xs
xsm
sm
md
lg

อัด"ปู"ทำสถิติกู้3ล้านล้าน แฉ"ตระกูลชิน"งาบหัวคิวสัญญาไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ปีที่ 1 (ระหว่างวันที่ 23 ส.ค. 54 –23 ส.ค. 55 ) ในวันที่สอง (25 ก.ย.) ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.10 น. โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตลอดการบริหารราชการของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการกู้เงินไปแล้ว 5 ครั้งรวมเป็นเงินกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นสถิติการกู้เงินที่มากที่สุดที่เคยมีประเทศไทยมา อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ในโครงการที่ดำเนินการล่าสุด คือตามโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท พบว่ามีสัดส่วนลงไปในพื้นที่ภาคอีสานเพียงเล็กน้อย หากเทียบก็เหมือนเนื้อข้างเขียง ทั้งที่คนอีสานเลือกผู้แทนจากพรรครัฐบาลมากที่สุดถึง 104 คน และมีปัญหาความเดือดร้อนมากกว่าพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง มีมากกว่า 3.5 หมื่นหมู่บ้าน ขณะที่ภาคเหนือ และภาคกลาง มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพียง 2 หมื่นหมู่บ้าน
นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแนะนำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรับปรุงในเรื่องการเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพราะจากสถิติในเดือนส.ค.55 ที่มีการประชุมสภา 5 ครั้ง พบว่านายกฯได้มาร่วมลงชื่อเข้าประชุม แต่ไม่พบการลงมติในเรื่องต่างๆ ซึ่งที่ประชุมมีการลงมติไปมากถึง 55 ครั้ง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามที่นายกฯระบุว่า จะยึดมั่นระบอบรัฐสภา และให้นำปัญหาต่างๆ มาหารือในสภาฯนั้น นายกฯต้องปรับปรุงตัวเอง นอกจากนั้นแล้วการบริหารของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการฟื้นฟูประชาธิปไตย พบว่ามีการทำเพียงเรื่องเดียว คือ การให้เงินเยียวยาคนเสื้อแดง ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองรายละ 7.5 ล้านบาท
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การทำรายงานแสดงผลงานรอบ 1 ปีของรัฐบาล มีการทำเอกสารรายงานที่ผิด โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัยในปี 2554 ที่ระบุว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการในอดีตไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็นการโยนความผิดให้รัฐบาลก่อนหน้านั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบ
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงผลงานของรัฐบาลว่า ตนขอจัด10 อันดับความล้มเหลวมากที่สุดของผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้ คือ 1. การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง เพราะแพงทั้งแผ่นดิน 2. การปรองดองสมานฉันท์ ต้องแก้ไข ไม่ใช่แก้แค้น 3. คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ยุบโรงเรียน เด็กอ่านหนังสือไม่ออก 4. การปฏิรูปทางการเมือง การออกกฎมายนิรโทษกรรม และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5. การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. การทุจริตโครงการจำนำข้าว 7. การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ 8. การคืนภาษีบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก 9. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15.000 บาท และ 10. การสร้างหนี้ 1 ล้านล้านบาท และจะกู้เพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท
“2ปีที่ผ่านมา เรื่องคุณภาพการศึกษาล้มเหลวอย่างมาก เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งนักเรียนประท้วงอดอาหาร ยุบโรงเรียน เปลี่ยนทรงผม ปิดโรงเรียนให้ครูอบรมวัดธรรมกาย เด็กอ่านหนังสือไม่ออก 8 แสนราย เรื่องแทบเล็ตวันนี้พบความจริง เป็นนโยบายประชานิยม ไม่สนองตอบคุณภาพการศึกษา เปลี่ยนรัฐมนตรีอย่างมาก”นายชินวรณ์ กล่าว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลของการศึกษาที่เห็นปัจจุบันว่า เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่พึ่งจะมี แต่มีมาประมาณ 6-7 ปีแล้ว ส่วนการยุบโรงเรียน ต้องยอมรับว่าโรงเรียนที่เด็กจำนวนน้อย ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาเทียบเด็กจำนวนมากไม่ได้ ส่วนการเปลี่ยนทรงผม หัวเกรียนที่ยังใช้กันอยู่ หลายคนอึดอัดใจ เขาถามเหตุผล ทำไมต้องไว้แบบนั้น ตนดูกฎกระทรวงพบว่า ไม่ได้บังคับให้นักเรียนชายต้องตัดเกรียนแบบนั้น แค่บอกอย่าให้ผมยาวเกินตีนผม และการตัดผมที่อยากตัดรองทรง ก็ตัดได้ แต่บางโรงเรียนไม่เข้าใจ บังคับให้เด็กตัดเกรียน พอมีการร้องเรียน กรรมการสิทธิมนุษยชน ตนจึงไปดูพบว่าสามารถตัดรองทรงได้ และออกกำมาคุ้มครองเด็กๆ เราเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะพยายามให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะบังคับให้เขาทำอะไร เราต้องมีเหตุผลด้วย

** แฉตระกูล“ชินฯ”ฟันหัวคิวสัญญาซื้อไฟฟ้า

นางอานิก อัมระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงผลงานรอบ 1 ปีของรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า มีคณะกรรมการ 2 ชุด สามารถเลือกใบอนุญาต และอนุมัติ ผู้ถือครองใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) โดยมีการเลี้ยงโควตาให้ราคาซื้อขายสัญญาพีพีเอ สูงขึ้น และมีการไปตระเวนขายต่อ ทำให้กำไรอย่างมาก
“มีผู้ประกอบการเล่าว่า มีการเร่ขายในงานสัมมนา และกระทรวงพลังงาน ก็ถ่วงเวลาที่ออกมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทน เพื่อให้มูลค่าสูงขึ้นไป มีการลือกันว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการค้าขายโควตาคือ “ตระกูลชินวัตร” แต่ตนไม่มีหลักฐาน แต่ที่ไม่มีบิล หรือใบเสร็จ ก็ไม่ได้หมายความไม่มีการทุจริต หากนายหน้า สามารถผลักดันจนได้ พีพีเอ จะคิดราคาในการผลักดัน เพื่อเป็นค่าตอบแทน 9 ล้านบาท ต่อเมกะวัตต์ หากเป็น 20 เมกะวัตต์ ก็ 200 ล้านบาท 50 เมกะวัตต์ ก็ 500 ล้านบาท ถือเป็นเงินนอกระบบที่เป็นการทุจริต”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสองมาตรฐาน ในการได้โควตาการในการเปลี่ยนเทคโนโลยี ของพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตระกูลมาลีนนท์ จะได้งานและเปลี่ยนเทคโนโลยีได้ แต่ของคนอื่นไม่ได้ โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นคดีความฟ้องกันในศาลอยู่ขณะนี้ บางบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินได้ ก็ให้ไปบริจาคในมูลนิธิ หรือสโมสรฟุตบอล SWAT ซึ่งชื่อคล้ายผู้มีอิทธิพลเหนือครม.ชุดนี้ ขณะที่ต่างประเทศ ก็ไม่สามารถเข้ามาแข่งขัน เพราะเจอระบบแบบนี้ แม้นายกฯ จะเดินทางไปหลายประเทศ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

**อ้างขึ้นราคาแก๊สไม่กระเทือนคนจน

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ชี้แจงว่า ตนรู้จักกับคนในตระกูลชินวัตรทุกคน ยืนยันได้ว่า ไม่มีใครเป็นนายหน้า เพราะไฟฟ้า 33,000 เมกกะวัตต์ เป็นของเจ้าเดิมทั้งหมด ไม่มีการขับเคลื่อน เอกสารที่นางอานิก นำมาโชว์ ตนดูแล้วไม่ใช่เอกสารที่น่าจะอ้างอิงได้ เพราะตัวหนังสือในตารางไม่น่าจะเป็นตัวบ่งบอก แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง สามารถไปแจ้งความ หรือส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือให้ตน ดำเนินการได้ คิดว่าไม่น่าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการอภิปราย ปัจจุบันการขออนุญาตไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือ โซล่าเซล ตนคอยให้อำนวยความสะดวกทุกรายที่ได้รับอนุญาตให้ทำแผงโซลาเซล แต่ปัญหาอาจจะเกิดที่กระทรวงอื่น ตนไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่กรณีโซล่า ลูฟทอป ที่ให้กับกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเมือง เราให้มีการออกระเบียบใหม่ ให้ผ่อนปรนไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ให้วิศวกรเซ็นรับรองความมั่นคงแข็งแรง ก็สามารถใช้งานได้เร็ว ทำให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว ยืนยันว่า ไม่มีคนแอบอ้างเก็บหัวคิว หากมีมาร้องเรียนกับตนได้จะดำเนินการกับทุกคน
ส่วนการกำหนดเสป็กโซล่าเซลใหม่ จะต้องได้รับประกันโดยบุคคลที่สาม เช่นธนาคาร หรือ บริษัทประกันภัยตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี เพราะอดีตที่ผ่านมา การติดโซล่า ตามชุมชน โรงเรียนต่างๆ มีหลายรายใช้งานไมได้ เพราะอุปกรณ์ขัดข้องเสียหาย จึงอาจจะทำให้ผู้ติดตั้งออกมาโวยวาย แต่เราคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน หากธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเห็นว่า สินค้าของรายใดมีคุณสมบัติตามสเปก ก็จะรับรองให้
ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศว่า จะยกเลิก และพยายามอยู่ แต่พอดีช่วงที่เข้ามาบริหารใหม่ๆ ราคาแอลพีจี มีการขยับราคาสูงขึ้นเพราะเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น โรงงานนิวเคลียร์เสียหาย จึงมีการสั่งซื้อแอลพีจี ไปผลิตไฟฟ้าทำให้ราคาพุ่งขึ้น 1,200 เหรียญต่อตัน กองทุนน้ำมันที่บวกอยู่ 2 หมื่นกว่าล้าน ติดลบทันที 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันก็เหมือนโครงการหนึ่งของรัฐที่เราพยายามจะยกเลิก ช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง พยายามจะขึ้นราคา แอลพีจี แต่มีการต่อต้าน จึงต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ต้นทุนราคาแอลพีจี กับต้นทุนอาหารมีเพียงร้อยละ1 เท่านั้น ดังนั้น เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนตนจึงให้ผู้มีรายได้น้อยใช้แอลพีจีในราคาเดิม โดยดูผู้ใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วย ต่อเดือน เฉลี่ยตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 55 รวมทั้งผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย 7,617,461 ครัวเรือน จากทั้งหมดเกือบ 18 ล้านครัวเรือน เกือบร้อยละ 40 หลังจากให้จดทะเบียนส่งเลขผู้มีสิทธิ์ใช้แอลพีจีไป มีจดทะเบียนเพียง 55,000 รายเท่านั้น
“สาเหตุเพราะคนจนใช้แก็สหนึ่งถัง ประมาณ 3 เดือน โดยแต่ละเดือนขึ้นแค่ 2 บาท เขาไม่เดือดร้อน ทั้งที่มีการแนะนำแล้ว ทุกจังหวัดบอกตรงกัน จึงไม่รู้จะทำอย่างไร เขาบอกว่า การขึ้นค่าแก็สไม่กระทบ แต่ที่วัตถุดิบต่างหากที่กระทบ ต่อค่าอาหาร พืชผัก เนื้อสัตว์ ส่วนคนรวยไม่มีผลกระทบเพราะไม่เดือดร้อน คนที่เดือดร้อยคือ คนที่ขโมยแก็สไปขาย เพราะโครงสร้างต่างกัน ระหว่างแก็สหุงต้ม กับแก็สรถยนต์ ดังนั้นหากจะเลิกกองทุนน้ำมันได้ ราคาแก็สต้องขึ้นไป จนไม่ต้องไปสนับสนุน เพราะทุกวันนี้ ยังต้องเอาเงินจากกองทุนไปชดเชย แอลพีจี วันละประมาณ 100 ล้านบาท ปีละ 4 หมื่นล้านบาท เราหนุนมาแล้วทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นการวางแผนโรดแมปตรงนี้สำคัญที่สุด ส่วนเรื่องดีเซล มีการปล่อยเสรีตั้งแต่สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน ตอนนี้มีการลดภาษีสรรพสามิต เพื่อลดราคาลงมาอยู่ 30 บาท รัฐบาลพยายามคิดว่า จะทำอย่างไรให้ต้นทุนค่าครองชีพถูกลง จึงคิดโครงการรถไฟรางคู่ เพื่อขนส่งสินค้า 2 ล้านล้านบาท เพื่อราคาดีเซลจะได้ขึ้นไปตามปกติท้องตลาด เพราะไทย จะเข้าสู่ AEC ในอีก2 ปีข้างหน้า จะต้องทำตามกติกาสากล" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

**โวยนายกฯ หิ้วช่อง11ไปถ่ายภารกิจตัวเอง

นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้สิทธิประท้วง ที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดการประชุมแถลงผลงานรัฐบาล แต่ไปถ่ายการมอบรางวัล “Prime Minister's Business Enterprise Award”ณ ศูนย์ไบเทค บางนา ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานในการมอบรางวัล จึงมีการเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ประสานไปยัง ช่อง 11 ไม่เช่นนั้นก็จะต้องพักการประชุมเพื่อรอช่อง 11 กลับมาถ่ายทอดใหม่ ซึ่งทาง นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ช่อง 11 ถ่ายทอดสดการประชุมอยู่ตลอดเวลา ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงเกิดเสียงประท้วงจากทางฝ่ายค้านอย่างหนัก
สุดท้าย นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานในที่ประชุม จึงสั่งพักการประชุม 20 นาที เพื่อประสานกับทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 จากนั้น เมื่อเปิดสภาอีกครั้ง นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จะถ่ายทอดสดตลอดเวลา ยกเว้นช่วงข่าวพระราชสำนัก แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลง ตนจึงไม่เข้าใจว่าภารกิจมอบรางวัลของนายกฯ มีความสำคัญมากกว่าการประชุมสภาฯ หรืออย่างไร ซึ่งนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานในที่ประชุม ยืนยันว่าได้มีการประสานกับช่อง 11 ไปแล้ว และกำลังจะกลับมาถ่ายทอดสดการประชุม เมื่อตนขึ้นมานั่งบนบังลังก์ ซึ่งก็ต้องให้เวลาช่อง 11 สักระยะหนึ่งด้วย ตนขอให้การประชุดำเนินต่อไป
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เรามีข้อตกลงระหว่างวิปเอาไว้ชัดเจน ในเรื่องการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านช่อง 11 แต่ตอนนี้กลับมีการละเมิดข้อตกลง การปฏิบัติภารกิจของนายกฯ ในตอนนี้ คือการหนีประชุมสภา ถึงแม้จะบอกว่า เป็นภารกิจที่มีการนัดหมายล่วงหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีการแถลงผลงานทำไม ในเมื่อเราตกลงกันเอาไว้ชัดเจนแล้ว ตนจึงขอคำตอบ นายวิสุทธิ์ จึง กล่าวขอโทษสมาชิกในที่ประชุม และให้ถือว่าเป็นความบกพร่องในการทำหน้าที่ของตน และขอรับผิดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นที่ประชุมจึงเข้าสู่การอภิปรายผลงานของรัฐบาลต่อไป

**อัด"ปึ้ง"ยกสถิติเดินทางไปนอกเป็นผลงาน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ใส่ร้ายว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น และเห็นว่าการนำสถิติการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ มาเป็นผลงานนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เพราะจำนวนประเทศไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จในการทำงาน โดยในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะมีการประเมินความคุ้มค่าของผลลัพธ์ ที่จะได้ต่อประเทศ ถ้าเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็จะปฏิเสธ ไม่เดินทางไป เพราะการไปเยือนต่างประเทศของผู้นำรัฐบาลนั้น ไม่ใช่การสะสมไมล์การบิน และไม่ใช่การไปทำสถิติว่า ไปในที่ที่ผู้นำคนอื่นยังไม่เคยไป โดยหลายครั้งนายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจไม่ไปตามคำเชิญ เพราะไม่คุ้มค่าที่จะสละเวลาไปต่างประเทศ เนื่องจากต้องใช้เวลาแก้ปัญหาภายในประเทศก่อน เป็นการบริหารงานที่มีการจัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น มีความวุ่นวายทางการเมืองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติด้วย แต่รัฐบาลนี้พยายามเอาการตลาดมานำการต่างประเทศ และมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับตัวเลขการส่งออก อ้างว่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เป็นความสำเร็จจากการเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเอาการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น คือเอาทั้งนำเข้า และส่งออก มาบวกกัน ซึ่่งตนไม่อยากเชื่อว่ามันสมองของ รมว.ต่างประเทศจะคิดได้แค่นี้ เพราะการนำตัวเลขดังกล่าวมาแสดงยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้นในขณะที่การส่งออกลดลง ดังนั้นการเดินทางของนายกรัฐมนตรีเท่ากับไปซื้อสินค้าประเทศอื่นเข้ามา ไม่ใช่ไปขายสินค้าให้กับประเทศไทย
“ผมยืนยัน นายอภิสิทธิ์ได้รับการยอมรับ และความน่าเชื่อถือ เช่น การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้รับเกียรติในการกล่าวปาฐกถา และดูแลอย่างสมเกียรติ แต่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในปีนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับไม่เดินทางไป ทั้งที่เป็นงานที่ผู้นำรัฐบาลควรไป แต่กลับปล่อยให้ รมว.ต่างประเทศไป ถือเป็นการผิดประเพณี ซึ่งผมคิดว่า เป็นเรื่องน่าแปลก งานที่ควรไปไม่ไป แต่กลับไปเวทียิบย่อย แล้วเอามาอ้างเป็นผลงาน ดังนั้นเรื่องการต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างแน่นอน”นายชวนนท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น