xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านอัดยับ ผลงานรัฐ1ปี สอบตกทุกด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    ASTVผู้จัดการรายวัน- “ยิ่งลักษณ์”แถลงผลงาน1 ปี แก้ตัวทัวร์ต่างประเทศ ต้องการโชว์ประชาธิปไตยไทย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อ้างน้ำท่วมทำให้การบริหารประเทศชะงัก  “โต้ง”โวเข้ามาบริหาร ทำเศรษฐกิจดี เป็นหนี้ลดลง  ด้าน“มาร์ค”นำทีมถล่ม ยกตัวเลขตบหน้า 2 ปีทำนโยบายทุกด้านเหลว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยทรุดฮวบ ก่อภาระหนีท่วมหัว แพงทั้งแผ่นดิน ทำนายการเติบโตของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 2  เย้ย “ปู”อวดความพร้อมก้าวเข้าสู่ เออีซี แต่ไทยรั้งอันดับ 8  ด้านการศึกษา จวกมาอวดอ้างผลงานสร้างความปรองดอง แต่ยังปล่อยสาวกคุกคามคนเห็นต่าง พร้อมสงวนพูดเรื่องทุจริต ในญัตติซักฟอก

    วานนี้ (24 ก.ย.)  ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่ 1  (วันที่ 23 ส.ค.44 ถึงวันที่ 23 ส.ค.55 ซึ่งค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 27 วันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย.56)  

     โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลนี้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54  บนบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังคงมีอยู่  และมีปัญหาในเรื่องของอุทกภัยครั้งใหญ่  ส่วนความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น ก็ยังมี  ทั้งด้านของโครงสร้างพื้นฐาน  สาธารณูปโภค ในส่วนของคมนาคม การศึกษา สาธารณสุข และสังคม  ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนนั้นได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำ   

    ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 3 .5 แสนล้านบาท ที่จะแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  เพื่อความมั่นใจของนักลงทุน  โดย มีการจัดตั้ง กบอ. เพื่อทำให้เป็นศูนย์วิเคราะห์ ในการสั่งการให้เป็นจุดเดียว รวมถึงการปรับปรุง บูรณาการข้อกฎหมายต่างๆ  ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้  ซึ่งถ้าดูจาก จีดีพี จะเห็นว่า ตัวเลขการเติบโตของ จีดีพี ในปี 54 ขณะที่เกิดวิกฤตนั้น ก็ถดถอยลงไปประมาณ 0.8 ถึงร้อยละ 0.9 แต่ภาพรวมประมาณ 3-6 เดือน จีดีพี  ก็จะอยู่ประมาณร้อยละ  6 กว่าๆ ในปี 55
“ด้วยการที่ประเทศไทย ต้องฟื้นฟูวิกฤตหลังเกิดปัญหาอุทกภัย เวลาของรัฐบาลที่ควรจะต้องแก้ปัญหานั้น ก็หายไปแล้ว  ประมาณ 5- 6 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็ยังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในการสร้างความเชื่อมั่น และเริ่มมีเรื่องของนโยบาย 16 ข้อ ที่ได้มีการแถลงไว้ต่อรัฐสภาออกมา”

     ส่วนด้านการต่างประเทศ  รัฐบาลได้เร่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศอาเซียน หรือพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งวันนี้อัตราการเติบโตของการค้าระหว่างอาเซียน ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น   ขณะเดียวกันในกลุ่มต่อไป ก็ได้มีเยือนในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เพื่อที่กระชับความสัมพันธ์ และรักษาฐานาให้คงอยู่ และในการหารือที่จะเพิ่มจำนวนตัวเลขของการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนให้สูงขึ้น นอกจากนั้น ได้เปิดฐานใหม่ อย่างเช่น กลุ่มประเทศแถบแอฟริกา
ส่วนในเรื่องของการเยือน หรือการสร้างความเชื่อมั่น อีกหลายๆ ประเทศ เพราะต้องการการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยของ ประเทศไทย และกระบวนการต่างๆ ของประเทศ ว่ามีความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น เพื่อเสริมสร้าง จุดยุทศาสตร์ของประเทศ

“โต้ง”โวเข้ามาบริหารทำศก.โต
    นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินนโยบายแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3-4 ปี โดยปี  54 ขาดดุล 4  แสนล้านบาท เมื่อรัฐบาลเข้ามา ตั้งใจจะทำให้ขาดดุลลดลง แต่เพื่อต้องการจัดทำงบประมาณชดเชยเงินคงคลังที่ติดลบมาก่อนหน้า จำนวน 5 หมื่นกว่าล้านบาท รัฐบาลก็ดำเนินการให้มีการขาดดุลลดลง ในปีงบประมาณ 56 จาก 4 แสนล้านบาท เป็น 3 แสนล้านบาท และงบปี 57 ขาดดุลลด 2.5 แสนล้านบาท  หากนำไปเทียบจีดีพี ของประเทศ ถือว่ามีระดับน้อยกว่า ร้อยละ 2  ซึ่งมีน้อยประเทศในโลกที่สามารถทำได้  

    สำหรับกรอบวินัยการคลัง อยู่ที่ร้อยละ 60 ของจีดีพี  เป็นระดับที่กำหนดก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เราได้วางแผนบริการรายรับ และกู้เงินต่างๆ ก็จะสามารถควบคุมหนี้สาธารณะ ให้อยู่ในระดับไม่สูงเกินร้อยละ 50 จะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในหลังปี 60  ขณะที่การชำระดอกเบี้ย และเงินต้น ไม่ควรเกินร้อยละ 15 ของงบประมาณประจำปี

    “ช่วงที่รัฐบาลบริหารงานต่อเนื่อง อัตราจ้างงานอย่างต่อเนื่อง การว่างงานต่ำมาก และทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดี  การส่งออกมีปัญหาทั่วโลก แต่เราส่งเสริมการท่องเที่ยว จากเดิมไม่ถึง 20 ล้านคนต่อปี ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวมากถึง 22 ล้านคนต่อปี ในปี 55  นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททำได้ ประกาศจนเป็นผลสำเร็จ สินค้าเกษตรเราทำให้รายได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งปรับเงินเดือนข้าราชการ  15,000 บาท” รองนายกฯ กล่าว  

ฝ่ายค้านชี้สอบตกทุกนโยบาย
    ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าววิจารณ์ผลงานของรัฐบาลในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ว่า สถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ (ไอเอ็มดี ) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประเมินการแข่งขันขีดความสามารถของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอันดับโดยรวม หรือสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ หรือโครงสร้างทางพื้นฐาน ไม่มีข้อไหนที่อันดับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 56 ดีกว่า ปี 53 ตรงกันข้าม อันดับได้ตกลงทุกด้าน ตนต้องการเปรียบเทียบข้อมูลในปี 56 เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เนื่องจากปี 55 มีวิกฤตน้ำท่วม

    นอกจากนี้ การที่นายกฯ อ้างถึงความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเทียบอันดับกับประเทศต่างๆ  แต่จะเห็นว่าความพร้อมของไทย ทุกอันดับไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ถ้าเทียบกับทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน แม้อันดับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในเกณฑ์ดี (ลำดับที่ 31) โครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 47 ที่รัฐบาลมักจะอ้างว่าจำเป็นต้องเร่งแก้ไข ต้องแก้ไขลงทุน แต่หากดูจาก 148 ประเทศ ที่มีการพูดถึงโครงสร้างสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจไทยอยู่อันดับที่ 78 ขณะที่สาธารณสุข และการศึกษาอยู่ที่อันดับ 81 ดังนั้นจุดอ่อนของไทยยังไม่ได้รับความสำคัญในการแก้ไข

                    การที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศไทยขาดเรื่องการสร้างถนน และระบบราง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 42 และ 72 แต่ ลำดับการศึกษาอยู่ที่ 78 จุดอ่อนของปัญหาศักยภาพการแข่งขัน อยู่ในโครงสร้างการจัดการบริหารของภาครัฐทั้งสิ้น เช่น มีการใช้เงินทุนสาธารระไปในทางที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ ที่ไทยอยู่ในอับดับ 101 ความไว้วางใจของประชาชน ต่อนักการเมือง อยู่ที่ 127 การใช้จ่ายภาครัฐที่สูญเปล่า อันดับที่ 107  และความน่าเชื่อถือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อับดับที่ 109

    ดังนั้นหากเป้าหมายของรัฐบาล ต้องการเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงจะต้องมีการปรับแก้สิ่งเหล่านี้ให้ตรงจุด
 นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนโยบายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย หรือขยายโอกาส แต่กลับพบว่าการขยายตัวการส่งออกในปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 28 ลดลงมาเป็นร้อยละ 17.2 3.1และ 0.6 สะท้อนให้เห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอยลง และการส่งออกไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่วนการขยาดตัวรายได้ประชาชาติโดยรวมในปี 53 เติบโตร้อยละ 7.8 มาทรุดลงในช่วงน้ำท่วมปี 54 เหลือร้อยละ 0.1 และเพิ่มขึ้นมาในปี 55 เป็นร้อยละ 6.5 แต่ปี 56 กลับมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 4.1 ซึ่งถือว่าอยู่ในการประมาณการณ์ที่ค่อนข้างสูง  เพราะหลายหน่วยงานออกมาวิเคราะห์ว่า หลังจากนี้อาจจะอยู่เพียงร้อยละ 2 และหากดูแนวโน้มเป็นรายไตรมาส จะพบว่า 2 ไตรมาสแรก เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ ในทางเทคนิคถือว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะการถดถอย ถือเป็นตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานว่า ผลการบริหารเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

    นอกจากนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมยังลดลงด้วย ทั้งที่ในข้อเท็จจริงหากเศรษฐกิจขยายตัวน้อยดุลการค้านบัญชีเดินสะพัดจะต้องดีขึ้น ก่อนหน้านี้ไทยเคยเกินดุลอยู่ร้อยละ 3.1  กลับถดถอยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และลงมาเป็นร้อยละ 0.7 ในปีล่าสุด แสดงให้เห็นว่าจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยที่เกินดุลมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะที่เงินสำรอง หนี้ต่างประเทศ มีแนวโน้มที่ต้องเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขหนี้สาธารณะขณะนี้กระโดดขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 44.3 ซึ่งยังไม่รวมการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือ 2 ล้านๆบาทที่กำลังจะกู้เพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า 2 ปีแรก และต่อเนื่องมาของรัฐบาลมีความพยายามที่จะทุ่มเทเงินของภาครัฐลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเห็นว่า ไม่ได้ผล แต่กลับสร้างผลกระทบให้กับประชาชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แนวคิดของรัฐบาลที่จะดำเนินการให้มีวินัยการเงินการคลัง ถือเป็นพันธะข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ด้วย ส่วนนโยบายเร่งด่วนข้อ 7 ที่รัฐบาลแถลงว่า จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ ต่อสภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ 2 ปีที่ผ่านมา มีแต่พูดถึงปัญหาของแพง คำมั่นสัญญาที่ปรากฏในนโยบายหาเสียงและสิ่งที่รัฐบาลควบคุมหรือตัดสินใจได้ แต่วันนี้รัฐบาลได้ซ้ำเติมประชาชนในเรื่องภาระค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ที่แถลงนโยบายว่า จะยกเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งแปลว่าเบนซิน 95 จะต้องอยู่ที่ 39 บาท แก๊สโซฮอลล์ 91 อยู่ที่ 31 บาท แก๊สโซฮอลล์ 95 อยู่ที่ 37 บาทและดีเซลอยู่ที่ 27 บาท แต่ราคาปัจจุบันทุกตัวแพงกว่าคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้   จนเป็นภาระให้กับประชาชน แม้แต่อัตราค่าไฟฟ้าหลังจากที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานแรกก็มีนโยบายประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยลดเหลือ 50 หน่วย ทำให้ประชาชน 4 ล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบและล่าสุดมีการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นหน่วยละ 7 สตางค์ ส่วนราคาแก๊สเอ็นจีวีรัฐบาลปรับขึ้น 4 ครั้ง ขยับจาก 8.50 บาท เป็น 10.50 บาทต่อกิโล แอลพีจี ปรับจาก 11.30 บาทต่อลิตร เป็น 12.80 บาท และที่สำคัญมีการปรับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.กิโลกรัมละ 50 สตางค์ หรือ 7.50 บาทต่อถัง และจะทำอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี จะทำให้แก๊ส 1 ถัง มีราคาสูงถึง 300 บาท  นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงราคาสินค้าขายส่งที่ตลาดไทมีมีการเทียบเป็นหมวดหมู่ตั้งแต่เดือน ส.ค.54-ก.ค.56 ทุกหมวดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 อาทิ ราคาผักเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ผลไม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เนื้อสัตว์แพงขึ้นร้อยละ 20.9 สินค้าบางอย่างราคาเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
“ส่วนรายได้ของประชาชน แม้รัฐบาลมีนโยบายค่าแรง 15,000 บาท ในระบบราชการ แต่โครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่ผู้ใช้แรงงาน ตัวเลขล่าสุด ที่เป็นมหภาคบ่งบอกว่ากำลังซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้มาจากการส่งออก แต่มาจากปัญหาการบริโภค และต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นการลงทุนที่อยู่ในขาลงอย่างน่าตกใจ  แม้จะมียุทธศาสตร์อัดเม็ดเงินลงไป ในกระเป๋าของประชาชน แต่กำลังการซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น ตรงกันข้าม หนี้สิ้นกลับเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้ ครัวเรือน หนี้เกษตรกร ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับหนี้สินของรัฐบาล ส่วนนโยบายภาคการเกษตรที่บอกว่าจะยกระดับราคาสินค้าให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งลงทุน     แต่วันนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ยังมีการชุมนุมอยู่ที่ภาคใต้ เพราะปัญหาราคายางตกต่ำ  นับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา
ขณะที่วิธีการการจำนำข้าว ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่  เป็นเพียงการรับซื้อข้าวให้รัฐเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่รายเดียวในประเทศ  ส่งผลให้ยอดขาดทุนทั้ง 3 ฤดูกาล รวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ ธกส. ประมาณ 257,000 ล้านบาท เท่ากับเอาเงินไปช่วยชาวนาเพียง 50 สตางค์ จนสร้างปัญหาให้ระบบการเงินการคลังของประเทศ จนขณะนี้ นายกฯไม่กล้าพูดว่าโครงการจำนำข้าว มีวงเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เพราะได้ใช้เกินไปแล้ว และขาดทุนปีละ 150,000 -200,000 ล้านบาท ทำให้ยืนยันว่าสิ่งที่นายกฯพูดว่า จะสามารถทำให้งบประมาณสมดุลได้ภายในปี 2560 ไม่เป็นความจริง ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียการส่งออกข้าวอันดับหนึ่งในตลาดโลก ในปีนี้ ตกอยู่อันดับ 3 ส่งออกแค่ 7 ล้านตัน ที่ยังไม่รวมถึงปัญหาคุณภาพข้าว ที่ทั้งหมดนี้กำลังทำลายตลาด และอนาคตของข้าวไทย ถือว่าไม่เป็นไปตามโจทย์ที่รัฐบาลวางไว้เรื่องความสมดุลหรือความเข้มแข็งในการบริหารเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนวิธีคิดเศรษฐกิจใหม่ นโยบายประชานิยมไม่ได้เพิ่มความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกลับกำลังสร้างความเสี่ยงในเรื่องของวินัยการเงินการคลัง การสะสมหนี้ต่อครัวเรือนและประเทศ
ส่วนที่นายกฯพูดถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่กลับพบว่ามีการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ8  มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีหลายครั้ง มีการพูดถึงนโยบายใหม่ๆ เมื่อจะนำพาประเทศเป็นหนี้50 ปี ตนแปลกใจว่าทำไมไม่มีแม้แต่บาทเดียวมาลงทุนในเรื่องการศึกษา
ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน และการเมือง ภาระผูกพันรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 บอกว่าต้องบริหารราชการแผ่นดินตามหลัก นิติธรรม และ มาตรา 82 รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อกันเสมอภาค และต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในรายงานมีพูดถึงเรื่องปรองดองแต่ไม่มีการดำเนินตามที่แถลงไว้ ในเรื่องการสนับสนุนในการนำรายงานคอป. มาใช้ และที่สำคัญสิ่งที่พยายามผลักดันตลอดเวลาโดยคนของรัฐบาลคือกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องคำนึงถึงข้อท้วงติงของสหประชาชาติเรื่องพันธะผูกพันในส่วนสิทธิ์มนุษยชน และความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นไปตามพันธะของรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิบัติเสมอภาคกัน  หากยังมีการเลือกปฏิบัติ ทั้งการพัฒนา และเรื่องเสรีภาพทางการเมืองความปรองดองก็เกิดขึ้นไม่ได้ นโยบายที่แถลงว่าสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตย ถ้านายกฯยังปล่อยให้รองนายกฯไปพูดว่าจะไม่พัฒนาให้บางจังหวัดหากยังไม่เลือกคนของตนเอง หรือยังมีคนไปก่อกวนองค์กรต่างๆหรือฝ่ายเห็นตรงข้าม  ก็ปรองดอง สามัคคียาก
ส่วนนโยบายข้อ 5 เร่งนำสันติสุขมาสู่ภาคใต้ โดยเขียนว่ามีการประสานงานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านมา2 ปีแล้ว ตกลงโครงสร้างจะเอาอย่างไร มีกฎหมาย ศอ.บต. แล้วกลับไปตั้งโครงสร้างให้มันซับซ้อนกันไปมา ปล่อยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ รัฐมนตรี พูดไปคนละทิศทางนั้น  จะเห็นว่า 6 เดือนแรกของปี 56 ความถี่ของความไม่สงบ มีแนวโน้มสูงมาก ถึงเวลาที่ต้องทบทวน ถ้ายังเดินต่อไปในแนวทางนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะสามารถนำความสงบสันติสุขกลับมาได้อย่างไร
ส่วนการกระจายอำนาจ สัดส่วนงบประมาณของท้องถิ่นต่อรายได้ รัฐบาลขยับขึ้นน้อยมากในภาวะที่ควรขยับขึ้นได้มากกว่านี้ สะท้อนว่าหลังจากปีแรกที่กำหนดทิศทางการบริหารในด้านต่างๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บ่งชี้ว่าต้องกลับไปทบทวน เพราะตัวเลขต่างๆมันฟ้องว่าไม่ประสบความสำเร็จ  ส่วนเรื่องนโยบายการปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ  ตนจะขอไปสงวนสิทธิ์ พูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
 
ผู้กองปูเค็ม นำปชช.ฟังปูแถลงผลงาน 1 ปี
    ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม ตัวแทนกลุ่มกองทัพนิรนาม ซึ่งได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มประชาชนรักษาผลประโยชน์ของชาติ ที่หน้ารัฐสภา เพื่อร่วมคัดค้าน ต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะแสดงผลงานครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้จะเป็นการออกมาเชิญชวนประชาชน ออกมาขับไล่รัฐบาล เพราะตลอดการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีโครงการใดที่ประสบความสำเร็จตามที่ได้เสนอไว้  แต่กลับพบว่า มีการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างมาก โดยหากประชาชนให้ความร่วมมือในการขับไล่เป็นจำนวนมาก จะพิจารณาเพื่อปักหลักค้างคืน จนกว่าจะไล่รัฐบาลสำเร็จ
 ต่อมาเวลา 14.30น.  ร.อ.ทรงกลด พร้อมด้วยประชาชนประมาณ 20 คน เดินทางเข้ามาที่อาคารรัฐสภา เพื่อร่วมเข้าฟังการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาล โดยมี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้รับรอง แต่กว่าจะเข้าสู่อาคารรัฐสภาได้ ก็มีความพยายามจากทีมรปภ. ของนายกรัฐมนตรี มาเจรจากับตำรวจรัฐสภา เพื่อไม่ให้อนุญาตให้เข้าฟัง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้  เนื่องจากการเข้ามารับฟังการประชุมสภาฯ เป็นเรื่องทั่วไปที่ประชาชนสามารถจะเข้าร่วมรับฟังได้ ทำให้ทีมรปภ.นายกรัฐมนตรี กว่า 10 คน ลงมาสังเกตการณ์ และแสดงสีหน้าไม่พอใจ รวมทั้งสั่งให้ตำรวจรัฐสภา ตรวจค้นผู้กองปูเค็ม และประชาชนที่เดินทางมาด้วย อย่างละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น