รอยเตอร์ – คอลัมนิสต์รอยเตอร์ชี้ ราคายางพาราในตลาดโลกเวลานี้แม้อาจหลุดพ้นช่วงตกต่ำสุดขีดไปแล้ว เนื่องจากกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นของจีนและทั่วโลกได้ส่งให้ดีมานด์ยางรถยนต์พุ่งขึ้น ทว่ายังคงมีความเสี่ยงหลายประการซึ่งอาจทำให้ราคาขาขึ้นยืนอยู่ได้ไม่นาน หนึ่งในนั้นคือสต็อกยางที่รัฐบาลไทยถือครองอยู่กว่า 200,000 ตันที่อาจถูกกดดันให้ปล่อยขายเร็วๆ นี้
ไคลด์ รัสเซลล์ คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในตลาดโตเกียว ราคาซื้อขายของยางพาราชนิดที่ใช้เป็นมาตรวัด เมื่อถึงวันพุธ (28 ส.ค.) นี้ อยู่ในระดับทะยานขึ้น 21% จากจุดที่ตกต่ำสุดขีดเมื่อปลายเดือนมิถุนายน โดยที่เคลื่อนไหวอยู่แถวๆ กิโลกรัมละ 2.84 ดอลลาร์ (92 บาทโดยประมาณ)
อย่างไรก็ตาม ราคาขนาดนี้ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดของปีปัจจุบันซึ่งทำไว้ตอนช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่เกือบๆ 18% โดยหลังจากนั้นราคายางก็ได้เข้าสู่ช่วงขาลง ทั้งจากปัญหาสต็อกล้นในประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างญี่ปุ่นและจีน, เศรษฐกิจชะลอตัว, และการที่พวกผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยุติความพยายามในการจำกัดปริมาณอุปทาน
สำหรับในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้นั้น สัญญาซื้อขายยางพาราชนิดหลัก ขณะนี้ราคาก็ขยับขึ้นจากช่วงตกต่ำเมื่อต้นเดือนที่แล้วเช่นกัน โดยบวกเพิ่ม 21% และซื้อขายที่ตันละ 3,387 ดอลลาร์ (109,942 บาท) แต่ยังถือว่าต่ำกว่าราคาสูงสุดของปีนี้ที่ทำไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ถึง 26%
การที่ราคายางกำลังกลับขยับสูงขึ้นมาในช่วงนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยข้อมูลล่าสุดคือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนสิงหาคมที่จัดทำโดยเอชเอสบีซี ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินคาดจนอยู่เหนือระดับ 50 ทั้งนี้หากดัชนีตัวนี้อยู่ต่ำกว่า 50 ก็คือสัญญาณแสดงว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลง แต่หากสูงกว่าขีดนี้ก็บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีความสดใสขึ้นเช่นกัน จากคำมั่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และชัยชนะของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทำให้อาเบะสามารถผลักดันแผนการปฏิรูปได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจัยบวกสำหรับราคายางในช่วงนี้ ยังต้องรวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสหรัฐฯ และสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นในยุโรป ตลอดจนแนวโน้มยอดขายรถที่สดใสขึ้น ซึ่งหนุนนำความต้องการยางสำหรับการผลิตยางรถยนต์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในตลาดแดนมังกรนั้น เรื่องสำคัญยิ่งยวดที่ส่งผลต่ออุปสงค์ความต้องการใช้ยาง ก็คือ ยอดขายรถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ซึ่งปรากฏว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้การขายรถในจีนได้เพิ่มขึ้นทำสถิติ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2012
ยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น ยังหมายความต่อไปด้วยว่าความต้องการยางในอนาคตก็จะสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากยางรถยนต์จะสึกหรอหลังจากผ่านการใช้งานราว 50,000 กิโลเมตร เท่ากับว่ารถใหม่แต่ละคันจะต้องเปลี่ยนยางหลายชุดก่อนที่มันจะสิ้นสุดอายุการใช้งาน
ทว่า แม้ทิศทางอนาคตในเรื่องอุปสงค์ยางรถยนต์ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของยางพารา จะดูสดใสขึ้นมากเช่นนี้ แต่ตัวเลขการนำเข้ายางพาราของจีนกลับกำลังชะลอลง โดยนับจากต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม แดนมังกรนำเข้าสูงขึ้นเพียง 13.7% เทียบกับระดับ 18% ในเดือนกรกฎาคม และ 32% ในเดือนมีนาคม
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปริมาณยางคงคลังยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้จากการตรวจสอบติดตามของตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ โดยปรากฏว่าสต็อกยางที่สามารถจัดส่งได้นั้นมีเพิ่มขึ้น 1.7% เป็น 124,740 ตันในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณยางคงคลังเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง และเรื่องนี้อาจเป็นตัวหยุดยั้งราคายางขาขึ้น เนื่องจากจีนแสดงท่าทีว่าพร้อมใช้ยางในสต็อกมากกว่านำเข้าเพิ่ม ถ้าหากราคาขึ้นสูงและเร็วเกินไป
ตรงข้ามกับสต็อกยางในญี่ปุ่นที่ลดลงอยู่ที่ 7,571 ตันเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งตีความได้ว่า ผู้ผลิตยางญี่ปุ่นอาจนำเข้ายางเพิ่มในอีกไม่กี่เดือนนี้ภายใต้สมมติฐานว่า ความต้องการรถยนต์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
สถานการณ์สต็อกยางที่ต่างกันในจีนและญี่ปุ่น ทำให้ประสบความยุ่งยากอยู่บ้างในการพิจารณาเรื่องสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณการนำเข้าของจีนสูงกว่าของญี่ปุ่นมาก ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์สต็อกยางในแดนมังกรมากกว่า
นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยก็คือ มีความเป็นไปได้ที่อุปทานจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของราคา เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่สุดของโลก มีสต็อกยางแผ่นไม่รมควันอยู่ถึง 210,000 ตัน อันเป็นผลจากกลไกการแทรกแซงราคาระหว่างเดือนสิงหาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้
แต่ความที่ยางธรรมชาติจะเสื่อมคุณภาพลงตามเวลา ดังนั้น รัฐบาลไทยจะถูกกดดันให้ปล่อยยางออกมาขายและส่งผลให้ราคายางขาขึ้นต้องสะดุดลง
การที่รัฐบาลไทยประกาศยุติกลไกดังกล่าว ทำให้ชาวสวนยางไม่พอใจและชุมนุมประท้วงราว 1,000 คนเมื่อวันจันทร์ (26) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และคาดว่า การประท้วงจะลุกลามต่อไปเนื่องจากมีแนวโน้มที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะขยายโครงการรับจำนำข้าวแต่ปฏิเสธเด็ดขาดว่า ไม่สามารถอุ้มราคายางได้
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เป็นใจยังจะทำให้ผลผลิตยางในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับสต็อกยางของรัฐบาล จะทำให้มีอุปทานมากพอตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ด้วยปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้จึงดูเหมือนว่า ราคายางในตลาดล่วงหน้าขณะนี้ขยับขึ้นเนื่องจากความคาดหวังต่อภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มากกว่าจะมาจากปัจจัยพื้นฐานทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และสินค้าคงคลัง