xs
xsm
sm
md
lg

คุณภาพนักการเมือง ตำรวจ และรัฐบาล : ภาพสะท้อนจากผลการวิจัยระดับนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ระยะนี้มีการเปิดเผยรายงานวิจัยเชิงสำรวจระดับนานาชาติชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมรรถภาพการแข่งขันของประเทศต่างๆ คณะผู้วิจัยศึกษาใน 144 ประเทศทั่วโลก และนำผลการศึกษาของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันเพื่อจัดลำดับสมรรถภาพการแข่งขันระดับโลก รายงานวิจัยฉบับนี้ใช้ชื่อว่า “รายงานสมรรถภาพการแข่งขันระดับโลก 2012-2013” บรรณาธิการในการจัดทำรายงานคือ ศาสตราจารย์ Klaus Schwab องค์กรที่จัดพิมพ์รายงานชื่อ “เวทีเศรษฐกิจโลก” (World Economics Forum-WEF)

ผมเลือกผลการวิจัยบางประเด็นด้านการเมืองและการบริหารที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมาวิเคราะห์ ตีความ และตั้งข้อสังเกตบางประการในบทความชิ้นนี้

ก่อนอื่น เราเริ่มจากการดูผลการศึกษาในภาพรวม ซึ่งระบุว่า “ดัชนีสมรรถภาพการแข่งขันระดับโลก” (GCI) ของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 38 จาก 144 ประเทศ โดยได้คะแนน 4.5 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน เมื่อเทียบกับคะแนนจากการสำรวจสองครั้งก่อน ปรากฏว่ามีคะแนนเท่ากัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คือได้ 4.5 คะแนนตลอดมา ในส่วนของลำดับการแข่งขันก็เช่นเดียวกันกับเมื่อสองปีที่แล้ว (2011-2012) คืออยู่ที่ลำดับ 38 จาก 142 ประเทศ และปีก่อนหน้านั้น (2010-2011) อยู่ลำดับที่ 39 จาก 139 ประเทศ

WEF กำหนดองค์ประกอบของการประเมินสมรรถภาพการแข่งขันเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ 3 มิติคือ มิติที่ 1 ความจำเป็นพื้นฐานมี 4 ด้านได้แก่ ด้านสถาบัน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับมหาภาค และด้านสาธารณสุขและการศึกษาระดับพื้นฐาน มิติที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพมี 6 ด้าน ได้แก่ การศึกษาระดับสูงและการอบรม ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน การพัฒนาตลาดการเงิน ความพร้อมทางเทคโนโลยี และขนาดของตลาด และมิติที่ 3 นวัตกรรมและปัจจัยที่ซับซ้อนมี 2 ด้าน ได้แก่ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ และ นวัตกรรม

เมื่อเปรียบเทียบลำดับของด้านต่างๆ ปรากฏว่า ด้านขนาดของตลาดได้ลำดับดีที่สุดคือ ลำดับที่ 22 รองลงมาคือ ด้านสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจอยู่ลำดับที่ 27 ส่วนด้านที่แย่ที่สุดคือความพร้อมทางเทคโนโลยี ได้ลำดับที่ 84 แย่รองลงมาคือ ด้านสาธารณสุขและการศึกษาระดับพื้นฐาน ได้ลำดับที่ 78 ด้านที่แย่ตามมาอย่างใกล้ชิดคือด้านสถาบันภายในสังคม ได้ลำดับที่ 77 และด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงานได้ลำดับที่ 76

ด้านที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ด้านสถาบันภายในสังคมซึ่งมีอยู่ 22 ตัวชี้วัด มีตัวชี้วัดสำคัญ 3 ตัวที่ได้ลำดับแย่มากๆหรือ ลำดับร้อยกว่าขึ้นไปซึ่งถือว่าเป็นลำดับโหล่ก็ว่าได้ ตัวแรกคือ ต้นทุนทางธุรกิจเกี่ยวกับการก่อการร้าย ได้ลำดับที่ 115 ตัวที่สองคือ ความไว้วางใจของสาธารณะต่อนักการเมือง ได้ลำดับที่ 107 และตัวที่สามคือ ความเชื่อถือได้ในการทำหน้าที่ของตำรวจ ได้ลำดับที่ 101

การที่ประเทศไทยถูกมองว่ามีต้นทุนทางธุรกิจเกี่ยวกับการก่อการร้ายสูง อาจมีสาเหตุสำคัญจากสองเรื่อง เรื่องแรกคือ การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ยกระดับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากภายในประเทศไปสู่สากล โดยให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในการจัดเวทีเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนของฝ่ายก่อความไม่สงบ เมื่อรัฐบาลไทยดึงต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภายในประเทศ จึงทำให้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจายและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในระดับสากล ผู้ตอบแบบสำรวจจึงรับรู้ข่าวเรื่องนี้กันทั่วหน้า จึงประเมินว่าหากจะมาลงทุนในประเทศไทยคงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสูง และทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

สำหรับเรื่องที่สองนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นการตีความเกี่ยวกับภาพเหตุการณ์การเผาบ้านทำลายเมืองในกรุงเทพมหานครซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่บริษัทเอกชนหลายแห่ง ข่าวสารเรื่องนี้ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนโดยยังไม่เลือนหายไป และที่สำคัญคือแกนนำกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายคนกลายเป็นผู้มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของประเทศไทย จึงอาจทำให้เกิดความระแวงได้ว่าบุคคลเหล่านั้นอาจจะกระทำพฤติกรรมเดิมซ้ำอีก และส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

ประเด็นต่อมาคือ “ความไว้วางใจของสาธารณะต่อการนักการเมือง” ผลการสำรวจเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงคุณภาพอันย่ำแย่ของนักการเมืองไทย เราลองมาทบทวนดูซิว่านักการเมืองไทยมีคุณลักษณะเด่นอะไรบ้างที่ทำให้สาธารณะไม่ไว้วางใจ ลักษณะแรกน่าจะเป็น การแสดงความผิดพลาดในการพูดและการเขียนเรื่องง่ายๆหลายครั้งหลายคราว ทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ ที่สำคัญคือผู้แสดงความผิดพลาดนี้เป็นนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกระทำผิดซ้ำซากในเรื่องง่ายๆแบบซ้ำซากย่อมสะท้อนถึงความจำกัดทางปัญญาของผู้กระทำอย่างชัดเจน จนกระทั่งได้รับสมญานามประจำตัวที่คนในสังคมรับรู้กันโดยทั่วไป

ลักษณะที่สองคือ การขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เมื่อทำผิดพลาดแล้ว นักการเมืองไม่เคยยอมรับผิด ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือขอโทษประชาชน สิ่งที่สาธารณะรับรู้คือการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ “แบบโกหก” ทั้งสีขาว สีเทา และสีดำ ผสมปนเปกันไป

ลักษณะที่สามคือ การเป็นผู้รับใช้ หรือขี้ข้าแก่นักโทษหนีคุกซึ่งเป็นนายทุนของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการมีตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ พฤติกรรมที่นักการเมืองเหล่านี้แสดงออกมาจึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและเจ้านายเท่านั้น และลักษณะที่สี่ คือ การไม่ซื่อสัตย์ ไร้สัจจะ ปราศจากจริยธรรม กระทำทุจริตประพฤติมิชอบจนเป็นปกติวิสัย ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้เองจึงทำให้สาธารณะไม่ไว้วางใจนักการเมืองไทย

สำหรับประเด็นถัดมาคือ “ความไม่ไว้วางใจของสาธารณะต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ” อันเกิดจากการที่ ผู้คนจำนวนมากรับรู้จากประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมว่าตำรวจไทยส่วนใหญ่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม รับใช้นักการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่แยกแยะสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน กลั้นแกล้งฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล มีข่าวเกี่ยวการรีดไถประชาชนปรากฏในสื่อมวลชนเป็นประจำ ร้ายกว่านั้นคือบางคนเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเสียเอง กระทำกิจการที่ผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด เป็นมือปืน และใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนประชาชนเกิดความรู้สึกว่า “เมื่อใดมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อนั้นความทุกข์ยากจะตามมา” เหตุการณ์ล่าสุดคือการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและทำร้ายประชาชนชาวสวนยางในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่กำลังชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

ส่วนตัวชี้วัดที่ได้ลำดับแย่รองๆลงมาเป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับเรื่องนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลใน 4 ประเด็น คือ ความโปร่งใสในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ได้ลำดับที่ 89 การเล่นพรรคเล่นพวกของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ลำดับที่ 86 ความเบี่ยงเบนในการใช้งบประมาณแผ่นดิน ได้ลำดับที่ 82 และการกินสินบาทคาดสินบนได้ลำดับที่ 80

ลำดับของประเด็นเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการป่วยหนักของรัฐบาลไทย ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญคือขาดความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย ดังจะเห็นได้จากการกำหนดและการบริหารนโยบายจำนำข้าวที่เต็มไปด้วยความมืดดำ ไม่อาจตอบคำถามสังคมได้โดยเฉพาะการขายข้าว แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมแบบอัปลักษณ์ และการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อทำโครงการด้านคมนาคม ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นมาโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้เงินจากรัฐสภาและประชาชน อันจะนำไปสู่การใช้เงินแผ่นดินอย่างเบี่ยงเบนจากหลักการงบประมาณที่ถูกต้อง และเปิดช่องทางสร้างโอกาสให้เกิดการทุจริตอย่างบูรณาการในทุกระดับอย่างขนานใหญ่

การวิจัยเชิงสำรวจของ WEF ครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดยคณะนักวิชาการชาวต่างชาติและพวกเขาสำรวจถึง 144 ประเทศ มีการอธิบายถึงระเบียบวิธีในการวิจัยอย่างชัดเจนมีความน่าเชื่อถือและถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลการวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยจึงเป็นหลักฐานอย่างหนักแน่นว่า ประเทศไทยมีนักการเมืองและตำรวจที่คุณภาพต่ำมากๆ รวมทั้งมีรัฐบาลที่ขาดความโปร่งใสในการกำหนดและบริหารนโยบาย เต็มไปด้วยพฤติกรรมเบี่ยงเบน เล่นพรรคเล่นพวก และทุจริตในการใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นหากไม่เร่งรีบปฏิรูปประเทศจัดระเบียบรัฐบาล นักการเมือง และตำรวจเสียใหม่ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสมรรถภาพการแข่งขันของประเทศไทยคงตกต่ำต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จนยากที่จะเยียวยาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น