xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ม.อ. เสนอแนวทางแก้วิกฤตยาง ลดกระแสเรียกร้อง ก่อนแก้ราคายางตกระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการ ม.อ.หาดใหญ่ เสนอแนวทางแก้วิกฤตยางพารา พร้อมชี้แนะรัฐบาลถึงวิธีการแก้ปัญหา ทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะกลาง ถึงระยะยาว

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากที่มีการเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ให้รัฐบาลกำหนดราคาประกันยางพารา จนเกิดการประท้วงในภาคใต้นั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาในภาคใต้ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมได้มีการนำเสนอ “แนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ” ซึ่งประกอบด้วย ทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะกลาง และระยะยาว

มาตรการเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขนั้น ควรมีการเจรจา และพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและให้เป็นตัวแทนที่แท้จริงเท่านั้น เพื่อให้ได้ราคาที่ทุกฝ่ายรับได้ และพอใจ แนวทางการประกันราคายางควรเป็นแนวทางที่รัฐควรนำมาใช้ก่อนในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยควรกำหนดกรอบเวลาประกันที่ชัดเจน และหลังจากนั้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประกันราคายางควรกำหนดมาตรการแก้ไข ช่วยเหลือ และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เช่น การช่วยเหลือปัจจัยการผลิต มีการสนับสนุน และให้ความรู้ในการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

สำหรับมาตรการระยะกลาง ควรเน้นนโยบายการเร่งรัดการใช้ยางในประเทศอย่างจริงจัง เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ เพื่อส่งผลให้เสถียรภาพราคายางพาราดีขึ้น การทำความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต การตลาด และข้อจำกัด อุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อราคายางพารา สร้างระบบการซื้อขายยางที่ลดการเอาเปรียบชาวสวนยางจากพ่อค้าคนกลาง และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์

ส่วนในระยะยาวนั้น ควรควบคุมการขยายพื้นที่ปลูก แต่มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพิ่มศักยภาพความสามารถของแรงงานครัวเรือน เพื่อลดการจ้างแรงงาน นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมจากยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่ม และเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ที่ออกแบบให้สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพารา และนำไปสู่เชิงพาณิชย์

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ทางออกยางพาราไทย” เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ว่า การเจรจาที่ไม่ลงตัวระหว่างภาครัฐกับเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขต้นทุนยางพาราที่วิเคราะห์โดยหน่วยงานภาครัฐมีค่าต่ำกว่าตัวเลขต้นทุนที่วิเคราะห์โดยเกษตรกร ซึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยงานของภาครัฐได้วิเคราะห์เฉพาะตามหลักวิชาการ ยังไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการผลิตที่แท้จริงของเกษตรกร ซึ่งมีความซับซ้อน และแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่การผลิต

อย่างไรก็ตาม หากคิดในภาพรวมแล้วตัวเลขต้นทุนการผลิตยางพาราของประเทศไทยถือได้ว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เมื่อราคายางในตลาดโลกลดลง เกษตรกรไทยจึงได้รับความเดือดร้อน เป็นที่มาของการชุมชมเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดราคาประกันยางพาราที่เป็นปัญหายืดเยื้ออยู่ในขณะนี้

“แม้ราคาตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรจะเป็นราคาที่ค่อนข้างฝืนตลาดโลกพอสมควร แต่คิดว่ามีโอกาสทำได้ โดยรัฐบาลอาจจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการประกันราคายางพาราให้ชัดเจน และให้เงินอุดหนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในระหว่างนั้นก็จะได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาวที่ชัดเจนต่อไป น่าจะเป็นหนทางลดกระแสการเรียกร้องเรื่องราคาได้ในขั้นต้น เชื่อว่าคนไทยถึงแม้จะแตกต่างกันทางมุมมอง แต่เราคุยกันได้บนพื้นฐานของเหตุผล” รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น