xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ปัตตานีจัดโครงการ “ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.ปัตตานี จัดโครงการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้ โชว์ผลงานเด่นเติมความรู้ และแนะนำเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการได้วันละเกือบ 10,000 บาท

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่โรงแรมลี การ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานเปิดการสัมมนา และนำเสนอผลงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาคใต้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปยางพารา โดยมี รศ.อาซีซัน แกสมาน หัวหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ม.อ. รวมทั้งตัวแทนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา จำนวน 15 แห่ง เข้าร่วมงานในครั้งนี้

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. ในฐานะของสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียางพารา ได้ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดทำโครงการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาคใต้ มาตั้งแต่เดือน ก.พ.56 ที่ผ่านมา โดยมีทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ การรับสมัครโรงงานเข้าร่วมโครงการ การประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพของสถานประกอบการ การจัดประชุม สัมมนา และลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำในเชิงลึกแก่สถานประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 15 แห่ง

โดยในส่วนของ ม.อ. ได้เข้าไปสนับสนุนในส่วนของการให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งของอุตสาหกรรมยางพารา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปยางพาราขั้นต้นเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และสำเร็จรูป โดยการสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน

ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยางโคกพันตัน จำกัด ใน จ.ปัตตานี ที่ดำเนินธุรกิจเปิดรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกมากกว่า 100 คน เพื่อส่งขายให้แก่โรงงานผลิตน้ำยางข้น โดยทางสหกรณ์กองทุนสวนยางโคกพันตันไม่สามารถดำเนินการผลิตเองได้ เนื่องจากความไม่พร้อมของเครื่องจักร และอุปกรณ์ รวมทั้งระบบการบำบัดน้ำทิ้งทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องมีการระดมทุนเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้น

และทาง ม.อ. ได้เข้าไปดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำแก่กลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางโคกพันตัน ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่วางแบบแปลนของโรงงาน และพัฒนาให้สามารถทำเป็นโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันได้ในตัว เพื่อเพิ่มมูลค่าการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกนอกเหนือจากการรับซื้อน้ำยางสดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะเริ่มต้น สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้ประมาณวันละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ขณะที่น้ำยางสด สามารถรับซื้อได้ถึงวันละ 7,000 กิโลกรัม คิดน้ำหนักเป็นยางแห้งประมาณ 2,400 กิโลกรัม โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กระบวนการผลิตของโรงงานกิโลกรัมละ 2-3 บาท ซึ่งหากสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มรูปแบบคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงวันละ 4,800-7,200 บาทเลยทีเดียว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น