xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บรรจุยาผิดซอง แค่“ขอโทษ” คงไม่พอ วัดใจบอร์ด อภ.ประเมินงาน ผอ.คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กรณีบรรจุยาผิดซองขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) โดยพบว่ามีการบรรจุยารักษาโรคหัวใจ Isosorbide dinitrate ขนาด 10 มิลลิกรัม (มก.) ลงในแผงยาโรคความดันโลหิต Amlodipine ขนาด 5 มก. ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่า “ยา”แล้ว ย่อมเกี่ยวพันไปถึงสุขภาพของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นอาจสัมพันธ์ไปถึงความเป็นความตายของประชาชนเลยทีเดียว

ลองคิดดูว่าหากคุณกำลังอยู่ในนาทีวิกฤตแล้วมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาชีวิตให้รอด แต่ปรากฏว่ายาที่ได้รับแทนที่จะเป็นยาช่วยชีวิต แต่กลายเป็นยาอีกตัว ซึ่งอาจกลายเป็นคร่าชีวิตเราก็ได้ ความผิดพลาดกรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้ามเลยแม้แต่น้อย

สำหรับกรณีนี้เรื่องของเรื่องมาจากเภสัชกรของ รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ค้นพบความผิดปกติ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่ายาที่อยู่ในแผงซึ่งบรรจุปิดอย่างดีเภสัชกรรู้ได้อย่างไรว่ามีการบรรจุยาผิด เท่าที่ทราบคือ เมื่อมีการจ่ายยาให้คนไข้ใช้เภสัชกรจำเป็นที่จะต้องแกะซองยาเพื่อทำการตรวจก่อนที่แพทย์จะนำไปให้ผู้ป่วยรับประทาน ซึ่งลักษณะของยาทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอยู่แม้ลักษณะภายนอกเมื่อมองดูผิวเผินจะมีความคล้ายกันก็ตาม

ทั้งนี้ ยา Isosorbide dinitrate มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีขาวปั๊มอักษร I ขณะที่ยา Amlodipine มีลักษณะภายนอกเช่นเดียวกันเพียงแต่ปั๊มอักษรว่า A5 เมื่อเภสัชกรพบความผิดปกตินี้จึงได้แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ อภ.จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ถึงขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวอาจไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าถึงขนาดรับประทานผิดแล้วจะทำให้เสียชีวิตเพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะออกมายืนยันแล้วว่าผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาAmlodipine แต่กลับไปรับประทานยา Isosorbide dinitrate จะไม่เป็นอันตราย เพียงแต่อาจทำให้กระทบต่อการควบคุมความดันทำให้ความดันต่ำลง และเวียนหัว แค่เพียงนอนพักก็หายดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อภ.ไม่ได้มีความผิดในเรื่องของการผลิต

แม้ อภ.จะออกมายืดอกแสดงความรับผิดชอบด้วยการตั้งโต๊ะแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และระบุว่ากรณีดังกล่าวพบการปะปนของยา“ผิดซอง” ไม่ถึง 100 เม็ดก็ตาม!!

แต่คำขอโทษตอนนี้คงไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งที่ อภ.จะต้องดำเนินการก็คือต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในขั้นตอนใด เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดว่า อภ.เป็นผู้ผลิตยาและจัดหายาโดยตรงของภาครัฐ ย่อมต้องได้มาตรฐาน GMP และมีมาตรฐานสูงเป็นเรื่องธรรมดาแต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจริงหรือ

เพราะคำถามที่หลายคนกังวลก็คือ นอกจากยาทั้งสองชนิดที่ อภ.อ้างว่ามีความคล้ายคลึงกันและมีช่วงเวลาการผลิตช่วงเดียวกันจนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ยังมียาตัวอื่นอีกหรือไม่ที่จะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

เรียกได้ว่ากระทบต่อความมั่นใจของประชาชนไปเต็มๆ

ล่าสุด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. ได้มอบหมายให้ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกระบวนการผลิตแล้วเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ให้ประสานโรงพยาบาลที่ได้รับการกระจายยาที่มีข้อสงสัยว่ามีการปะปนโดยให้ติดตามและระงับการแจกจ่ายยาตัวนี้โดยเร็วที่สุด หรือหากจ่ายยาไปแล้ว อภ.จะแสดงความรับผิดชอบ โดยการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในการจ่ายยาดังกล่าว และให้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตของ อภ.กลับคืนมา

สำหรับจำนวนของยานั้นพบว่า มีทั้งหมด 6.6 แสนเม็ด กระจายยาให้โรงพยาบาล 7 แห่งขณะนี้ได้เรียกยาคืนได้ประมาณ 4.2 แสนเม็ด แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีการคละปนของยาเฉพาะ รพ.มะการักษ์ เท่านั้น โดย นพ.สุริยะวงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า ล็อตที่พบปัญหานั้น รพ.มะการักษ์รับยาไปทั้งหมด 2 แสนเม็ด จากการตรวจสอบพบว่ามีการจ่ายยาให้คนไข้ 939 คน จำนวน 6.6 หมื่นเม็ด ซึ่งจากการตามเก็บตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วสามารถเก็บได้ 73% หรือประมาณ 48,720 เม็ด จำนวนที่เหลือกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ของ จ.กาญจนบุรี ซึ่ง อภ.ตั้งเป้าจะเก็บคืนให้ได้อีกภายใน 3 วัน

โดยได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ให้ระดมเจ้าหน้าที่ และอสม.ไปตามเก็บยาคืนจากบ้านคนไข้ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่ต่างจังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี ราชบุรี และ กทม.จังหวัดละ 1-2 คน คาดว่าจะตามเก็บได้ภายในสัปดาห์นี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบผู้ป่วยรายใดมีอาการผิดปกติ

แม้ อภ.จะมีมาตรการที่ชัดเจน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยในใจของประชาชนได้ว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ และจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็ได้ให้เวลา อภ.ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน โดยขณะนี้ได้สั่งหยุดผลิตยาดังกล่าวแล้วทั้งหมดและจะให้ผลิตยาได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีคำตอบในประเด็นดังกล่าว

งานนี้จึงถือเป็นการประเดิมงานช้างงานแรกของ นพ.สุวัช หลังจากก้าวเข้ามาเซ็นสัญญาว่าจ้างเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ แทน นพ.วิทิต
อรรถเวชกุล ซึ่งถูกเลิกจ้าง เนื่องจากบกพร่องในหน้าที่ ทำงานไม่มีความคืบหน้า และแก้ปัญหาโดยไม่บริหารความเสี่ยงซึ่งภายหลังถูกเลิกจ้างแล้วก็ยังคงมีข่าวคราวโต้กันไปมาระหว่างสองฝ่ายอยู่เนืองๆ เพราะมีข้อครหาว่าการเลิกจ้าง นพ.วิทิต และจ้าง นพ.สุวัช เข้ามาทำหน้าที่แทนนั้นเป็นเรื่องที่มีการเมืองเข้ามาเอี่ยวเต็มๆ

อย่างไรก็ตาม ผอ.อภ.คนใหม่ได้กล่าวถึงกรณีบรรจุยาผิด ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อผิดพลาดมาจากจุดใด
เบื้องต้นอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ยาทั้งสองตัวมาอยู่ในช่วงเวลาการผลิตเดียวกัน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 2 จุด คือ 1.จุดสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจคุณภาพ และ 2.จุดที่ผลิตยาเม็ดแล้วนำไปใส่ในถังเพื่อชั่งน้ำหนัก ซึ่งแต่ละถังจะต้องมีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม หากเกินจะต้องมีการเกลี่ยยาออก ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดจากตรงนี้

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น นพ.สุวัช บอกว่า เตรียมที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ให้ยาที่มีลักษณะกายภาพเหมือนกันมาผลิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และจะผลิตยาให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น รูปร่าง และสีของยา เป็นต้น

“อภ.จะตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมเพื่อสอบสวนหาสาเหตุว่าอยู่ตรงไหนอย่างไรเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในอนาคต โดยพยายามให้มีทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสหภาพรัฐวิสาหกิจ อภ.ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาจาก รพ.มะการักษ์จะประสานโรงพยาบาลให้เก็บยากลับมาให้มากที่สุด และจะปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยวันที่ 18 ก.ย.นี้ จะจัดกิจกรรมบิ๊กควอลิตีเดย์เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการผลิตมากขึ้น”

ช่วงนี้ก็คงต้องมาดูกันว่า “กึ๋น” ของ นพ.สุวัช ในฐานะ ผอ.อภ.คนใหม่ จะพาองค์การเภสัชกรรมรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้หรือไม่ เพราะไม่เพียงแต่ปัญหาในกระบวนการผลิตยาแล้วที่อ้างว่ามีการผลิตยาคล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกันจนอาจเกิดความผิดพลาดแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าประชาชนจะยังไม่เชื่อในประเด็นนี้สักเท่าไร เห็นได้ชัดจากความเห็นหนึ่งในเว็บไซต์ASTVผู้จัดการ ในเรื่องนี้ว่า

“การผลิตเป็นระบบแบทช์ สายการผลิตก็ต้องแยกและกั้นกันชัดเจนอยู่แล้ว อภ. ไม่ใช่เด็กหัดเดิน ยาที่สุ่มมาตรวจ ก็ต้องเก็บไว้เป็นตัวอ้างอิง มีเรื่องจะได้เอามาตรวจใหม่ ไม่ใช่ทิ้ง หรือไปเทใส่สายการผลิต เรื่องนี้ รู้กันดีทั่วไป แก้ตัวแบบนี้ เห็นผู้บริโภคเป็นคนโง่นี่หว่า”

นอกจากนี้ยังต้องกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรและเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาให้ได้อีกด้วย

คงต้องมาวัดใจบอร์ด อภ.กันว่า นพ.สุวัช ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีการเมืองหนุนหลังมานั้น จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรเพราะเมื่อเทียบกับ นพ.วิทิต แล้ว ปัญหานี้ถือว่ากระทบต่อความมั่นคงของ อภ.พอสมควร หาก นพ.สุวัช ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เคลียร์ ตอบข้อสงสัยของประชาชนได้อย่างหมดจด และหาวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก รวมไปถึงไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้แล้ว บอร์ด อภ.จะประเมินการทำงานของนพ.สุวัช อย่างไร

เพราะ นพ.วิทิตยังถูกเลิกจ้างเพราะแก้ปัญหาโดยไม่บริหารความเสี่ยง แต่สำหรับ นพ.สุวัชความเสี่ยงมาอยู่ตรงหน้าแต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วบอร์ด อภ.ยังคงเลี้ยงไว้ ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า การเมืองได้ส่งคนเข้ามาคุมระบบยาของประเทศแล้วชัดเจน




กำลังโหลดความคิดเห็น