xs
xsm
sm
md
lg

ไร้เงาชาวสวนยางโคราชขอรับ 1,260 บาทจากรัฐบาล-ชี้ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญถิ่น เดชสูงเนิน
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชยังไร้เงาชาวสวนยางพารามาขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท จากรัฐบาลแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ชี้ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องตามหลักเกณฑ์ด้านเกษตรจังหวัดฯ สั่งให้เกษตรอำเภอรับขึ้นทะเบียนไว้ก่อนทุกราย แล้วค่อยคัดแยกภายหลังเพื่อลดแรงกดดันจากเกษตรกร

วันนี้ (5 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายบุญถิ่น เดชสูงเนิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังเปิดรับลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 4-30 ก.ย. 2556 เพื่อรับเงินช่วยเหลือเป็นค่าสนับสนุนปัจจัยการผลิตในอัตราไร่ละ 1,260 บาท รายละ 10 ไร่ ล่าสุดจนถึงขณะนี้ซึ่งเป็นวันที่ 2 ยังไม่มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราใน จ.นครราชสีมามาติดต่อขอขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า จ.นครราชสีมามีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งสิ้น 60,950 ไร่ เกษตรกรประมาณ 2,400 ครอบครัว กระจายอยู่ในพื้นที่ 29 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.ครบุรี, เสิงสาง, วังน้ำเขียว และ อ.หนองบุญมาก

นายบุญถิ่นกล่าวต่อว่า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้เชิญเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เข้าประชุมทำความเข้าใจไปแล้ว 2 ครั้งเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย.นี้ ให้เกษตรอำเภอเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาลดังกล่าว และให้ลงพื้นที่เชิญชวนเกษตรกรปลูกยางพารามาขึ้นทะเบียน รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุชุมชน และให้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ไว้หน้าสำนักงานเกษตรอำเภอซึ่งเป็นจุดรับขึ้นทะเบียนทุกอำเภอ โดยเปิดให้ขึ้นทะเบียนไปจนถึง 30 ก.ย.นี้

“ที่สำคัญได้กำชับให้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแบบไม่มีข้อยกเว้นและไม่มีเงื่อนไขใดๆ แม้ว่าเกษตรกรจะมีพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ก็ขอให้รับขึ้นทะเบียนไว้ก่อนตามมติของคณะรัฐมนตรี จากนั้นค่อยนำมาคัดแยกกันเพื่อลดแรงกดดันของเกษตรกร” นายบุญถิ่นกล่าว

นายบุญถิ่นกล่าวอีกว่า เกษตรกรปลูกยางพาราใน จ.นครราชสีมาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกอยู่ในเขตพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และเป็นการเช่าพื้นที่คนอื่นทำ เช่น ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่ใช่ชื่อของตัวเองอาจมีปัญหาเรื่องการรับการช่วยเหลือจากรัฐ หรือมีบางพื้นที่ก็อยู่ในเขตของป่าไม้ และป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องจริงๆ มีประมาณไม่เกิน 30% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แต่ได้เน้นย้ำให้เกษตรอำเภอรับขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด สำหรับการช่วยเหลือก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่รัฐบาลจะกำหนดมาให้

ขณะที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครราชสีมา ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงายังไม่มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเดินทางมาขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่ามีเกษตรกรบางรายเข้ามาสอบถามแต่เนื่องจากเอกสารต่างๆ ยังไม่พร้อมจึงนัดหมายกันมาอีกครั้ง และ ปัญหาใหญ่คือเกษตรกรส่วนใหญ่ในเขตตัวเมืองนครราชสีมามักจะไปเช่าที่ดินปลูกยางพาราอยู่ที่อำเภออื่น และไม่เข้าเงื่อนไขของทางรัฐบาลเช่น ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นชื่อคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือค่าสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากรัฐ เป็นต้น จึงทำให้เกษตรกรไม่เดินทางมาขึ้นทะเบียนและยังรอดูเงื่อนไขการช่วยเหลืออยู่ ประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง คาดว่าหลังจากนี้ไปจะมีเกษตรกรเดินทางมาขึ้นทะเบียนมากขึ้น
ยังไร้เงาชาวสวนยางพาราโคราชมาขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท รายละ 10 ไร่ จากรัฐบาลแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ที่สำนักงานเกษตร อ.เมืองนครราชสีมา วันนี้ ( 5 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น