“ยิ่งลักษณ์” รอ คกก.ยางคุย หลังชาวสวนยันขอ กก.100 บ. อ้อนขอเห็นใจ ขอภาคอุตสาหกรรมรับซื้อยางมากขึ้น พร้อมหนุนภาครัฐทุกกระทรวงใช้ผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น ย้ำจะดูแลต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ วอนผู้ชุมนุมใช้เวทีเจรจารัฐฯ พร้อมรับฟัง อย่าใช้ความรุนแรง เชื่อคนใต้ไม่อยากเห็นความรุนแรง ยันไม่เลือกแก้ปัญหาเฉพาะฐานเสียง ย้ำติดตามสถานการณ์ตลอด
วันนี้ (6 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่เมืองทองธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกษตรกรชาวสวนยาพาราภาคใต้ ยืนยันให้รัฐบาลดูแลราคายาง 100 บาทต่อกิโลกรัมว่า ต้องรอให้คณะกรรมการแก้ปัญหาราคายางพารา ได้พูดคุยกันกับตัวแทนเกษตรกรให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งคงต้องขอร้องขอความเห็นใจ และวันนี้ (6 ก.ย.) ได้เชิญภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกลางน้ำและปลายน้ำมาร่วมประชุม สิ่งที่ได้รับฟังจากภาคอุตสาหกรรมในการทำงานนั้น คงต้องคำนึงถึงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แน่นอนในส่วนต้นน้ำมีความเห็นร่วมกันว่าในส่วนต้นน้ำระยะยาวนอกจากการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะยาวแล้ว คงต้องพูดคุยดูพื้นที่เพาะปลูกให้มีความเหมาะสมอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องต้นยางที่จะทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลง เพราะวันนี้ในส่วนต้นน้ำจากการรับฟังการที่จะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น คงต้องพยายามลดต้นทุนเพื่อให้ต้นทุนของยางธรรมชาติได้สัมพันธ์กันกับยางสังเคราะห์ ดังนั้นต้องมาช่วยกันทำต้นน้ำให้ดีขึ้น
ส่วนกลางน้ำจากการหารือ ในส่วนของภาครัฐจะเร่งระดมในส่วนการที่จะสนับสนุนนโยบายด้านการส่งเสริม ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ให้วงเงินไว้แล้วประมาณ 1,5000 ล้านบาท โดยทางผู้ประกอบการพอใจ ซึ่งคงจะเน้นเรื่องการสร้างโรงงานแปรรูปให้มากที่สุด เพราะถ้าสร้างโรงงานแปรรูปในวงเงินนี้จะทำให้การใช้จำนวนยางพารามีมากขึ้น นอกจากนั้นเรื่องของถุงมือยางทั้งที่ใช้ในส่วนอุตสาหกรรม ทางการแพทย์และภาคการเกษตร เราจะส่งเสริมส่วนนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เบื้องต้นผู้ประกอบการมีความต้องการอยู่แล้ว รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้ยางพาราจากภาครัฐ ซึ่งภาครัฐวันนี้ได้เห็นชอบ โดยทางกระทรวงคมนาคมคงจำนำเอาวัสดุยางพาราไปประกอบในการก่อสร้างถนน ซึ่งการทำถนนหรือฟุตปาธจะแจ้งในรายละเอียดต่อไปว่าจะสามารถทำได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ อย่างไร จำนวนเท่าไหร่ และในส่วนของกระทรวงกลาโหม ที่จะใช้ปริมาณยางพาราให้มากขึ้นและผู้ส่งออกไปยังผู้ผลิตยางรถยนต์ ตรงนี้ได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะส่งออกมากขึ้นรวมไปถึงการใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลยังยืนยันในราคาที่ 80 บาทใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องดูความเหมาะสมระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำด้วย ตอนนี้ยังขอไม่สรุปเรื่องของตัวเลข ขอรับฟังปัญหาจากพื้นที่ก่อน เพราะองค์ประกอบนี้ไม่เพียงแค่เรื่องราคาอย่างเดียว ต้องดูเกษตรกรผู้ปลูก เจ้าของสวนยาง คนกรีดยางด้วย ขณะที่พื้นที่เพราะปลูกแต่ละภาคไม่เหมือนกัน คงต้องพูดคุยกันทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำให้ครบก่อน ภาพรวมออกมาอย่างไร รัฐบาลพร้อมในการสนับสนุนและช่วยกันอย่างเต็มที่ เรามีความจริงใจที่จะเข้าไปแก้ปัญหาและทำอย่างเต็มที่จริงๆ
เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางภาคใต้จะยกระดับการชุมนุมถ้ารัฐบาลไม่รับข้อเรียกร้องเรื่องของราคา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การชุมนุมเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่ไปถึงเรื่องความรุนแรง ต้องขอร้องผู้ชุมนุม เรายินดีที่จะพูดคุยกัน เราน่าจะใช้เวทีในการพูดคุยกันมากกว่า เพราะเราไม่อยากให้มีผลกระทบถึงเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ซึ่งตนเชื่อว่าวันนี้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 3 และ 4 มีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าเราช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งตรงนี้จะทำให้เสถียรภาพต่างๆ ของประเทศและราคาสินค้าโตในระยะยาว ต้องขอความร่วมมือ เราไม่อยากเห็นความรุนแรง เพราะวันนี้อาจกระทบการท่องเที่ยว ธุรกิจต่างๆ ในภาคใต้ หากเราพูดกันและมีทางออกร่วมกันจะดีกว่า
เมื่อถามว่า นายกฯ จะลงพื้นที่ไปดูปัญหาเองหรือไม่หลังเกิดเหตุรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่ อ.บางสะพาน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ก็ติดตาม ต้องเรียกว่าติดตามปัญหาตลอดกับผู้ที่รับผิดชอบ แต่อย่างที่เรียนปัญหาไม่สามารถจบได้โดยกลุ่มเดียว ฉะนั้นเราต้องคุยกันในหลายๆ กลุ่ม และเราไม่อยากเห็นเยาวชนเข้ามาร่วมในส่วนนี้ ซึ่งเราอยากเห็นการแก้ปัญหาในภาคการเกษตรจริงๆ มากกว่าประเด็นที่มีการเมืองเข้ามาด้วย ทั้งนี้เราขอรับฟังและยินดีน้อมรับฟังการแก้ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเราได้ส่งคณะรัฐมนตรีไปรับฟังปัญหาต่างๆ
เมื่อถามว่า แสดงว่าเรื่องของราคามีโอกาสที่จะขยับขึ้นให้ได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราขอทางออกที่พี่น้องผู้ชุมนุมนั่นจะจบและเห็นด้วย เพราะวันนี้จากที่ภาครัฐได้คุยกันหลายรอบ แต่การชุมนุมก็ยังไม่จบ ดังนั้นขอไปพูดคุยกันเพื่อให้การชุมนุมกลับมาสงบสู่สภาพเดิม เราใช้เวทีห้องประชุมพุดคุยกันและมีคนร่วมทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า หากเราชุมนุมกันนานเกินไปเกรงจะกระทบภาพรวมในเรื่องของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว คงต้องขอร้องและขอความร่วมมือ
เมื่อถามว่า นายกฯ มั่นใจหรือไม่ในการเจรจาจะหาข้อยุติได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราเชื่อมั่นถ้าเรามีเจตนาที่จะมาร่วมกันในการแก้ปัญหา ตรงนี้จะเป็นทางออก เมื่อถามว่า นายกฯ ยืนยันได้หรือไม่ว่าแม้ไม่ใช่ฐานเสียงก็จะแก้ปัญหา น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยืนยันแม้ไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงก็จะดูแล เรียกว่าเราไม่เลือกปฏิบัติอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าหากการชุมนุมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเองเชื่อว่าประชาชนในภาคใต้คงไม่อยากเห็นความรุนแรงนี้ คงต้องขอความร่วมมือที่จะพูดคุยกัน และขอความกรุณาผู้ชุมนุม เราเปิดเวทีแล้วที่จะพูดคุยขอให้เวทีนี้เป็นการสื่อสารระหว่างภาครัฐ ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมกัน