กาญจนบุรี - อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมผู้ว่าฯ กาญจนบุรี และ ผบก.กาญจน์ ลงพื้นที่ตรวจสารพิษกลางป่าเมืองกาญจน์ พบเป็นสารพิษอันตรายต่อมนุษย์ เผยเบื้องต้นรู้ตัวผู้ต้องหาแล้ว และเตรียมคุมตัวมาดำเนินคดี ชี้หากสาวถึงใครต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย และเตรียมขนย้ายสารพิษไปทำลายอย่างถูกวิธี เกรงชาวบ้านได้รับอันตราย
จากกรณีที่มีผู้ลักลอบนำสารพิษไม่ทราบชนิดใส่ถุงบิ๊กแบ็ก และถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร มาทิ้งที่บริเวณป่าเชิงเขาตอง หมู่ 6 บ้านหนองสองตอน ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยถูกนำมาทิ้งรวมกัน 2 จุด ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุด วันที่ 16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กลุ่มงานเฝ้าระวังฯ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ได้นำอุปกรณ์ และสารเคมีทางวิทยาศาสตร์มาทำการตรวจสอบหาค่าสารพิษที่เจือปนอยู่ พบว่าถังพลาสติกสีน้ำเงินขนาด 200 ลิตร ประมาณ 40-50 ถัง ถูกกองทิ้งไว้รวมกันตรวจสอบพบว่าเป็นสารเรซิน ที่หมดอายุการใช้งาน ส่วนสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กทั้งหมดเป็นตะกรันหลอมอะลูมิเนียม ที่เสื่อมสภาพ ตรวจสอบเบื้องต้นพบมีสารแคดเมียม และสารโครเมียม อยู่ในระดับ 2 ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ และพืชชนิดต่างๆ
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (19 ส.ค.) นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสอบสารเคมีที่มีผู้ลักลอบนำมาทิ้งที่บริเวณป่าเชิงเขาตอง หมู่ 6 ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยมีชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายบุญญะพัฒน์ จันทรอุไร ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี พล.ต.ต.กมลสันติ กลั่นบุศย์ ผบก.ภ.จว.กายจนบุรี นายหัสนัย จิตอารีย์ นายอำเภอท่าม่วง พ.ต.อ.ธีระเดช อธิภัคกุล ผกก.สภ.ท่าม่วง ร.ต.ท.ชุมพล เหลืองเอี่ยม พนักงานสอบสวน สภ.ท่าม่วง นายเดโช ประกาศแก่นทราย ปลัดอาวุโสอำเภอท่าม่วง เจ้าหน้าที่อำเภอท่าม่วง ร่วมเดินทางไปตรวจสอบ
นายณัฐพล เปิดเผยว่า สารเคมีที่นำมาทิ้งเกิดจากการขบวนการฟอกย้อม และที่พบมีอยู่ประมาณ 40 ถัง ประมาณ 20 ตัน ส่วนจุดที่ 2 ที่พบบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กนั้น เกิดจากการหลอมอะลูเนียมขั้นสุดท้าย เป็นชนิดเดียวกันที่เราเคยเจอที่จังหวัดสมุทรสาคร และหลังจากที่กรมโรงงานได้รับการประสาน เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงม่าตรวจสอบตั้งแต่วันที่วันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบว่าเป็นวัตถุอะไรกันแน่ และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ลักลอบทิ้งเศษกากจากอุตสาหกรรม รวมทั้งเจ้าของที่คือ ทหารก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำแล้วเช่นกัน จะพบว่าเจ้าของที่ดินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการที่จะลักลอบทิ้งกากสารเคมี
ฉะนั้น สิ่งที่เราจะตองเร่งดำเนินการก็คือ จะต้องเร่งสืบหาต้นตอว่ากากของเสีย หรือวัตถุที่ถูกนำมาทิ้งเหล่านี้มาจากใคร หลังจากทราบก็จะได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ลักลอบนำกากของเสียเหล่านี้มาทิ้ง แต่ในเบื้องต้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทางกรมโรงงาน ได้ประสานไปยังบริษัทกำจัดสารพิษที่ได้มาตรฐานของกรมโรงงานนำรถบรรทุกพร้อมเจ้าหน้าที่มาขนย้ายสารเคมีไปเผาทำลายทิ้งนิคมอุตสาหกรรมบางปู เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนตะกรันที่หลอมจากอะลูมิเนียม ก็จะขนย้ายไปทำลายด้วยการฝังกลบในพื้นที่จังหวัดสระบุรี
สำหรับสารโคลิเมอร์ ที่ปกติจะไม่พบที่ไหนใช้มาก่อน แนวทางการสอบสวนหาที่มาของสารชนิดดังกล่าวนั้น เบื้องต้นเราพบเอกสารที่ติดอยู่ข้างถัง ซึ่งเราจะนำสารไปตรวจสอบว่าวัตถุที่บรรจุอยู่ในถังนั้นเป็นสารชนิดเดียวกันหรือไม่ และหากปรากฏว่าเป็นสารชนิดเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าบริษัทที่นำมาทิ้งจะเป็นเอกสารที่ปรากฏอยู่บนถัง ซึ่งสารชนิดนี้จะมีอันรายเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ถือว่าเป็นวัตถุที่อันตรายประเภทหนึ่ง และหลังจากตรวจสอบแล้วเราจะดำเนินคดีใน 2 คดีคือ ลักลอบทิ้งกากตาม พ.ร.บ.โรงงาน และคดีครอบครองลักลอบนำวัตถุอันตรายมาทิ้งโดยผิดกฎหมายซึ่งมีโทษถึงจำคุก สำหรับระยะในการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาเบื้องต้นเราได้ปรึกษากับ พล.ต.ต.กมลสันติ กลั่นบุศย์ ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรีแล้ว คาดว่าการตรวจสอบสารเคมีจะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นของบริษัทที่ประกฏอยู่บนถังพลาสติก ก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เพื่อให้เรียกบริษัทมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ในส่วนการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบันกรมควบคุมโรงงานได้เข้าไปควบคุมโรงงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ที่รับกากไปบำบัดทุกวันนี้ยังมีการลักลอบนำไปทิ้ง ซึ่งพบอยู่หลายๆ ที่ อาจจะเป็นเพราะการนำกากไปบำบัดจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างเช่นตะกรันหลอมอะลูมิเนียมมีค่าใช้จ่ายในการนำไปบำบัดถึงตันละ 4,500 บาท ในเมื่อค่าบำบัดมีราคาสูง โรงงานเหล่านี้ก็จะไปจ้างบริษัท หรือใครก็ไม่รู้ให้นำสารเคมีไปทำลาย และสุดท้ายผู้ที่รับช่วงต่อก็นำมาทิ้งอย่างที่เป็นอยู่
ดังนั้น มาตรการการป้องกันก็คือ จะต้องลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ปรับ จะต้องดำเนินคดีทางอาญาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และจากนี้ไปกรมโรงงานจะไปเร่งตรวจสอบโรงงานประเภท 105 หรือโรงงานประเภท 106 ทั้งหมดทั่วประเทศว่ามีศักยภาพในการรับของเสียเหล่านี้หรือไม่ ถ้าพบว่าโรงงานนั้นๆ ไม่มีศักยภาพเราก็จะไม่ออกใบอนุญาตให้ หรืออาจจะถอนใบอนุญาต สค.2 ที่มีอยู่ เพื่อขจัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะทำการขนย้ายสารเคมีเพื่อนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่จะเกิดความปลอดภัย และสบายใจยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว เพราะสารเคมีที่พบไม่ใช่สารเคมีที่คิดจะนำไปทิ้งที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่กำลังเร่งรัดนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว คาดว่าเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่งของวันนี้ เจ้าหน้าที่ก็คงจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้ จากนั้นจะสืบสวนต่อไปว่า ต้นตอ หรือแหล่งที่มาของสารเคมีทั้งหมดนั้นนำมาจากที่ใด ซึ่งจะถูกดำเนินคดีต่อเจ้าของแหล่งที่มาของสารเคมีเช่นกัน
แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงก็คือ หากมีขบวนการลักลอบนำสารพิษมาทิ้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่กว้างใหญ่มีผืนป่าที่อยู่ห่างไกลชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการป้องกัน ดังนั้น ตนจะประสานกับผู้นำท้องที่ เช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยกันตรวจสอบ เช่น หากพบรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หรือ 18 ล้อวิ่งเข้ามาในพื้นที่โดยที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เข่าไปตรวจสอบในทันที นี่คือมาตรการการป้องกันในเบื้องต้น
ทางด้าน พล.ต.ต.กมลสันติ กลั่นบุศย์ ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบาะแสแล้วว่า ผู้ที่ลักลอบนำสารพิษมาทิ้งนั้นเป็นใคร ซึ่งในเวลา 15.30 น. ผู้ต้องหาจะเดินทางไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.ท่ม่วง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตั้งข้อหาลักลอบสิ่งปฏิกูล ซึ่งข้อหาดังกล่าวเป็นข้อหาเพียงเล็กน้อยโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ถ้าหากตรวจสอบเป็นที่แน่ชัดว่า สารเคมีที่นำมาทิ้งเป็นวัตถุอันตรายผู้ต้องหาก็จะถูกดำเนินคดีที่หนักกว่าเดิม และหากเจ้าหน้าที่เรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาหากไม่มาก็สามารถออกหมายจับได้เลย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ขอปิดรายชื่อผู้ต้องหาเอาไว้ก่อน แต่เบื้องต้นจะดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาในคดีของ พ.ร.บ.โรงงานก่อน
สำหรับผู้ต้องหานั้นเป็นคนในพื้นที่ เบื้องต้นมีทั้งหมด 2-3 คน ส่วนแหล่งที่มาจากการตรวจเอกสารรหัสของบริษัทพบว่า มาจากอำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แต่รายละเอียดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอให้กรมโรงงานมาให้ข้อมูลที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ประสานท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่มาในวันนี้แล้วว่า ขอให้เจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อเรา เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำผิด หรือผู้จ้างวานต่อไป ซึ่งดูจากลักษณะแล้วคงมีขบวนการที่ทำกันเป็นทอดๆ แต่ในเบื้องต้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ได้ให้ข้อมูลในเชิงลึกต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่บอกว่าอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบถังพลาสติกที่บรรจุสารเคมี และถุงบิ๊กแบ็กที่บรรจุตะกรันหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น รวมทั้งจะต้องให้เจ้าหน้าที่วิศวกรเคมีมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง หากพบว่าเป็นสารพิษจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาเพิ่มเติมได้