ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ยากที่จะมีใครเชื่อ หากจะบอกว่าการเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปประเทศมอนเตเนโกรเพื่อลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างสองประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการที่ นช.ทักษิณ ชินวัตรได้สัญชาติเป็นพลเมืองของประเทศนี้
เห็นได้ชัดว่า การทำความตกลงงดเว้นวีซ่ากับมอนเตเนโกรถูกนำเข้า ครม.อย่างเร่งรีบ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และมอนเตเนโกร ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย.
นายหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.วันที่ 10 ก.ย.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมอนเตรเนโกรว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางการทูตและราชการไทยและมอนเตรเนโกร โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีสัญชาติมอนเตเนโกรแต่อย่างใด
ขณะที่เอกสารกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากนายกฯ มีกำหนดการเยือนมอนเตเนโกร ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ย. ซึ่งจะมีการลงนามข้อตกลงดังกล่าว
วันต่อมา 11 ก.ย.นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านวิดีโอคลิปในยูทิวบ์ว่า การตัดสินใจเดินทางเยือนมอนเตเนโกรนั้น เพราะทางมอนเตเนโกรได้มีการเชิญประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อีกทั้งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยมีนายกฯ เดินทางเยือนประเทศดังกล่าวเลย
นายสุรนันท์อ้างว่า มอนเตเนโกรเป็นประเทศใหม่ที่มีศักยภาพสูงทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว และสามารถไปลงทุนทำธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นเมื่อประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวรวมถึงด้านอุตสาหกรรมอาหารก็ถือว่ามีลู่ทางในการลงทุน
นายสุรนันทน์ กล่าวถึงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทยและมอนเตเนโกร ว่า เป็นเรื่องปกติในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปโดยง่ายเพื่อให้การไปมาหาสู่กันมีความสะดวกมากขึ้น
“ไม่มีกรณีพิเศษของประเทศมอนเตเนโกรอย่างที่มีความพยายามสร้างข่าว หรือคิดจินตนาการต่างๆ เอาว่า จะทำเพื่อคนนั้นคนนี้” นายสุรนันทน์กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าเฉพาะหนังสือเดินทางราชการและทางการทูตระหว่างสองประเทศ แม้จะเป็นเรื่องปกติแต่จะต้องดูความสำคัญของประเทศด้วยว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าเซ็นแล้วเราไม่ได้ประโยชน์ รัฐบาลต้องอธิบายทำไมเลือกมอนเตเนโกร เพราะไทยไม่มีการดำเนินการลักษณะนี้กับประเทศแถบยุโรปตะวันออก และมอนเตเนโกรเป็นประเทศเล็กประมาณปลายด้ามขวานไทย มีพลเมือง 6.6 แสนคน ปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทย 211 คน มูลค่าการค้าระหว่างไทย-มอนเตเนโกร ประมาณ 210 ล้านบาท ไทยนำเข้าในปี 54 จากมอนเตเนโกร 9 ล้านบาท ต้องถามว่ามีความสำคัญถึงขั้นต้องยกเว้นวีซ่าเลยหรือไม่ ขอให้รัฐบาลให้คำตอบกับประชาชนว่าทำไมยกเว้นวีซ่ากับประเทศเล็กๆ แบบนี้ เพราะมีนัยทางการเมืองสูงมากว่าน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณที่ถือหนังสือเดินทางของมอนเตเนโกร และอาจใช้ข้อตกลงนี้เดินทางเข้าไทยในฐานะพลเมืองของมอนเตเนโกรก็ได้
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่า การเยือนมอนเตเนโกรครั้งนี้ถือเป็นการพ่วงทริปจากอิตาลี เนื่องจากทางกระทรวงการต่างประเทศได้ร้องขอมา โดยมอนเตเนโกร ก็เชิญเราไปเยือนนานแล้วเราถือว่าเป็นโอกาส ขณะที่จุดมุ่งหมายเราคือ ไปสวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี เป็นหลัก
น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า การไปเยือนมอนเตเนโกรนั้นเป็นการเปิดความสัมพันธ์ใหม่ นอกจากนั้น ในส่วนของการแลกเปลี่ยนคือ ประเทศนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และเชื่อว่าจะมีประโยชน์ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนโดยภาพรวม รวมถึงการส่งเสริมนักท่องเที่ยว
คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดูขัดแย้งในตัวเอง บอกว่าทางมอนเตเนโกรเชิญมานานแล้วและประเทศนี้มีความสำคัญแต่ในการเดินทางครั้งนี้กลับให้เป็นเพียงโปรแกรมพ่วงหลังจากไปอิตาลี นั่นแสดงว่า ไม่ได้มีความสำคัญจริงตามที่อ้าง
โดยข้อเท็จจริง มอนเตเนโกรก็ไม่มีความสำคัญอะไรมากมายเพราะเป็นประเทศที่เพิ่งแตกตัวออกมาจากอดีตยูโกสลาเวีย โดยประกาศเอกราชเมื่อปี 2549 เช่นเดียวกับเซอร์เบีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา โครเอเชีย สโลเวเนีย มาซิโดเนีย และโคโซโว
ลักษณะทางภูมิศาสตร์และศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 8 ประเทศเหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากมาย ยิ่งคำกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ว่าเป็นประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูงนั้น ยิ่งตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง
ข้อมูลปี 2012 มอนเตเนโกรมีพลเมืองเพียง 6 แสนกว่าคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) แค่ 4.28 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ใช้รับจำนำข้าวของรัฐบาลไทย 2 เท่า ขณะที่รายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 6,881 ดอลลาร์ ซึ่งพอๆ กับรายได้ต่อหัวของคนไทยที่อยู่ประมาณ 5,000 ดอลลาร์ และถือว่าต่ำมากเมือเทียบกับมาตรฐานยุโรป
หรือหากจะเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอดีตยูโกสลาเวียด้วยกัน ก็จะเห็นว่า หลายประเทศมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เซอร์เบีย มีประชากร 7 ล้านคน จีดีพี 53.1 พันล้านดอลลาร์ รายได้ต่อหัว 7,136 ดอลลาร์(ประมาณการปี 2013) โครเอเชีย ประชากร 4.2 ล้านคน จีดีพี 63.8 พันล้านดอลลาร์ รายได้ต่อหัว 14,457 ดอลลาร์(ข้อมูลปี 2011) สโลเวเนีย ประชากร 2 ล้านคน จีดีพี 45.617 พันล้านดอลลาร์ รายได้ต่อหัว 22,192 ดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2012)
แล้วทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ขยายความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านั้น กลับเลือกมอนเตเนโกรที่มีศักยภาพต่ำกว่าแทน
คำตอบมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น ก็เพราะมอนเตเนโกรเป็นประเทศหนึ่งที่ นช.ทักษิณใช้เป็นที่ซุกหัวระหว่างการหลบหนีโทษจำคุกในคดีที่ดินรัชดาที่ศาลมีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2551
นช.ทักษิณสบโอกาสที่ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้ ต้องการดึงเงินเข้าประเทศ ด้วยการให้สัญชาติแก่นักลงทุนไม่ว่าใครก็ตามที่ลงทุน 5 แสนยูโรก็จะได้สัญชาติมอนเตเนโกรไป นช.ทักษิณจึงได้เป็นพลเมืองมอนเตเนโกรตั้งแต่ปี 2552 และได้สิทธิเดินทางไปประเทศอื่นๆ ในยุโรปโดยใช้เชงเก้นวีซ่า
นช.ทักษิณยังได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลมอนเตเนโกรที่มีนายมิโล ดูคาโนวิช เป็นนายกฯ ซึ่งต้องการให้ นช.ทักษิณช่วยดึงนักลงทุนเข้ามาในมอนเนโกร ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากฝ่ายค้านของมอนเตเนโกรที่เห็นว่านายดูคาโนวิชไม่โปร่งใส รวมทั้งเปิดประเทศให้อาชญากรที่มีพฤติกรรมแบบ นช.ทักษิณเข้ามาอยู่จำนวนมาก ขณะเอ็นจีโอที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศนี้ก็ออกมาต่อต้านการให้สัญชาติแก่ นช.ทักษิณเช่นกัน
ปี 2552 สื่อในมอนเตเนโกรได้รายงานว่า นช.ทักษิณได้ร่วมประมูลซื้อเกาะเล็กๆ ชื่อ สเวติ นิโคลา (Sveti Nikola)ใกล้ชายฝั่งเมืองบุดวา เมืองท่องเที่ยวหลักของมอนเตเนโกร ที่ถูกนำออกขายในราคาประมาณ 20 ล้านยูโร หลังจากนายสแตนโก ซูโบติก นักธุรกิจเซอร์เบียเจ้าของเดิมถูกทางการเซอร์เบียประกาศจับในข้อหาลักลอบนำเข้าบุหรี่
ต่อมาในช่วงปี 2553 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นช.ทักษิณได้ไปดูบ้านพักตากอากาศริมทะเลในย่าน“Sveti Stefan” ซึ่งในช่วงนั้น นช.ทักษิณก็ได้โพสต์ภาพตัวเองพร้อมบุตรสาวกำลังดูงานก่อสร้างบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความว่า “ได้เดินทางมาดูรีสอร์ตที่มอนเตเนโกร”
นี่ต่างหาก เป็นเหตุผลหลักที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องไปเยือนมอนเตเนโกรและทำข้อตกลงเรื่องการยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน โดยอ้างเรื่องการขยายการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งไม่มีน้ำหนักพอ