ผมเขียนบทความนี้ในท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุของม็อบสวนยาง ที่นับวันจะถูกแรงกดดันจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่แยแสจะแก้ไขความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างจริงใจ ทำให้การชุมนุมเรียกร้องราคายางเพิ่มระดับความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์การ์ดของการชุมนุมที่บริเวณสามแยกบ้านตูล อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชถูกยิงด้วยอาวุธปืน เสียชีวิต 1ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย และต่อมายังมีผู้ชุมนุมที่ควนหนองหงษ์ถูกยิงตายซ้ำอีก 1 รายโดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งเป็นการเพิ่มความโกรธแค้นของผู้ชุมนุมสะสมจากการที่ถูกตำรวจไล่ทุบตี อย่างโหดร้ายป่าเถื่อนมาก่อนหน้านี้
ประกอบกับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายาง ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยรัฐบาลยืนยันจะช่วยเหลือได้แค่ให้ค่าชดเชยปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิหรือมีสิทธิทำกินในพื้นที่รายละไม่เกินสิบไร่ ในอัตราไร่ละ 1,260 บาท โดยยืนยันเป็นมติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ในภาคใต้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
การแสดงออกถึงความไม่ใส่ใจและไม่จริงใจของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในการแก้ไขปัญหา คือในระยะที่เริ่มมีการชุมนุม หลังจากให้ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุมแล้ว ก็ยังส่งคนอย่างแรมโบ้ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ซึ่งเป็นฮาร์ดคอร์คนเสื้อแดงที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนปักษ์ใต้ ไปเป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในการเจรจา เหมือนเจตนาจะยั่วโทสะผู้ชุมนุมแทนที่จะส่งคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับยางพาราโดยตรงที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อมีมติ ครม.ยืนกรานที่จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้ว ก็ทำแค่ส่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง ที่เป็นอดีตนายตำรวจรุ่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร ไปทำได้แค่รับข้อเสนอจากผู้แทนเกษตรกร โดยอ้อมแอ้มว่าจะนำไปเสนอ กยน. และนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เหมือนแค่เป็นการซื้อเวลา ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นแล้ว
การชุมนุมแผ่ขยายจากจุดแรกที่อำเภอชะอวด ลามไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ปลูกสวนยางจำนวนไม่น้อย และแทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง อย่างเป็นเหตุเป็นผลในภาพรวมทั้งหมด แต่กลับใช้วิธีแบ่งแยก โดยเลือกแก้ปัญหาเฉพาะในส่วนของภาคเหนือภาคอีสานที่เป็นเขตพื้นที่เสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยก่อน ส่วนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่หลักของการปลูกสวนยางพารา กลับมองว่าเป็นม็อบการเมืองเป็นการยุยงสร้างม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ และพยายามจะใช้กำลังตำรวจเข้ากดดันคุกคาม โดยลืมคิดไปว่า พื้นฐานนิสัยของคนปักษ์ใต้ไม่ยอมสยบให้กับการข่มเหงรังแกโดยง่าย และพร้อมจะสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมอย่างไม่เกรงกลัวใดๆ
แม้รัฐบาลจะตัดกำลังการชุมนุมในส่วนของชาวสวนยางภาคเหนือภาคอีสานไปได้บางส่วนแล้ว แต่กลายเป็นการกดดันให้ภาคใต้แผ่ขยายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปทั่วทั้งภาคใต้ 14 จังหวัด โดยไปเปิดพื้นที่ชุมนุมใหญ่อีกแห่งหนึ่ง รวมตัวกันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแผ่กระจายลุกฮือไปเกือบทุกจังหวัด มีการปิดถนนและทางรถไฟอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลยังไม่ได้รับการตอบสนองที่พอใจ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการลุกฮือขึ้นพร้อมกันของประชาชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ โดยแกนนำประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าไม่รับรองว่าจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นจลาจลนองเลือดหรือไม่
การปะทุขึ้นของเกษตรกรชาวสวนยางครั้งนี้ เป็นลางบอกเหตุว่าประชานิยมของระบอบทักษิณ ที่เป็นมายากลทางการเมืองใกล้จะถึงจุดจบเต็มที ไม่แน่ว่าเกษตกรไทยที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากทุกพืชผลทางการเกษตร อาจจะพร้อมใจกันลุกฮือขึ้นสมทบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าว และพืชผลอื่นๆ ที่ล้วนตกต่ำด้วยกันทั้งสิ้น มิหนำซ้ำยังเจอกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขี้น เพราะการบริหารจัดการด้านพลังงาน แก๊ส และน้ำมันเชื้อเพลิง แบบฉ้อฉล ทำให้พลังงานที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ฉุดดึงภาวะค่าครองชีพจนเกิดสภาพข้าวยากหมากแพงเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
ม็อบสวนยางที่มาจากการเดือดร้อนแท้จริงของเกษตกรชาวสวนยางพารา แต่ถูกรัฐบาลผลักไสให้กลายเป็นม็อบการเมือง อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่การลุกฮือขึ้นของเกษตรกรทั่วประเทศ ผนวกเข้ากับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่เปิดตุ่มรอแม่น้ำทุกสายไหลมารวมกันที่สวนลุมพินี ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนผู้มาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวชาวอาชีวะและนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เริ่มทยอยกันมาประกาศตัวเข้าร่วมกองทัพประชาชนที่สวนลุมพินีจึงเป็นกองทัพที่สะสมพลังซุ่มเงียบรอจังหวะการเคลื่อนไหวอย่างเยือกเย็นและน่าจับตามอง
หรือว่าคำพยากรณ์ของหมออีที และโหราจารย์อีกหลายท่านในเมืองไทยจะถูกต้องเป็นจริง ถ้าอย่างนั้น จุดจบของระบอบทักษิณ ก็เริ่มนับถอยหลังได้แล้ว นับแต่วันนี้เป็นต้นไป.........โปรดอย่ากะพริบตา!