xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ตื่นถกภาครัฐ-เอกชนแก้ราคายาง เจ้ากระทรวงประสานเสียงหนุนใช้เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาราคายาง สธ.เล็งสั่งซื้อเพิ่มอีก 50% ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ คมนาคม พร้อมนำยางพาราไปสร้างถนน พาณิชย์ เตรียมหาช่องขายในตลาดล่วงหน้า “ประเสริฐ” คาดแวดวงอุตสาหกรรมยางต้องการวัตถุดิบเพิ่ม 50% “ประธานสภาอุตฯ” มั่นใจไตรมาส 3-4 ราคาขึ้นสูงแน่


ที่ทำเนียบรัฐบาล เช้าวันนี้ (6 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหมที่จะร่วมหารือกับนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง นายกสมาคมถุงมือยางแห่งประเทศไทย นายกสมาคมยางพาราไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด และกรรมการผู้จัดการของบริษัท กู๊ดเยียร์ โอเรียนต์ จำกัด เข้าร่วมประชุม

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการกระตุ้นเรื่องการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ จากยางพารา เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้และมีโครงการที่จะไปช่วยเหลือต่างประเทศ โดยมีการซื้อเพิ่มอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมาตรการต่อไปจะช่วยในภาคเอกชนรื่องการเพิ่มการผลิตเพื่อลดต้นทุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถุงมือยางจะมีการเริ่มสั่งซื้อทันที เพราะเป็นมาตรการระยะสั้น ขณะเดียวกัน เรื่องถุงยางอนามัยเราจะใช้ในเรื่องการส่งเสริมการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับองค์การเภสัชกรรมที่จะเข้ามาหาวิธีร่วมลงทุนกับผู้ผลิตรายย่อยให้มีความสามารถที่จะเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น รวมถึงเงินลงทุนที่ผู้ผลิตรายย่อยอาจจะขาด จะทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา และเพื่อแข่งกับการใช้ยางสังเคราะห์ได้ ทั้งนี้ สำหรับการผลิตถุงมือยางจากเดิมที่เราใช้ยางธรรมชาติ 2.5 หมื่นตันต่อปี โดยเราอยากจะให้เพิ่มให้เป็นอีกเท่าตัว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเน้นการนำยางพาราไปทำถนน ฉาบผิวทาง โดยสามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งนายกฯ ได้ขอให้ทางทหารช่างพัฒนามาช่วยด้วย โดยเฉพาะถนนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีถึง 7 เส้นทางจะรีบเร่งรัดและดำเนินการให้เร็วที่สุด นอกจากนี้จะมีการขยายเพื่อนำไปใช้ตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่สามารถนำยางพารามาใช้ได้ เชื่อว่าการช่วยกันอย่างนี้จะทำให้ราคายางพาราดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนยืนยันว่าสถานการณ์ยางพาราเริ่มดีขึ้น และราคาเริ่มดีขึ้น ส่วนการทำในประเทศหากรัฐบาลสามารถช่วยเหลือในเรื่องการลงทุนจะสามารถสร้างโรงงานที่แปรรูปได้

นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกันว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราเป็นช่วงขาขึ้น เพราะขาลงไปต่ำสุดอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดีขึ้นจึงมีผลให้ในไตรมาส 3 และ 4 ราคายางพาราจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการชุมนุมเรียกร้องราคายางพารานั้น ทางรัฐบาลพยายามจะช่วยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำเรื่องการผลิตยางรัฐบาลจะช่วยลดต้นทุนเรื่องราคาปุ๋ย กลางน้ำในขั้นตอนแปรรูป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปตั้งกลุ่มคุยกันว่าช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และปลายน้ำเรื่องการค้าและการส่งออก หลังจากนายกฯได้มีการพูดคุยกับนายกฯ จีนแล้ว จึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคุยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการขยายการซื้อและการนำเข้าที่เหมาะสม ยืนยันว่าตลาดยังไม่มีปัญหาเรื่องปริมาณ เพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ราคาต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเสนอรัฐบาลต่อไปว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้มีการขายในตลาดล่วงหน้าได้เพื่อเป็นให้เกิดความเชื่อมั่น

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับตัวแทนบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่มาหารือในครั้งนี้มีสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศประมาณ 5 แสนตัน ใช้ผลิตยางรถยนต์ 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนบริษัทเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพิ่มการใช้วัตถุดิบที่เป็นยางพาราในประเทศ หลายบริษัทได้ขยายการผลิตและขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และจะมีบริษัทต่างประเทศประมาณ 2-3 แห่ง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ จะมาตั้งโรงงานแปรรูปในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกิจการอื่นๆ ที่มีความต้องการจะใช้ยางพาราแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น แนวโน้มการใช้ยางพาราจึงมีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่น้อยกว่า 9 แสนตัน และจะสามารถใช้ยางพาราในประเทศได้ถึง 1 ล้านตันภายในไม่เกิน 2 ปี ซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดประชุมผู้ประกอบการกิจการแปรรูปยางพาราทุกกิจการเพื่อมาดูว่าบริษัทใดมีศักยภาพที่จะขยายการผลิตและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพื่อภาครัฐจะได้สนับสนุนเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโดยทั่วไปดีขึ้น โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งสต็อกของแต่ละที่มีปริมาณที่ต่ำลง ทำให้มีสัญญาณของการแย่งซื้อไม่ว่าจะเป็นจากต่างประเทศและในประเทศ ด้านสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่ 2 แสนตัน จะใช้ในเรื่องการทำถนนและอื่นๆ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตของภาคเอกชน ดังนั้น นอกจากยางพาราจะราคาขึ้นแล้วยังจะทำให้ปริมาณหายากขึ้นด้วย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 4 น่าจะมีการขับเคลื่อนในทางที่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่สดใส

นายประชัย กองวารี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการส่งออกถุงมือยางไปต่างประเทศประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้ในประเทศไทยประมาณปีละ 3 แสนตัน หากรัฐบาลให้เงินมาอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะส่งผลให้มีการใช้ยางพาราอีกปีละ 5 แสนตัน ซึ่งการใช้ยางพารามีแต่จะเพิ่มขึ้น หลังจากนี้ราคายางพาราจะสูงขึ้น จะไม่มีลง เพราะรัฐบาลมียางพาราที่เก็บไว้อยู่ 2 แสนตัน หากจะมาทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น และฟุตบาท จำนวนดังกล่าวย่อมไม่เพียงพอ

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราในไตรมาส 3 และ 4 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นเดือน ส.ค. เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีการฟื้นตัวในไตรมาส 2 ประเทศจีนมีการนำเข้ายางพาราสูงขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวแล้ว และในเดือน ก.ย.นี้ราคายางจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ กก.ละ 80 บาท จึงอยากให้เกษตรกรติดตามการใช้ยางพาราในตลาดโลก และร่วมมือกันระบายออกสู่ตลาดในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของมาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ส่งสัญญาณมาว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการหารือทุกระดับ



กำลังโหลดความคิดเห็น