xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารการผลิตและประกันราคา : แก้ปัญหาถาวรให้เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ปัญหาเรื้อรังประการหนึ่งของประเทศไทย คือ ปัญหาราคาผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมตกต่ำได้เกิดขึ้น และหมุนเวียนกันไป ทั้งในส่วนของชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

แต่ที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็คือ ข้าว และพืชไร่บางชนิด เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น

แต่ที่เกิดขึ้นแล้วและยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีกโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงก็คือ ราคาข้าว และตามมาด้วยราคายางพาราที่ตกต่ำจนถึงขั้นทำให้เกษตรกรเดือดร้อน และเดือดร้อนยิ่งขึ้นเมื่อสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ เช่น แก๊สหุงต่ำ และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ได้มีการปรับราคาสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของเกษตรกรที่ลดต่ำลง เนื่องจากราคาผลผลิตถูกลง

จริงอยู่ รัฐบาลในขณะนี้ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น ชาวนา เป็นต้นแล้ว

แต่การช่วยเหลือด้วยการรับจำนำข้าวดังที่ทำมาแล้ว และกำลังจะทำต่อไปด้วยการรับจำนำข้าวนาปี 15,000 บาทต่อตัน และข้าวนาปรัง 13,000 บาทต่อตัน ถึงแม้จะช่วยให้ชาวนาพอใจ แต่ถ้าดูในภาพรวมของประเทศแล้ว พูดได้ว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ปัจเจก แต่เพิ่มปัญหาให้ประชาชนโดยรวม ด้วยการนำภาษีซึ่งเก็บจากทุกภาคส่วนมาช่วยเกษตรกรผู้ทำนาเพียงกลุ่มเดียวเพื่อรักษาฐานทางการเมือง ตามที่ได้เคยประกาศหาเสียงไว้โดยไม่คำนึงถึงภาระหนี้สินที่ประเทศต้องแบกรับ จึงเท่ากับแก้ปัญหาเอาหน้ารอดเฉพาะหน้า ส่วนในระยะยาวประเทศจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของรัฐบาลในอนาคตรับผิดชอบไป

นอกจากการช่วยชาวนาด้วยการก่อหนี้ ซึ่งประชาชนในอนาคตต้องแบกรับแล้ว การช่วยในลักษณะนี้ยังก่อให้เกิดการร้องขอจากเกษตรกรทุกกลุ่มตามมา เมื่อพวกเขาเดือดร้อนจากการขายผลผลิตในราคาถูก และไม่คุ้มทุนหรือแม้จะคุ้มทุนแต่น้อยกว่าความคาดหวังจากนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ได้รับปากไว้ จะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของม็อบชาวสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมันที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องอยู่ในหลายท้องที่ในภาคใต้ขณะนี้

ทำไมชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มน้ำมันออกมาชุมนุม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเงียบมาตลอดเกือบ 2 ปี ที่ราคายางตกต่ำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ตอบได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร เพราะเพียงแต่หันไปดูภาวะแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองก็พออนุมานได้ดังนี้

1. ในขณะที่ราคายางและราคาผลปาล์มน้ำมันตกต่ำ ราคาสินค้าและบริการอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตขึ้นราคา ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีพกระจายไปถ้วนหน้าไม่เว้นแม้แต่เกษตรกรชาวสวนยางที่เคยร่ำรวย และส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนดีได้โดยไม่เดือดร้อน

2. ในขณะที่ราคายางและผลปาล์มน้ำมันตกต่ำ เกษตรกรผู้ปลูกยางและปลูกปาล์มเดือดร้อน รัฐบาลไม่สนใจและใส่ใจให้การช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลกลับไปทุ่มให้การช่วยเหลือแก่ชาวนาทั้งๆ ที่ทุ่มเงินช่วยไปแล้วด้วยการรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดโลก และส่งออกได้น้อยทั้งๆ ที่ส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้ขาดทุนแน่นอนแล้วเมื่อคิดจากที่ขายได้ และรวมถึงข้าวที่ยังคงอยู่ในสต๊อกด้วย

ดังนั้น การที่รัฐบาลได้บอกชาวสวนยาง และชาวสวนปาล์มว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงราคา โดยได้คำนึงถึงราคาตลาดโลก จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารารับไม่ได้ และเชื่อว่าจะไม่มีใครรับแน่นอน เพราะเป็นคำตอบที่ขัดแย้งกันเองจากคำพูดของคนคนเดียวกัน แต่ผู้เดือดร้อนต่างกันจะด้วยเหตุผลทางการเมืองเพียงชาวสวนยางอยู่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นฐานเสียงทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ผู้เขียนไม่อยากเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่คงไม่มีอำนาจอะไรไปห้ามมิให้เกษตรกรผู้ชุมนุมอยู่ในขณะนี้เชื่อเช่นนั้นได้ และนี่เองคือที่มาของคำว่า สองมาตรฐานที่กลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวหาใครต่อใครมาตลอด เมื่อพวกตนเสียประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ ถ้าคนกลุ่มอื่นจะยืมคำพูดลักษณะเดียวกันนี้ไปกล่าวหารัฐบาล ก็มีเหตุผลพอที่จะพูดเช่นนั้นได้

3. ในความเป็นจริง ถ้ามองในแง่ของมูลค่าที่ประเทศได้รับจากการส่งออกแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ายางพารานำเงินเข้าประเทศมากกว่าข้าว และที่สำคัญประเทศคู่แข่งในการส่งออกยางพารามีน้อยกว่าข้าว เพราะผู้ส่งออกรายใหญ่มีเพียงประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ เมื่อรวมยอดส่งออกของประเทศไทยกับอินโดนีเซีย ก็มีปริมาณเกินครึ่งแล้ว

ดังนั้น ถ้าจะทำให้ราคายางสูงขึ้นโดยจับมือกับประเทศอินโดนีเซียก็เชื่อว่ากำหนดราคาได้เองแล้ว

อีกประการหนึ่ง ที่ราคายางตกต่ำในขณะนี้ เป็นเพราะประเทศผู้นำเข้าเช่นจีน เป็นต้น ได้ลดการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และมีการลดการผลิตที่ต้องใช้ยางพาราลง และภาวะเช่นนี้ใช่ว่าจะคงอยู่ตลอดไป ประกอบกับยางพาราเป็นสินค้าที่เก็บไว้นานกว่าข้าว โดยที่ไม่เสื่อมคุณภาพในทำนองเดียวกับข้าว จึงน่าจะเข้าไปรับซื้อ และเก็บไว้รอราคาขึ้นได้โดยที่เสียค่าจัดเก็บไม่มากด้วย

ส่วนจะนำเงินจากไหนมารับซื้อก็สามารถทำได้โดยการออกพันธบัตรระยะ 2-3 ปี โดยมีดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยก็คงทำได้ และเชื่อว่าจะไม่ขาดทุนบักโกรกเหมือนข้าวแน่นอน

แต่การแก้ปัญหาทำนองนี้ เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ และจะไม่ทำให้ปัญหาหมดไป

ถ้าจะแก้ให้ปัญหาหมดไปอย่างถาวร รัฐบาลจะต้องวางแผนบริหารจัดการเรื่องนี้โดยการแบ่งโซนการผลิตยางให้แน่นอน และประกันราคาในแต่ละโซนการผลิตขึ้นอยู่กับต้นทุน และบวกกำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับ

ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการ จะต้องมีการศึกษาให้ลงลึกในแต่ละพื้นที่ และคำนึงถึงความคุ้มค่าแก่การลงทุนของเกษตรกรในทุกภาคส่วนว่าอยู่โซนไหน และควรผลิตอะไรคุ้มค่ากว่ากัน แนวคิดในลักษณะนี้จะต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ และครอบคลุมถึงเกษตรกรทุกประเภท ทั้งชาว ชาวสวน ชาวไร่ และรวมไปถึงผู้เลี้ยงสัตว์ การจับสัตว์น้ำทุกประเภทว่าประเภทไหนควรจะมีระเบียบ และกติกาดำเนินการอย่างไรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น