xs
xsm
sm
md
lg

"สรยุทธ"โกงอสมท มีเฮ!-คดีไร่ส้มโยนอสส.ชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สำนักข่าวอิศรา เผยโฆษกอัยการสูงสุด ยืนยันคณะทำงานสรุปสำนวนคดีค่าโฆษณา อสมท. 138 ล้านบาท ส่งให้ อัยการสูงสุด พิจารณาแล้ว จ่อฟ้อง“สรยุทธ-ไร่ส้ม”หรือไม่ หลังคดีข้ามปี เหตุป.ป.ช.ชี้มูล “พนักงาน อสมท.- บริษัท ไร่ส้ม” กรณีไม่เรียกเก็บเงินค่าโฆษณาส่วนเกิน จนถึงขั้นกมธ.สื่อ ส่งเรื่องไปยังช่อง 3 ต้นสังกัด เรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ผู้ประกาศชื่อดังกลับเมิน!

วานนี้ (29 ส.ค. 56) สำนักข่าวอิศรา รายงานคำสัมภาษณ์ของนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงความคืบหน้าคดี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดบริษัท ไร่ส้ม จำกัด กรณีได้เวลาโฆษณาเกินจากที่กำหนดไว้ในสัญญา ในรายการคุยคุ้ยข่าว โดยได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จน อสมท. ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 138,790,000 บาท

ความคืบหน้าล่าสุด คณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของอัยการสูงสุด

รายงานระบุว่า นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีที่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีความผิด จากการที่พนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทุจริตช่วยเหลือให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยให้โฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญา ในการจัดรายการคุยคุ้ยข่าว เป็นเหตุให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายถึง 138,790,000 บาท ว่า ขณะนี้คณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้สรุปสำนวนการสอบสวนคดีนี้เสนอให้ทางอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ส่วนรายละเอียดผลการสรุปสำนวนการสอบสวนคดีนี้ คงไม่สามารถเปิดเผยได้ เรื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของอัยการสูงสุด ซึ่งยังไม่ได้แจ้งผลออกมา

“ผมบอกได้แต่เพียงว่า คณะทำงานที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้ส่งผลสรุปสำนวนการสอบสวนคดีนี้ เสนอให้ทางอัยการสูงสุดพิจารณาไปแล้ว และมีข้อสรุปสำคัญหลายประเด็น แต่ขณะตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา คงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลอะไรได้”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นายวินัย เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันกับ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คณะทำงานกำลังเร่งพิจารณาคดีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากสื่อมวลชนให้ความสนใจคดีนี้มาก แต่เพราะเป็นคดีที่มีรายละเอียดมาก ค่อนข้างยุ่งยาก คาดว่าคงต้องใช้เวลาสัก 2-3 เดือน จึงจะได้ข้อยุติที่ชัดเจน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไปว่าจะเห็นด้วย หรือจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

ขณะที่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงานอัยการนั้น นายสรยุทธ และบริษัทไร่ส้ม จำกัด ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ต่อ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ในการพิจารณาคดีดังกล่าวก่อนหน้านี้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า หากอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกชี้มูล คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ป.ป.ช.สามารถฟ้องคดีต่อศาลเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 ระบุสรุปความว่า หากอัยการสูงสุดเห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ให้อัยการสูงสุดแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องต่อไป ในกรณีทั้งสองฝ่ายไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน

โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และนางสาวมณฑา ธีระเดช พนักงาน บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา (นางชนาภา บุญโต) ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่ กำหนดในสัญญาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ นางสาวมณฑา ธีระเดช นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา (ในฐานะส่วนตัว) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (ในฐานะนิติบุคคลมีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด ตามมาตรา 6 , มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ขณะที่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 นายสรยุทธ ได้เดินทางไปยังศาลปกครอง คดีนี้บริษัทไร่ส้ม ระบุในคำฟ้องว่า อสมท. ปฏิบัติผิดข้อตกลงและสัญญาร่วมผลิตรายการโทรทัศน์ในชื่อรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อสมท. หรือสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกินจากผู้ฟ้องคดีโดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้าตามข้อตกลง นอกจากนี้ อสมท. ยังได้โฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาตามข้อตกลง ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอให้คืนเงินค่าโฆษณาที่ผู้ฟ้องคดีได้ชำระเกินไป และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดตามหนังสือทวงถาม เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายในการแถลงการณ์สรุปสำนวนคดีที่บริษัทไร่ส้ม จำกัด เป็นผู้ฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวนายอนุชา ฮุนสวัสดิกุล ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอความเห็นต่อองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน ว่า ตามการไต่สวนในคดีดังกล่าวเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีการโฆษณาเกินเวลาจริง และมีผู้เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นจำนวนมากซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบ ดังนั้น การที่บริษัทไร่ส้มจะจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการปกปิดคิวโฆษณาที่เกินนั้นค่อยข้างทำได้ยาก จึงถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบ ฉะนั้นเห็นควรให้ บริษัท อสมท คืนเงินจำนวน 49.35 ล้านบาท ที่เป็นส่วนลดโฆษณา ให้กับบริษัทไร่ส้ม พร้อมชำระค่าส่วนแบ่งโฆษณาที่เบียดสิทธิ์ผู้ฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ด้วยทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางประกอบการพิจารณาของคณะตุลาการผู้แถลงคดีเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาสิ้นสุดคดี

ขณะที่นายสรยุทธให้สัมภาษณ์ช่วงนั้นว่า ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะละเมิดอำนาจศาล ซึ่งยังคงต้องรอคำพิพากษาของศาลต่อไป ส่วนสังคมจะวิพากษ์วิจารณาอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล

ขณะที่ต้นปี 2556 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และมีการส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรควร ได้ส่งเรื่องไปยังช่อง 3 ต้นสังกัดนายสรยุทธ เพื่อให้แสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยุติบทบาทในหน้าที่สื่อมวลชนของตัวเองก่อนที่จะมีการดำเนินคดีในศาล อันเป็นมาตรการทางอาญา เพื่อเป็นบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างสื่อมวลชนที่ดีในสายตาของประชาชน

จนล่าสุด คณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของอัยการสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น