xs
xsm
sm
md
lg

ช่วง 90 วันสำคัญ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การเมือง ณ ห้วงเวลานี้สู้กันด้วยตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากจะติดตามกันให้รู้เท่าทันอย่างสนุกและได้ความรู้จะต้องมีรัฐธรรมนูญไว้ใกล้ ๆ มือ จะได้คอยพลิกดูได้เวลาฝ่ายต่าง ๆ มีแสดงความคิดความเห็นอ้างตัวบทอ้างมาตรา

บ้านเมืองยามนี้วิกฤตสุด ๆ แล้ว

จากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2557 จะพอมองเห็นว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นฉันใด !


ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเบื้องต้นในคดีที่มีผู้ยื่นคำร้องว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มาของส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 รวม 5 คำร้อง โดยสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาถึง 4 คำร้อง ไม่ใช่แค่รับทางธุรการนะ แต่เป็นการสั่งเบื้องต้นว่าคดีมีมูล หมายความว่าจากนี้ไปก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณา โดยสั่งให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องเพื่อส่งไปให้ผู้ถูกร้องคือบรรดาส.ส.และส.ว.ที่เข้าชื่อกันกว่า 300 คนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็คงกำหนดเวลาให้ผู้ถูกร้องชี้แจงมาภายในเท่านั้นเท่านี้วัน แล้วก็จะพิจารณาว่าจะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเมื่อไร

แม้จะไม่สั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการลงมติวาระ 3 วันเสาร์ที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาไว้ก่อน

แต่ก็ได้มีคำสั่งให้แจ้งผลให้ทางรัฐสภารับทราบแล้ว

ปรกติศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณากันสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันพุธ แต่สัปดาห์ที่แล้วเพิ่มวันประชุมพิจารณาขึ้นอีก 1 วันคือวันศุกร์ ทั้ง 2 วันในสัปดาห์ที่แล้วมีความเกี่ยวเนื่องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาส.ว.ทั้งสิ้น วันพุธท่านมีคำสั่งรับ 2 คำร้องไว้พิจารณาเพราะมีมูลด้วยมติ 5 : 2 วันศุกร์รับอีก 2 คำร้องด้วยมติ 5 : 1

แต่รัฐสภาก็ไม่แยแส ยังคงเดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ

เช้าวันเสาร์ที่ 28 กันยายนก่อนลงชื่อเข้าร่วมประชุม พวกเราได้หารือแนวทางปฏิบัติกันอย่างรอบด้านแล้ว ตกลงกันว่าจะดำเนินการทางการเมืองวันนั้นใน 2 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่หนึ่ง เสนอญัตติด้วยวาจาในที่ประชุมให้เลื่อนการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ใน 4 คดี จะได้ไม่เกิดปัญหาในขั้นตอนต่อไป เพราะหากรัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ประธานรัฐสภาก็จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรวงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วันตามมาตรา 150 ซึ่งจะเป็นปัญหา เพราะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯก็ไม่ได้ แต่หากนำขึ้นทูลเกล้าฯก็เท่ากับนำเรื่องที่ยังมีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ ปรกติประเพณีปฏิบัติไม่ทำกัน

ขั้นตอนที่สอง หากยังมีการลงมติวาระ 3 หลังการลงมติเสร็จสิ้นก็จะร่วมกันยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาทันทีตามมาตรา 154 (1) เพื่อยับยั้งการนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเทียบเคียงว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเตริมก็เป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง ต้องถูกควบคุมโดยมาตรา 154 ได้ แม้จะมีข้อสงสัย แต่ก็ควรเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย ไม่ใช่หน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะมาวินิจฉัยตีความมาตรา 154 เสียเอง

ส.ว.ทัศนา บุญทองสามารถทำตามขั้นตอนที่หนึ่งได้ การเสนอญัตติมีผู้รับรองถูกต้อง แต่ประธานรัฐสภากลับไม่รับญัตติ

พวกเราจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด ต้องตัดสินใจเดินออก ไม่ร่วมสังฆกรรมกับการประชุมที่ไม่ถูกต้อง

หลังการประชุม พวกเรารวม 68 รายชื่อ นำโดยส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน สามารถทำตามขั้นตอนที่สองคือยื่นคำร้องต่อประธานฯตามมาตรา 154 (1) ที่หน้าห้องประชุมได้

สถานการณ์จากนี้ไปก็อยู่ที่การตัดสินใจของประธานรัฐสภา และ/หรือรองประธานรัฐสภา ว่าจะยื่นคำร้องตามมาตรา 154 ไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าตัดสินใจยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ต้องรับความกดดันว่าต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน

ปฏิทินการทำงานของพวกเราจากนี้ไปจะเป็นมาตรการต่อเนื่องจากขั้นตอนที่สอง โดยเช้าวันจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ ตัวแทนพวกเราจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่าพวกเราได้ยื่นหนังสือต่อประธานฯตามมาตรา 154 (1) ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 กันยายนแล้ว โดยแนบสำเนาหนังสือที่มีเลขรับไปด้วย ขอให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 154 วรรคสองต่อไป คือยับยั้งการนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ วัตถุประสงค์เพื่อให้นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิเสธการรับทราบได้ว่าขณะนี้มีคำร้องตามมาตรา 154 (1) แล้วไม่ว่าประธานรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรกับคำร้องนั้นและ/หรือแจ้งมาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบหรือไม่ เนื่องจากในทางทฤษฎีนายกรัฐมนตรียังมีช่องทางตามมาตรา 154 (2) ที่จะใช้วิจารณญาณส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันในอีกทางหนึ่งก็จะไปยื่นหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อให้ทราบด้วยว่าได้มีการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 (1) แล้ว หากนายกรัฐมนตรีนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ ราชเลขาธิการจะได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านประกอบวิจารณญาณต่อไป

ประธานรัฐสภาและ/หรือรองประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจอย่างไรก็สุดแท้แต่กรรม !

แต่หากประธานรัฐสภาไม่พิจารณาคำร้องตามมาตรา 154 (1) และนายกรัฐมนตรีตัดสินใจนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วันตามมาตรา 150 กระบวนการก็จะเป็นไปตามมาตรา 151

จะเป็นช่วง 90 วันสำคัญ !

ด้านหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะดำเนินกระบวนการพิจารณาความผิดตามมาตรา 68 ใน 4 คดีที่ชี้ว่ามีมูลและมีคำสั่งรวมพิจารณาต่อไป อีกด้านหนึ่ง มาตรา 151 เปิดให้กระบวนการภายในของสถาบันประมุขแห่งรัฐมีเวลา 90 วัน

ร่างกฎหมายใดก็ตาม รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านกระบวนการทางรัฐสภาแล้วนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาภายในเวลาไม่นานนัก

แต่ในทางรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงมีเวลาถึง 90 วัน

โดยพิจารณาจากคำในมาตรา 151

"ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่..."

กระบวนการภายในนี้มีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้วในส่วนของสำนักราชเลขาธิการและคณะองคมนตรี

ราชเลขาธิการไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่ใครนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯทันทีโดยไม่มีความเห็น หากแต่จะต้องกลั่นกรองและเสนอความเห็นประกอบ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากราชเลขาธิการแล้วยังมีคณะองคมนตรีที่มีหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิผู้อาวุโสในสาขางานต่าง ๆ จะเห็นมีมีอดีตประธานศาลฎีกาหลายท่าน

ช่วงเวลาภายใน 90 วันนี้ก็จะเป็นกระบวนการภายในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะกลั่นกรองและเสนอความเห็นต่าง ๆ ตามระเบียบปฏิบัติ

ช่วงเวลาภายใน 90 วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเสร็จสิ้นเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กรได้

ก็จะสอดคล้องก่อนเวลาครบ 90 วันตามเงื่อนไขพอดี

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ทางไหน พวกเรายอมรับโดยดุษฎีทั้งสิ้น !

แต่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง โดยเฉพาะกวป. จะยอมรับหรือไม่ ?

ถ้ายอมรับก็จบ

ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่จบ และอาจจะเป็นการเริ่มต้นบทใหม่เล่มใหม่

หากจะเกิดช่วง 90 วันสำคัญในกรณีนี้ก็จะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้ที่เป็นต้นเดือนตุลาคมไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2556 ต่อต้นปี 2557 !
กำลังโหลดความคิดเห็น