xs
xsm
sm
md
lg

เวทีวิชาการ ม.อ.หนุนแก้วิกฤตม็อบยางแนะเร่งสร้างอุตฯ ต้นน้ำและกลางน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีเสวนา “ทางออก...ยางพาราไทย” ที่ ม.อ.จัดขึ้นเพื่อช่วยหาทางออกวิกฤตม็อบปิดประเทศ เผยไทยส่งยางออกในรูปวัตถุดิบถึง 3.12 ล้านตัน หรือ 86% จึงควรเร่งพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำ และกลางน้ำรองรับเร่งด่วน

วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดการเสวนา “ทางออก...ยางพาราไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่ ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่ และ รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

รศ.ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราของประเทศที่ลดต่ำลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 60 จังหวัด การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางสามารถทำได้ตั้งแต่การผลิตในระดับต้น และกลางน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหายางพารา คือ การนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกในรูปวัตถุดิบ คือ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และรูปแบบอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 86 สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 336,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยางพาราใช้มากในอุตสาหกรรมยางล้อ คิดเป็นร้อยละ 70 รองลงมาคือ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารามีความสัมพันธ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมรถยนต์
 
“การนำยางพารามาใช้ประโยชน์สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ถนนยางมะตอย, แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น, สนามกีฬาฟุตซอล พื้นยางภายในอาคาร ซึ่งหากมีการผลักดันอย่างจริงจังก็จะทำให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศในปริมาณมาก และยังสามารถลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยางฟองน้ำเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์จากยางพารา สามารถนำไปทดแทนฟองน้ำสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้”
 
รศ.ดร.บัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ รัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันยางเป็นระบบ และจะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ เพื่อการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในระยะยาวต่อไป



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น