โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เยือน อิตาลี หวังขยายโอกาสการค้าการลงทุนไทย ฉลองความสัมพันธ์ครบ 145 ปี ด้านเลขาธิการนายกฯ แจงทางไกลผ่านยูทิวบ์ ยกเว้นพาสปอร์ตมอนเตเนโกร แค่พาสปอร์ตการทูตและราชการ ให้เจ้าหน้าที่รัฐติดต่อง่าย ปัดเอื้อประโยชน์คนนั้นคนนี้ อีกด้านอ้างให้นักข่าวตามนายกฯ อยู่แล้ว แต่เครื่องบินลงมอนเตเนโกรไม่ได้ เลยลดคนลง
วันนี้ (11 ก.ย.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินเยือนกรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นับว่าเป็นการเยือนครบรอบ 145 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอิตาลี อีกทั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ โดยไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิและราบรื่นมาช้านาน โดยเฉพาะด้านวัฒนะธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม
นายธีรัตถ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยเห็นถึงศักยภาพของอิตาลีที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลกและอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป อีกทั้งเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบและผลิตสินค้าคุณภาพสูงรวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับ 5 ของโลกที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่าปีละ 46 ล้านคน จึงเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะสาขาบริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกันในปี 2555 อิตาลีเป็นคู่ค้าของไทยลำดับที่ 5 และเป็นผู้ลงทุนไทยในอันดับ 13 จากอียู
โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า นายกฯจะมุ่งเน้นการขยายโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในอิตาลี สร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเชิญชวนให้อิตาลีเพิ่มการลงทุนในไทยด้วยการใช้ไทยเป็นฐานสำหรับภูมิภาคเอเชียและอาเซียน พร้อมทั้งเรียนรู้จากความเชี่ยวชาญของอิตาลีในด้านการจัดการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การก่อสร้าง การขนส่งระบบราง
นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า นายกฯได้พบหารือกับนายเอ็นริโก เล็ตตา นายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่จะมีการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ รวมถึงเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมการลงทุน การพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท อิตาเลียน และร่วมสัมมนาทางธุรกิจที่ไทยจัดร่วมกับสภาอุตสาหกรรมอิตาลี และสภาหอการค้ามิลาน
นายธีรัตถ์ กล่าวต่อว่า นายกฯจะเป็นประธานในการเปิดโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากวัตถุดิบผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับสถาบันโดมุส (DOMUS ACADEMY) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบบระดับนานาชาติชื่อดังของอิตาลี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพของผ้าไหมไทย และอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยแก่นักออกแบบรุ่นใหม่ของอิตาลี รวมถึงการยกระดับและสร้างภาพลักษณ์ความเป็นสากลให้แก่ผ้าไหมไทยด้วย
อย่างไรก็ตามการเยือนครั้งนี้ ภาคเอกชนจะมีการลงนามความตกลง 3 ฉบับคือ 1.ข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.กับสภาอุตสาหกรรมอิตาลี 2.ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ที่ติดแก๊ส NGV และ LPG ระหว่างบริษัท สามมิตรกรีนพาวเวอร์ จำกัด และบริษัท แลนดี้ เรนโซ่ และ 3.ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ที่ติดแก๊ส NGV และ LPG ระหว่างบริษัท ตงฟง ออโตโมบิล กับบริษัท โลวาโตแก๊ส
ด้าน นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ ในหัวข้อที่ว่า “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในเรื่องนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐมอนเตเนโกร” ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 11 กันยายน 2556 โดยบทสัมภาษณ์ระบุว่า ยืนยันว่าการตัดสินใจเดินทางเยือนมอนเตเนโกรนั้น เพราะทางมอนเตเนโกรได้มีการเชิญประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อีกทั้งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยมีนายกฯเดินทางเยือนประเทศดังกล่าวเลย ทั้งนี้มอนเตเนโกรเป็นประเทศใหม่ที่มีศักยภาพสูงทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว และสามารถไปลงทุนทำธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นเมื่อประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวรวมถึงด้านอุตสาหกรรมอาหารก็ถือว่ามีลู่ทางในการลงทุน
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ส่วนที่เป็นประเด็นว่าห้ามผู้สื่อข่าวและคณะบางส่วนติดตามในภารกิจที่มอนเตเนโกรนั้น เรียนว่า การเดินทางเยือนมอนเตเนโกรครั้งนี้ เนื่องจากเครื่องบินของการบินไทยซึ่งเป็นลำใหญ่ไม่สามารถลงที่มอนเตเนโกรได้ เพราะสนามบินที่นั้นมีขนาดเล็ก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนผู้โดยสารลง ซึ่งมีทั้งตัวแทนภาครัฐ เอกชน แต่ยืนยันว่าสื่อที่ร่วมเดินทางติดตามภารกิจของนายกฯ ทั้งหมดจะได้เดินทางไปด้วย เพราะถือเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก นอกจากนี้นายกฯ ยังต้องการให้สื่อได้มีโอกาสเดินทางไปดูประเทศใหม่ๆ เพื่อสามารถนำข้อมูลข่าวสาร มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนชาวไทย รวมถึงภาคธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ขอรัฐไทยได้ การนำสื่อมวลชนไปด้วยถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ
นายสุรนันทน์ กล่าวถึงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทยและมอนเตเนโกร ว่า เป็นเรื่องปกติในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปโดยง่ายคือ การยกเว้นวีซ่าของพาสปอร์ตราชการและพาสปอร์ตการทูต ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพาสปอร์ตบุคคลธรรมดา สำหรับการยกเว้นพาสปอร์ตการทูตและราชการนั้นเป็นไปเพื่อให้การไปมาหาสู่กันมีความสะดวกมากขึ้น เป็นการสร้างความไว้ใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถติดต่อกันได้ง่าย และเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศที่เราไปแล้วได้ตรวจสอบเรื่องของความมั่นคงในประเทศนั้นๆ แล้วพบว่าไม่มีปัญหา การยกเว้นพาสปอร์ตการทูตและเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นเรื่องปกติ
“ไม่มีกรณีพิเศษของประเทศมอนเตเนโกรอย่างที่มีความพยายามสร้างข่าว หรือคิดจินตนาการต่างๆ เอาว่า จะทำเพื่อคนนั้นคนนี้ เพราะมันทำไม่ได้ เอกสารข้อตกลงเหล่านี้เป็นมาตรฐานผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐทั้งหมดแล้ว” นายสุรนันทน์ กล่าว
นายสุรนันทน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางการเยือนสมาพันธรัฐสวิส และสาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐมอนเตเนโกร ของนายกฯ ครั้งนี้ อิตาลีถือเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมีความคล้ายกับไทย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมแฟชั่น อย่างไรก็ตามแม้เรื่องการท่องเที่ยวของอิตาลีจะมีศักยภาพสูง แต่เรื่องของการบริการยังไม่สามารถสู้ไทยได้ ดังนั้นความร่วมมือจึงเกิดขึ้นได้ ขณะที่เรื่องอาหาร ทั้ง 2 ประเทศชื่นชอบอาหารของกันและกัน จึงน่าจะมีความร่วมมือกันได้ และที่ผ่านมาไทยพยายามเจาะตลาดสหภาพยุโรป ดันนั้นการที่เรามีความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศ จึงสามารถใช้ประเทศนั้นๆ เป็นฐาน
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ่าย แต่ว่ามีปัญหาเรื่องการออกแบบสำหรับตลาดในยุโรป ความร่วมมือในส่วนนี้จึงน่าจะเป็นการเจาะตลาดที่ดี ไทยมีความพยายามที่จะเจาะตลาดในอิตาลีมาตั้งแต่ที่ตนทำงานร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่ปรากฏว่าเจาะลำบาก เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้หวงวิชา ดังนั้นการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถพูดคุยกันนายกฯและผู้นำอุตสาหกรรมของอิตาลีได้ ก็ถือเป็นการเปิดประตู และเชื่อว่าจะมีผลรับที่ดี ตนคิดว่าถ้าเกิดเราคุยกันสำเร็จก็จะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า นอกจากนี้การเดินทางมากรุงโรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญของโลก การเข้าเฝ้าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอีกหลายประเทศดีขึ้น เพราะในโลกมีประเทศที่นับถือศาสนาโรมันคาทอลิกจำนวนมาก