xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยาง...จะต้องได้รับความเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


“ข้อมูลล่าสุดพบว่าประเทศไทยปลูกยางในปี 2555 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 18.76 ล้านไร่ มีผลผลิตยางได้ที่ 3.776 ล้านตัน/ปี ซึ่งยางจำนวนนี้ถูกส่งออกไปขายต่างประเทศจำนวน 3.121 ล้านตัน หรือเท่ากับ 82.6% ใช้ภายในประเทศเท่ากับ 0.650 ล้านตันหรือเท่ากับ 17.2% ยางพาราจึงเป็นสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก” ..นี่คือข้อมูลที่กลุ่มนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ของภาคใต้ ที่มีที่ตั้งของมหาวิทยาลัยก็เกิดขึ้นจากการโค่นสวนยางพาราให้เป็นที่จัดตั้งมหาวิทยาลัย (วิทยาเขตหาดใหญ่) พวกเขาส่วนใหญ่เติบโตภายใต้ร่มเงาของต้นยางพารา และหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อแม่ที่จำนวนมากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราส่งเสียเป็นค่าใช้จ่ายจนทำให้พวกเขาสามารถผ่านระบบการศึกษามาได้ ถึงวันนี้วันที่มีการลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องราคายางที่ตกต่ำของพี่น้อง การหยิบยกปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางจึงถูกนำเข้าสู่การถกเถียงพูดคุยเพื่อหาต้นเหตุและข้อเท็จจริง

กลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่รวมตัวกันมักสุมหัวกันศึกษาเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างเอาจริงเอาจัง วันนี้ผมคิดว่าข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าอย่างเร็วๆ ของกลุ่มนี้ และแม้จะเป็นเพียงข้อมูลจากภาครัฐ แต่คนจำนวนมากก็ยังรับรู้ไม่มากนัก ผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่จะได้สร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์เรื่องยางพาราของประเทศ ที่สามารถจะทำให้เรามองไปข้างหน้าได้ว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหายางพาราควรจะเป็นไปในทิศทางใด ที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันตามฤดูกาลหรือกลไกตลาดโลกที่เรากุมสภาพไม่ได้ สมนึก สุริยะกุลหนึ่งในกลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ทำการค้นคว้าตามข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (Office of Agricultural Economics) ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถดูจากเว็บไซต์ www.oae.go.th แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน ในเบื้องต้นทำให้พวกเราพบว่าต้นทุนการปลูกยางพาราในประเทศจากข้อมูลของหน่วยงานราชการ พบว่าต้นทุนในการปลูกยางพาราต้นทุนในภาคอีสานเท่ากับ 64.19 บาท/กก. ในภาคใต้เท่ากับ 74.0 บาท/กก. แต่จากการไปดูรายงานค่าเฉลี่ยราคายางแผ่นในระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2556 ตกอยู่ที่ 76.09 บาท/กก. ตัวเลขนี้แม้เป็นของหน่วยงานราชการ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราและลูกจ้างมีความลำบากยากเข็ญแค่ไหนต่อราคายางที่เขาได้รับอยู่ในปัจจุบัน และทนไม่ไหวกับการเพิ่มขึ้นของสินค้าอื่นๆ จนพวกเขาอยู่ไม่ได้และจำเป็นต้องลุกกันขึ้นมาเรียกร้องในเรื่องราคาที่ตกต่ำ

เมื่อตามดูข้อมูลต้นทุนการผลิตยางที่ได้ถูกคำนวณไว้ในปี 2554 ซึ่งเท่ากับ 46.57 บาท/กก. เปรียบเทียบกับข้อมูลต้นทุนในปี 2556 ที่เท่ากับ 64.84 บาท/กก.เท่ากับเวลาผ่านไปสองปี ต้นทุนการผลิตยางขึ้นไป 39.20% ซึ่งเกือบเท่ากับค่าแรงงานทางอุตสาหกรรม ในปี 2554 ราคายางเฉลี่ยอยู่ที่ 130 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 46.57 บาท/กก.หรือเท่ากับราคาขายเป็น 2.79 เท่าของต้นทุนในการผลิต สภาพนี้เรียกว่าเป็นปีทองของชาวสวนยางและธุรกิจที่ต่อเนื่องตลอดถึงตลาดอุปโภคบริโภคทุกชนิด ราคายางพาราที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้เกิดขึ้นเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น แต่มันได้กระจายไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านขายของชำไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2554 ในเดือนกุมภาพันธ์ยางพารามีราคาสูงสุดถึง 180 บาท/กก. และค่อยๆ ลดลงไปเป็น 90 บาท/กก.ในราวๆ ปลายปี 2554 ราคาเฉลี่ยของยางในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 130 บาท/กก. และในปี 2555 ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 93.91 บาท/กก.

สำหรับราคายางในปี 2556 ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 86.41 บาท/กก. (ราคาสูงสุดอยู่ที่ 97.43 ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 72.80 บาท/กก.) ราคายางในปี 2556 ลดไปเท่ากับ 7.5% ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่เข็งค่าต่อ US dollar และราคายางที่ตกต่ำลงในการประมูลซื้อจากต่างประเทศ การยืนกระต่ายขาเดียวของรัฐบาลที่จะประกันราคายางที่ 90 บาท/กก.จึงไม่ได้แก้ไขปัญหาใดๆ เกษตรกรชาวสวนและลูกจ้างในสวนยางยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ดังเดิม เพราะหากดูจากตารางของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2556 ราคายางอยู่ที่ 76.09 บาท/กก. การประกันราคาราคา 90 บาท/กก. ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นที่ชาวบ้านจะขายได้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 80.72 บาท/กก. ไม่เกินนี้แน่นอน

การจนตรอกของรัฐบาลที่พยายามแถในเรื่องการดูแลเกษตรกรที่เป็นชาวนากับเกษตรกรที่เป็นชาวสวนยางในเรื่องต่างๆ นานา ล้วนไม่มีน้ำหนักอื่นมากไปกว่าเรื่องการเมืองที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้น การถูกตอบโต้ด้วยข้อมูลผลิตผลทางการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับประเทศเราจะพบว่า รายได้จากการส่งออกของสินค้าเกษตรเรียงจากมากไปหาน้อยในปี 2555 มีดังนี้ 1. ยางพารา ส่งออก 3.27 ล้านตัน เป็นเงินรายได้ 336,303 ล้านบาท 2. ข้าว ส่งออก 6.73 ล้านตัน เป็นเงินรายได้ 142,976 ล้านบาท 3. น้ำตาล ส่งออก 7.93 ล้านตัน เป็นเงินรายได้ 132,136 ล้านบาท

เกษตรกรชาวนาได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการประกันราคาในช่วงสองปีที่ผ่านมาเท่ากับ 6 แสนล้านบาท ปี 2556-2557 รัฐได้อนุมัติเพิ่มเติมอีก 2.7 แสนล้านบาท ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางได้เงินอุดหนุนจากงบประมาณระหว่างเดือน ก.พ. 2555-มี.ค. 2556 แค่ 1.5 หมื่นล้านบาทช่างห่างไกลกันลิบลับ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้เข้ารัฐที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของเกษตรกรชาวสวนยาง การออกมาเรียกร้องเพราะความเดือดร้อนในเรื่องรายได้และค่าครองชีพถูกเรียกว่า “ม็อบการเมือง” และถูกอำนาจรัฐทุบตีกลางถนนมีเพียงเหตุผลเดียวก็คือเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐแต่ไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาของเกษตรกรทุกสาขาอาชีพไม่เคยได้รับการวางแผนในการช่วยเหลือในระยะยาวและให้ยั่งยืน โจทย์ที่เป็นคำถามก็คือรัฐบาลมิได้มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหา การอ้างว่าต้องปล่อยให้เป็นไปตามราคากลไกตลาดโลก ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม จึงมีคำถามตามมาว่าเรามีรัฐบาลไว้ทำอะไร หรือเรามีรัฐบาลโง่ๆ บริหารประเทศ??? หรือฉลาดแต่ดูแลรักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจของตัวเอง??? หรือมองแต่เรื่องฐานเสียง มองแต่เรื่องการเอาชนะกันในทางการเมืองระหว่างพรรคการเมือง ??? ประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ จะอดทนกันอีกนานเท่าไรล่ะเนี่ย???
กำลังโหลดความคิดเห็น