xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์ส่วนใหญ่มีความคิดและเชื่อว่าตนเองเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษมีอภิสิทธิ์เหนือเผ่าพันธุ์อื่นที่อยู่ในโลกใบนี้ ดังนั้นมนุษย์จึงปฏิบัติต่อธรรมชาติในฐานะที่เป็นทรัพยากรและเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน ความพึงพอใจ ความสะดวกสบาย และความอยู่รอด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทำลายล้างจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย จนในที่สุดก็เกิดผลกระทบย้อนกลับมาคุกคามการอยู่รอดของมนุษย์เอง

การทำลายล้างธรรมชาติและเผ่าพันธุ์อื่นๆ โดยน้ำมือของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายนับตั้งแต่มนุษย์ได้สร้างอารยธรรมขึ้นมาในอดีตอันยาวไกลจวบจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เผ่าพันธุ์ของสัตว์และพืชหลากหลายชนิดถูกขจัดจนหายสาบสูญไป และเมื่อมนุษย์ได้ทำลายล้างธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงตนเองจนหมดสิ้นแล้ว หายนะก็คืบคลานมาเยือนมนุษย์ และนั่นก็จะทำให้มนุษย์พบชะตากรรมเดียวกับสิ่งที่พวกเขาทำลาย

มีอารยธรรมหลายแห่งในอดีตพบจุดจบ หายสาบสูญไปด้วยเหตุที่ผู้มีอำนาจและประชาชนในสังคมนั้นร่วมกันทำลายล้างธรรมชาติจนกระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของสังคม และเผ่าพันธุ์หายสาบสูญไป เหลือเพียงแต่หลักฐานทางวัตถุบางอย่างที่บ่งบอกว่าเคยมีอารยธรรมเช่นนี้ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ ดังเช่น อารยธรรมของชาวเกาะอีสเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก อารยธรรมเผ่ามายาในทวีปอเมริกากลาง และอารยธรรมขอมในเอเชีย เป็นต้น

ในช่วงที่รุ่งเรือง ชาวเกาะอีสเตอร์สามารถสร้างรูปสลักหินอันใหญ่โตจำนวนมากหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่าครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีมนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีความสามารถสูงและมีโครงสร้างสร้างสังคมที่ซับซ้อนดำรงอยู่ในโลกใบนี้ อะไรคือคำพูดของชาวเกาะอีสเตอร์ที่กำลังโค่นต้นปาล์มต้นสุดท้ายในเกาะ จะใช่ “ต้นไม้สร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้” ดังเช่นผู้มีอำนาจในสังคมไทยปัจจุบันพูดหรือเปล่า ไม่แน่ใจ

แต่ชุดของวิธีคิดของบรรดามนุษย์ที่นิยมทำลายล้างธรรมชาติทั้งหลาย มักคิดว่ามนุษย์มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำลายล้างธรรมชาติได้ หรือ ไม่ก็มีความคิดแบบสุขนิยมปลอบใจตนเองว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีมากมายใช้ไม่มีวันหมด และตำหนิผู้อนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นผู้ถ่วงความเจริญหรือเป็นพวกกระต่ายตื่นตูม

ปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เหนือธรรมชาติ ความหยิ่งยโสในสติปัญญาของมนุษย์ว่าจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดการกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สยบอยู่ภายใต้แบบแผนที่ตนเองกำหนดได้ ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในมายาคติของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยและใช้ชีวิตอย่างประมาทและหากสังคมใดโชคร้ายมีผู้บริหารประเทศวิสัยทัศน์แคบสั้น มองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นมุ่งหวังจะได้รับผลประโยชน์เศรษฐกิจและการเมืองส่วนตนก็ยิ่งทำให้เกิดการกำหนดนโยบายแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่ความหายนะเร็วขึ้น

ภายใต้ความคิดและการปฏิบัติแบบทำลายล้างธรรมชาติของมนุษย์ในปัจจุบัน พอล เทย์เลอร์ นักทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งได้เสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปเพื่อกระตุกความคิดและสำนึกของมนุษย์กระแสหลักว่า

มนุษย์เป็นสมาชิกของชุมชนโลกแห่งสรรพชีวิต เฉกเช่นเดียวกับกับสรรพชีวิตอื่นๆทั้งหมด

มนุษยชาติและสรรพชีวิตประกอบด้วยระบบพลวัตรที่มีความเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกัน

สิ่งมีชีวิตแต่ละสิ่งมี “สาเหตุศูนย์ของชีวิต” ที่ดำเนินไปเพื่อบรรลุสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง

มนุษย์มิได้มีความเหนือกว่าหรือมีอภิสิทธิ์เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ดังนั้นสรรพชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือพืชต่างก็มีสิทธิในการดำรงชีวิตของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน


แม้ว่าแนวคิดของ พอล เทย์เลอร์ดูจะสุดขั้วไปสำหรับคนจำนวนมาก แต่ก็ทำให้เราต้องกลับมาครุ่นคิดและทบทวนถึงความเหมาะสมในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่ และตั้งคำถามว่า การใช้วิธีคิดแบบทำลายล้างธรรมชาติ เพื่อสนองตอบตัณหาและความต้องการทางเศรษฐกิจของมนุษย์อย่างไร้เหตุผลควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

ส่วนวิธีคิดที่ว่ามนุษย์จะสามารถสร้างธรรมชาติใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ถูกทำลายได้นั้นก็เป็นวิธีคิดที่โง่เขลาเบาปัญญา ซึ่งไม่มีหลักฐานและความสมเหตุสมผลทางวิชาการใดรองรับแม้แต่น้อยว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้ สิ่งที่มนุษย์ทำได้อย่างดีที่สุดก็เพียงแค่การเลียนแบบธรรมชาติอย่างฉาบฉวยเท่านั้น หาใช่ความจริงแท้อย่างที่มันเป็นแต่อย่างใด

ภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ดินถล่ม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีคิดแห่งการทำลายล้างธรรมชาติ มักง่าย ฉ้อฉลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ นายทุน และชาวบ้านที่ตกอยู่ในวังวนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์ทั้งหลาย

น้ำท่วมในภาคกลางมิใช้เกิดจากการไม่มีเขื่อน หรือมีเขื่อนไม่พอดังที่นักการเมืองที่ไร้วิสัยทัศน์หลายคนคิด ดังนั้นการสร้างเขื่อนจึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม

สังคมไทยในอดีตมีการดำเนินการรับมือกับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมและคล้อยตามธรรมชาติ ปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ แม้มีภัยพิบัติใดมาก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

แต่เมื่อเราไปรับวิธีคิดของการควบคุมธรรมชาติแบบตะวันตก การมุ่งแต่จะสร้างการเติบโตแบบเศรษฐกิจแบบสิ้นคิด การขยายสิ่งก่อสร้างโดยขาดการพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศโดยรวม จนกระทั่งไปขัดขวางหรือทำลายเส้นทางความกลมกลืนของธรรมชาติ ภัยพิบัติที่เราได้รับนับวันจึงมีแต่จะมากและรุนแรงขึ้น

มีแต่การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปวิธีคิดจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติเสียใหม่ ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองความรอบคอบ อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เรียนรู้อดีตอย่างลึกซึ้ง ใช้การมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม กลมกลืน ยั่งยืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ควรจะได้รับการนำไปพิจารณาอย่างจริงจังสำหรับสังคมไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น