรอง และบ้านทุ่งโบสถ์ ต.ทุ่งโบสถ์ อ.นางรอง สูง 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังท่วมถนนเชื่อมหมู่บ้านหลายแห่งสูงกว่า 50 เซนติเมตร และยังไหลเข้าท่วมไร่นา 15 ตำบล ของอ.นางรอง สูงกว่า 1 เมตร ประชาชนเดือดร้อนกว่า 500 ครัวเรือน อีกทั้งยังไหลเข้าท่วมโรงเรียนบ้านถนนหัก (เพียรประจงวิทยา) ต.ถนนหัก สูงกว่า 50 เซนติเมตร ต้องปิดการเรียนการสอนทันที

ที่เทศบาลเมืองนางรอง ระดมเครื่องจักรกลขุดเจาะถนนเปิดทางน้ำที่บ้านทุ่งแหลม ต.นางรอง ไปบ้านถนนหัก ต.ถนนหัก เพื่อให้ลงสู่ลำน้ำมาศ สู่ลำน้ำมูลได้สะดวก โดยทำสะพานไม้เชื่อมถทางที่ขุดเจาะให้ประชาชนใช้สัญจรชั่วคราว

จ.อุบลราชธานี ที่บ้านแก่งโพธิ์ ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร น้ำจากลำน้ำโดมใหญ่ ที่ล้นตลิ่งเข้าท่วม 13 หมู่บ้านเริ่มลดลง เหลือเพียงบ้านแก่งโพธิ์ บ้านแก่งกอก และบ้านผักหย่า น้ำยังท่วมสูง 1-2 เมตร ซึ่งนายประกิต ตันติวาลา นายอำเภออพิบูลมังสาหาร กล่าวว่า นาข้าวถูกน้ำท่วมขังกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้รากเน่า ใบเป็นเชื้อรา รวงข้าวลีบเล็กเสียหายกว่า 7,800 ไร่

นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า สัปดาห์นี้ต้องเฝ้าจับตาปริมาณฝน ที่คาดว่าจะตกหนัก กรณีที่น้ำในจ.ฉะเชิงเทรา กรมชลประทานระบายลงแม่น้ำบางปะกง ยังไม่ได้รับรายงานว่าส่งผลกระทบต่อฝั่งตะวันออกของกทม. อย่างไรก็ตามกทม.เริ่มลดบานประตูน้ำบางแห่ง เพื่อพร่องน้ำตามคลองหลักด้านในไว้รองรับแล้ว

**ปภ.ย้ำยังท่วม24จังหวัดเดือดร้อน2.5ล้านคน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รายงานสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีน้ำท่วม 24 จังหวัด 185 อำเภอ 1,156 ตำบล 9,169 หมู่บ้าน 740,431 ครัวเรือน 2,596,492 คน อพยพ 4,416 ครัวเรือน 15,254 คน มีผู้เสียชีวิต 27 ราย โดยเป็นน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน 20 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อํานาจเจริญ บุรีรัมย ยโสธร ชัยภูมิ

ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร กําแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ส่วนอุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี

**"ปู"สั่งทหารพร้อมช่วยป้อง"กทม.-ปริมณฑล"

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 2-5 ตุลาคม ที่จะมีร่องมรสุมพัดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เพราะอาจทำให้กทม.และปริมณฑล มีปริมาณฝนมากขึ้น และมีน้ำจากภาคเหนือลงมาอีก โดยให้เตรียมพร้อมทำงานร่วมกับสำนักงานเขต เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

**ปชป.ข้องใจใช้เงิน1.2แสนล.แก้ท่วมเหลว

ที่รัฐสภา นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดถามนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในอีสานใต้ ซึ่งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแทนว่า อีสานใต้แตกต่างจากภาคเหนือและภาคกลาง เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามในจ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำชี กบอ.ได้พิจารณาสร้างอ่างโปร่งขุนเพชร หรือพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน และเขื่อนยางนาดี คาดว่าหลังจัดสรรตามแผนงานแล้ว ส่วนที่เหลือจะให้จังหวัดที่เสนอมาได้

นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลมีวิธีการดำเนินงานอย่างไรบ้าง ซึ่งนายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 33,300 บาท สำหรับบ้านที่เสียหายทั้งหลัง หากเสียหายบางส่วนจะจ่ายตามจริง ชดเชยพื้นที่การเกษตร 1,113 ต่อไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ เสียชีวิตจ่ายสงเคราะห์รายละ 2.5 หมื่นบาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะจ่ายเพิ่ม 2.5 หมื่นบาท

นายศุภชัยถามต่อพร้อมแสดงป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า "ลาก่อนน้ำท่วมน้ำแล้ง" ว่างบประมาณ 1.2 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้น ขอถามว่าได้ผลสำเร็จจริงหรือไม่ หรือละลายไปกับน้ำแล้ว เพราะขณะนี้มีการเบิกจ่าย 100% แล้ว 146 โครงการ จาก 154 โครงการ อีก 8 โครงการเบิกจ่ายกว่า 80% แต่ล้วนเป็นโครงการของกรมศิลปากร ที่ไปฟื้นฟูโบราณสถาน

นายวราเทพ ชี้แจงว่า งบ 1.2 แสนล้านบาท เป็นการฟื้นฟู ซ่อมแซม และเยียวยาเหตุอุทกภัยปี 2554 ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องผลักดันเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ

**คนกทม.ผวาซ้ำรอย54รัฐ-กทม.ขัดกันเอง

ด้านศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ "อารมณ์ ความรู้สึก ของคนกทม.ต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน" จากประชาชนในกทม. 1,190 คน พบว่า 48.7% เริ่มรู้สึกวิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมอีก ขณะที่ 41.4 % ไม่รู้สึกวิตก มีเพียง 9.9% ที่รู้สึกวิตกกังวลมาก

นอกจากนี้พบว่า 54.0% คิดว่าน้ำน่าจะท่วมอีก แต่คงไม่มากและไม่นานเท่าปี 2554 ขณะที่ 35.0% คิดว่าไม่ท่วมแน่นอน และ 8.0% คิดว่าจะท่วมหนักเหมือนปี 2554 ขณะที่ 3.0 % คิดว่าท่วมหนักกว่าปี 2554

ส่วนความพร้อมของรัฐบาลในการรับมือกับน้ำท่วมกทม.ปีนี้ พบว่า 50.2% เห็นว่าเตรียมพร้อมได้ดีกว่าปี 2554 ขณะที่ 36.0% เห็นว่าเตรียมพร้อมได้เหมือนปี 2554 และ 13.8 % เตรียมพร้อมได้แย่กว่าปี 2554

สำหรับเรื่องที่กังวลมากที่สุด คือ ความไม่สามัคคีกันในการแก้ปัญหาของภาครัฐและกทม. 50.3% การทุจริตคอร์รัปชั่นงบประมาณ 39.2% ความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน 35.4%

ทั้งนี้ คนกทม.ได้เปรียบเทียบความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลและกทม. ว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ พบว่าให้คะแนนความเชื่อมั่นกทม. 5.96 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และให้รัฐบาล 5.69 คะแนน
กำลังโหลดความคิดเห็น