xs
xsm
sm
md
lg

4 อำเภอปลายน้ำศรีสะเกษยังอ่วมสูงต่อเนื่อง ผู้ว่าฯ ได้ทีของบฯ ก้อนโตแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าฯศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ - 4 อำเภอปลายน้ำศรีสะเกษยังท่วมหนัก แนวโน้มระดับน้ำสูงต่อเนื่อง ขณะที่ 14 อำเภอ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ว่าฯ ได้ทีผลักดันโครงการเร่งด่วนของบฯ ก้อนโต 580 ล้านแก้น้ำท่วมทั้งระยะสั้น และยาว โอ่ไม่ท่วมอีก ด้านชาวบ้านน้ำท่วมลดระดับยังไม่กลับเข้าบ้าน เกรงพายุถล่มท่วมซ้ำอีก และผวาจระเข้ที่มากับน้ำ

วันนี้ (2 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำได้ลดลงตามลำดับ จากการวัดระดับน้ำห้วยสำราญ ที่สถานี M.9 สะพานขาว อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ อยู่ที่ 12.02 ม. สูงกว่าตลิ่งอยู่ 3.02 ม. ส่งผลให้อำเภอที่อยู่ต้นน้ำ 14 อำเภอ คือ อ.ขุนหาญ ภูสิงห์ ขุขันธ์ ไพรบึง โนนคูณ เบญจลักษ์ ราษีไศล กันทรลักษ์ ศรีรัตนะ พยุห์ น้ำเกลี้ยง เมืองจันทร์ ปรางค์กู่ และวังหิน สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเกือบสู่สภาวะปกติแล้ว

ส่วนอำเภอที่อยู่กลางน้ำ 4 อำเภอ คือ อ.อุทุมพรพิสัย ห้วยทับทัน เมืองศรีสะเกษ โพธิ์ศรีสุวรรณ สถานการณ์ยังมีน้ำท่วมสูง แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ขณะอำเภอที่อยู่ปลายน้ำ 4 อำเภอ คือ อ.บึงบูรพ์ ศิลาลาด ยางชุมน้อย และ อ.กันทรารมย์ สถานการณ์น้ำท่วมยังหนักอยู่ โดยมีแนวโน้มสูงมากขึ้น เนื่องจากเป็นอำเภอที่น้ำจากลำห้วยต่างๆ ไหลผ่านออกไปลำน้ำมูล จ.อุบลราชธานี โดยมีน้ำในแม่น้ำมูลที่มีปริมาณสูงขึ้นดันไว้

ทั้งนี้พื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีทั้งหมด 22 อำเภอ 204 ตำบล 2,621 หมู่บ้าน ได้ประสบอุทกภัยทั้ง 22 อำเภอ 162 ตำบล 1,584 หมู่บ้าน และ 15 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 107,589 ครัวเรือน ที่อยู่อาศัยเสียหายบางส่วน 44,760 ครัวเรือน 515,346 คน เสียชีวิต 9 ราย พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 572,695 ไร่ คาดว่าจะเสียหายประมาณ 397,495 ไร่ บ่อปลา/กุ้ง/ตะพาบ 2,160 บ่อ (15 อำเภอ) ถนน 510 สาย สะพาน/คอสะพาน 15 แห่ง ฝาย/ทำนบ 23 แห่ง ท่อระบายน้ำ 210 แห่ง วัด 148 แห่ง (16 อำเภอ) สถานที่ราชการ 12 แห่ง และโรงเรียน 7 แห่ง โดย จ.ศรีสะเกษ ประกาศให้เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแล้วทั้ง 22 อำเภอ

นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรณีเร่งด่วนของ จ.ศรีสะเกษ ดังนี้ ระยะสั้น คือการก่อสร้างอาคารพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน จำนวน 14 แห่ง งบประมาณ 50 ล้านบาท ซ่อมแซมประตูระบายน้ำในลำห้วยสำราญ 3 แห่ง งบประมาณ 30 ล้านบาท เร่งรัดการอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด (ติดค้างที่กรมบัญชีกลาง) เร่งรัดจัดทำโครงการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะที่ตื้นเขิน พ.ศ.2547 การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ.2535 กรณีการขออนุญาตเชื่อมทางเข้าออก เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตทาง การบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากโดยใช้ระบบโซนนิ่ง

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว คือ โครงการผันน้ำลำห้วยสำราญ แนวที่ 1 โดยการเวนคืน และขุดลอกคลองลัดน้ำจากบ้านโนนสำราญถึงแม่น้ำมูล ต.หญ้าปล้อง อ.เมืองศรีสะเกษ ระยะทาง 8 กิโลเมตร งบประมาณ 190 ล้านบาท สามารถผันน้ำได้ 80 ลบ.ม./วินาที

โครงการผันน้ำลำห้วยสำราญ แนวที่ 2 โดยการเวนคืน และขุดลอกคลองลัดน้ำจากลำห้วยคล้าไปลำห้วยแฮด ระยะทาง 6 กิโลเมตร งบประมาณ 90 ล้านบาท (ขยายความกว้างตามคลองอีสานเขียว) สามารถผันน้ำได้ 80 ลบ.ม./วินาที

โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และโรงสูบน้ำบริเวณปากทางห้วยสำราญออกสู่แม่น้ำมูล บ้านโนนจาน ต.โพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ งบประมาณ 90 ล้านบาท สามารถระบายน้ำออกได้ 25 ลบ.ม./วินาที การจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมเขตชุมชนโดยใช้เกณฑ์ระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุด ปี 2543 เฉพาะเขตที่เหมาะสม และสามารถดำเนินการได้ เพิ่มช่องทางระบายน้ำ (ท่อลอด/Box culvert/สะพาน) บริเวณถนนที่เป็นจุดกีดขวางทางน้ำไหล งบประมาณ 130 ล้านบาท

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ได้นำเสนอไปยังหน่วยเหนือเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้แล้วน้ำจะไม่ท่วม จ.ศรีสะเกษ อีกอย่างแน่นอน” นายประทีปกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่บริเวณชุมชนโนนสำนักมิตรภาพ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ติดกับลำห้วยสำราญ และถูกน้ำท่วมบ้านเรือน วัด โรงเรียนตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด ขณะนี้ระดับน้ำท่วมเริ่มลดระดับลงแล้ว บ้านเรือนหลายหลังโผล่พ้นน้ำ ชาวบ้านได้พากันเข้าไปดูแลความเสียหายของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม

ขณะที่บ้านบางหลังน้ำยังคงท่วมขังอยู่ภายในบ้านไม่สามารถสูบน้ำออกไปจากบ้านได้ ต้องรอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ โดยชาวบ้านส่วนมากยังคงพักอาศัยอยู่ริมถนนสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย ปากทางเข้าชุมชนโนนสำนักมิตรภาพซึ่งเป็นที่สูง และยังไม่กลับเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนที่น้ำท่วมลดลงแล้ว

นางแต้ว แสนพันธุ์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130/1 หมู่ 11 ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า บ้านตนอยู่ข้างโรงเรียนบ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121 ถูกน้ำท่วมก่อนบ้านหลังอื่น กระแสน้ำพัดพาเอาตู้เย็นที่อยู่ในบ้านลอยไปติดอยู่ข้างรั้วโรงเรียน ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมได้ลดลงจากบ้าน เหลือระดับน้ำสูงเพียง 30 ซม. และได้เข้าไปทำความสะอาดบ้านแล้ว แต่ยังไม่กล้าเข้าไปอยู่ในบ้านเนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้ามาทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก

อีกทั้งหวาดกลัวจระเข้ที่มากับน้ำท่วม เนื่องจากมีข่าวว่าจระเข้หลุดออกมาไล่กัดคนแถว อ.อุทุมพรพิสัย และ อ.ปรางค์กู่ จึงห้ามไม่ให้ลูกหลานพากันลงไปเล่นน้ำท่วมเพื่อป้องกันอันตรายจากจระเข้ และป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคฉี่หนู รวมทั้งโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วมด้วย
ระดับน้ำท่วมชุมชนโนนสำนักมิตรภาพ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ติดลำห้วยสำราญ เริ่มลดลง แต่ปชช.ยังไม่เข้าไปอยู่ในบ้าน เกรงมีพายุฝนลูกใหม่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอบ 2 อีก วันนี้ ( 2 ต.ค.)




ยังปักหลักอาศัยอยู่ริมถนน

กำลังโหลดความคิดเห็น