xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบยางยื่นคำขาด95บาท ชุมนุมใหญ่14ก.ย.ปิดด่านสะเดา-สนามบิน-ท่าเรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม็อบยางขอ กก.ละ 95 บาท หากได้แค่ 90 บาท ต้องรวมเงินช่วยเหลือไร่ละ1,260 บาทด้วย ลั่นชุมนุมใหญ่ 14 ก.ย. หากรัฐบาลไม่มีคำตอบ ขู่ปิดด่านสะเดา ท่าเรือสงขลา ตลาดยาง สนามบิน พร้อมปิดถนนตัดขาดเส้นทางลงใต้ ด้าน "ยิ่งลักษณ์" กำชับ "ประชา" ดูแลม็อบยาง ก่อนออกทัวร์ยุโรป รมว.พาณิชย์โวจีนจะซื้อ ข้าว-ยาง พร้อมชวนตั้งโรงงานแปรรูปในไทย

จากกรณี แกนนำชาวสวนยางพารา 14 จังหวัดภาคใต้ นำโดย นายธีระพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ รองประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายบุญโชติ ร่มเย็น เลขาธิการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้แถลงที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค จ.ตรัง เมื่อเย็นวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังหารือกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี โดยเสนอข้อเรียกร้องไปยังทางรัฐบาล 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องชดเชยราคายางให้ได้ กก.ละ 90 บาทตามที่ตกลงไว้ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 13 ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างแกนนำและตัวแทนรัฐบาลอีกครั้ง 2. รัฐบาลต้องผลักดันให้ราคายางไม่ต่ำกว่ากก.ละ 100 บาท ภายใน 3-4 เดือน 3. รัฐบาลต้องเรียกเก็บเงินกองทุนสงเคราะห์จากผู้ส่งออก หรือเงินเซสเหมือนเดิม และ 4.รัฐบาลต้องไม่เอาผิดผู้ชุมนุมทุกพื้นที่

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อได้ เครือข่ายจะชุมนุมแบบดาวกระจายทุกจังหวัด เพื่อขัดขวางการส่งออกยาง เช่น ปิดด่าน ท่าเรือ หรือเส้นทางส่งออก

ต่อมา เมื่อวานนี้ (8 ก.ย.) นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา เปิดเผยว่าทางเครือข่ายได้เชิญตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ รวม 16 จังหวัด มาประชุมกันที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เพื่อกำหนดท่าทีและแนวทางในการเรียกร้องต่อรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อให้ได้ราคายางพาราที่ 95 บาทต่อ กก. เพราะรัฐบาลอ้างว่าชาวสวนยางภาคใต้ส่วนใหญ่รับได้ที่ราคา 90 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง และหลังจากประชุมจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ เพื่อประกาศจุดยืนให้รัฐบาลรับรู้ ซึ่งถ้าหากในวันที่ 14 ก.ย.นี้ รัฐบาลไม่มีคำตอบ ทางเครือข่ายจะมีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงแน่นอน

หลังการประชุม นายศักดิ์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฝั่งอันดามัน นายอำนวย ยุติธรรม ผู้ประสานงาน จ.นครศรีธรรมราช นายกาจบัณฑิต รามมาก ผู้ประสานงาน จ.สงขลา ร่วมกันแถลงยอมรับราคายาง กก.ละ 90 บาท แต่รัฐบาลต้องไม่ยกเลิกเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิต 1,260 บาทต่อไร่ หากรัฐบาลขยับราคาไปที่ 95 บาท สามารถยกเลิกค่าปัจจัยการผลิตได้ และรัฐบาลต้องยกระดับราคายางพาราให้ได้ 120 บาท ภายใน 6 เดือน

นายกาจบัณฑิต กล่าวว่าจะรอคำตอบจากรัฐบาล หากไม่มีความคืบหน้า วันที่ 14 ก.ย. จะชุมนุมปิดการจราจรที่แยกปฐมพร จ.ชุมพร ตัดขาดเส้นทางลงภาคใต้ และใน จ.สงขลา จะปิดด่านสะเดา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา และสนามบิน เพื่อฟ้องให้โลกรู้ถึงความไม่ใส่ใจเกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาลชุดนี้

นายศักดิ์สฤษฎิ์ กล่าวว่า หากมีการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ที่จะมาเจรจาจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ด้านนายธนพล ทองหวาน กรรมการเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม กล่าวว่า หลังจากเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ได้ประชุมกันที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ว่าวันที่ 13 ก.ย.นี้ แกนนำชาวสวนยางจะนัดหารือกันที่กรุงเทพฯ หากเกินเส้นตายวันที่ 20 ก.ย. รัฐบาลยังไม่ดำเนินการตามที่ตกลงไว้ได้ จะระดมชาวสวนยางถอนเงินจากธนาคารของรัฐทั้งหมด ยกเลิกการใช้ซิม เอไอเอส และจะยกระดับปิดตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ
ด้านพล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ครศรีธรรมราช ที่จะกลับมาชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.นี้ว่า การประเมินสถานการณ์โดยภาพรวมในพื้นที่ และการตรวจเช็กข้อมูลของเจ้าหน้าที่นั้น สถานการณ์ยังคงเป็นไปตามปกติ มีเพียงผู้ชุมนุมบางส่วนเท่านั้น ที่ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณห้างเทสโก้โลตัส ทั้งนี้ในด้านกระแสข่าวโคมลอยที่ออกมา สร้างกระแสว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มที่จะไม่ยอม และมีการชุมนุมยืดเยื้อรุนแรงกันเกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบอย่างแน่ชัดแล้วว่าไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็พร้อมเตรียมกำลังปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา

**นายกฯไม่จริงใจแก้ปัญหายาง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราของรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาด้วยความล่าช้า เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนยางเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาโดยสันติ แต่ไม่มีใครสนใจแก้ไขปัญหา รัฐบาลทำเป็นทองไม่รู้ร้อน กระทั่งเกษตรกรชาวสวนยางทนต่อไปไม่ไหวจึงต้องชุมนุม แต่รัฐบาลไม่ดูดำ ดูดี กลับส่งคนไม่มีอำนาจไปพูดคุย เช่น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เห็นถึงความไม่จริงใจจึงยกระดับขึ้นมา ทั้งนี้การสลายการชุมนุมนั้นเป็นอุทาหรณ์ของรัฐบาลว่า ไม่ควรปล่อยให้การเรียกร้องเกิดขึ้นโดยรัฐบาลนิ่งเฉยไม่ทำอะไร เพราะหากเจรจาต่อรองตั้งแต่ต้นปัญหาก็จะไม่บานปลาย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มที่เตรียมเคลื่อนไหวด้วย เช่น เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาราคายางพาราของรัฐบาลพบว่า 1. มีพฤติกรรมใส่ร้ายชาวสวนยาง 2. กล่าวหาว่ามีนักการเมืองในพื้นที่สนับสนุน เพื่อนำไปสู่การล้มรัฐบาล 3. ใช้วิธีการแบ่งแยกประชาชนในกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อบั่นทอนการชุมนุม 4. การใช้กลไกของรัฐบาลสร้างกระแสสังคมให้เกลียดชังผู้ชุมนุม และ5.ใช้กำลังจัดการผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ ซึ่งขณะนี้การชุมนุมยุติชั่วคราว แต่ยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชย 90 บาท ต่อกิโลกรัม ระยะเวลา 7 วัน และต้องผลักดันให้ถึง 100 บาท ในระยะเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลดำเนินการไม่ชอบมาพากล การชุมนุมก็จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งนายกฯ ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมของประชาชน เพราะเดือดร้อนจริงๆ ควรดำเนินการ มีท่าทีผ่อนปรน มากกว่าแข็งกร้าว ต้องเอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ควรเอาความต้องการรัฐบาลเป็นตัวตั้ง และต้องจริงใจแก้ปัญหาอย่างจริง อย่าใช้เล่ห์เพทุบายกับผู้ชุมนุม หากรัฐบาลจริงใจ จะทำให้การพูดคุยหาทางออกได้ และขอให้นายกฯ สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับแก้ปัญหาชาวสวนยางอย่างจริงใจ

**"นายกฯ"กำชับ"ประชา"ดูแลม็อบสวนยาง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการชุมนุมของชาวสวนยางในจังหวัดภาคใต้ว่า ระหว่างที่เดินทางไปต่างประเทศก็ได้มีการกำชับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในการดูผู้ชุมนุมชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ด้วย อีกทั้งในขณะที่เดินทางไปต่างประเทศ ตนก็จะติดตามสถานการณ์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยความเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รับทราบภารกิจกันอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกส่วนจะช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ของของเกษตรกรได้ทันเวลา 7 วัน หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องยืนยันตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ที่ได้ไปประชุมร่วมกับเกษตรกรตัวจริง เมื่อถามย้ำว่า จะดำเนินตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร ทันเวลาหรือไม่ นายกฯ ได้เดินออกจากวงสัมภาษณ์ และไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

** รมว.อุตฯหนุนตั้งรง.แปรรูปยาง

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยส่งเสริมโรงงานแปรรูปยางพารา อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในการชักจูงนักลงทุนมาตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ ถุงมือยาง/ถุงยางอนามัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ สามารถแก้ไขปัญหาความผันผวนของราคาได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาง กว่าร้อยละ 90 ของไทย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เกาหลีใต้ และยุโรป และอีกร้อยละ 10 เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ภาคต่างๆ

ขณะนี้ได้สั่งการเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังรัฐบาลอนุมัติสินเชื่อ ให้ผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา ขยายการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ตุ.ค.56-ก.ย.58
กำลังโหลดความคิดเห็น