xs
xsm
sm
md
lg

การประชุมรัฐสภาเพื่อกำจัดสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาเป็นการประชุมเถื่อนของรัฐสภา (Unconstitution)

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ข้อ 1.การประชุมรัฐสภาที่เกิดความวุ่นวายจนมีข่าวไปทั่วโลกนั้น มีสาเหตุมาจากเป็นการกระทำของรัฐสภา( เสียงข้างมาก ) เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ( Establish ) อันมิใช่เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญมาตรา 136 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน (1)........(2)...........(3).............. “ (16 ) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ” ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) การประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะกระทำเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ ก็แต่เฉพาะเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เท่านั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ประธานรัฐสภามีอำนาจเรียกให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่นได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ( Rigid Constitution )

มาตรา 136 (16) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นไม่ได้ การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นจะต้องพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสียก่อนว่า มาตรา 291 เป็นอุปสรรคที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นหรือไม่ ถ้ามาตรา 291 เป็นอุปสรรคที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นแล้ว รัฐสภาจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสียก่อน ตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญให้รัฐสภากระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16 ) รัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นใด โดยไม่พิจารณาเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 136 ( 16 ) ซึ่งก็คือต้องพิจารณาเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั่นเอง


รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ตามวรรคหนึ่งว่า

“ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้ ”

ดังนั้นบุคคลตามมาตรา 291 (1) คือ คณะรัฐมนตรี สมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดหรือมาตราใด จึงมีความผูกพันที่ญัตติของการขอแก้ไขนั้นต้องสอดคล้องและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 291 วรรคหนึ่ง และรัฐสภาก็มีความผูกพันที่จะต้องพิจารณาญัตติขอแก้ไขนั้นต้องสอดคล้องและไม่ขัดต่อมาตรา 291 วรรคหนึ่งด้วย
หากญัตติที่ขอแก้ไขนั้นไม่สอดคล้องหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่งแล้ว รัฐสภาจะพิจารณาญัตติที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้เลย การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง จะต้องดำเนินการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามหลักการของที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ [ การสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่ามาตราใด จะต้องทำประชามติตามวิธีการของที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 ] ถ้าญัตติขอแก้ไขสอดคล้องหรือไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์มาตรา 291 วรรคหนึ่งแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่อาจแก้ไขได้เพราะมาตรา 291 รัฐสภาจะต้องพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสียก่อน เพื่อเปิดประตูให้บุคคลตามมาตรา 291 (1) เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นได้ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก แต่ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานั้นๆ จะต้องไม่ใช่เป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนหลักการของรัฐธรรมนูญ 2550

การที่รัฐสภาได้พิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาในเรื่องที่มาของสมาชิกรัฐสภาเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา โดยต้องการให้มีแต่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเข้าทำหน้าที่ในสภาได้นั้น จะเห็นได้ว่า ญัตติที่ขอแก้ไขนั้น เป็นการขอแก้ไขโครงสร้างองค์กรของรัฐสภานั่นเอง จึงเป็นการประชุมรัฐสภาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการขอแก้ไขโครงสร้างขององค์กรรัฐสภา เป็นการก้าวล่วงเพื่อเปลี่ยนแปลงทฤษฎีทางอำนาจ ( Theory of authority ) ของรัฐสภาซึ่งไม่อาจกระทำได้เลยไม่ว่ากรณีใด การประชุมรัฐสภาในกรณีนี้จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในทางรัฐสภาโดยใช้เสียงข้างมากมาเป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ อันเป็นการกระทำความผิดอาญาต่อแผ่นดิน

ข้อ 2. เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แต่เฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 136 รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นได้หรือไม่นั้น จึงต้องขึ้นอยู่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นนั้น เป็นการแก้ไขที่สอดคล้องหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ญัตติที่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้เสนอขอแก้ไขตามมาตรา 291 วรรคหนึ่งนั้น แม้ญัตตินั้นยังไม่เกิดผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือยังไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ รัฐธรรมนูญก็ห้ามมิให้บุคคลตามมาตรา 291 (1) เสนอ โดยใช้คำว่า “ จะเสนอมิได้ ” ความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่ป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับการปกครองประเทศ หรือจะเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ภัยพิบัติดังกล่าวจะปล่อยให้เป็นภัยที่ใกล้จะถึงไม่ได้ โดยปล่อยให้มีการเสนอญัตติต่อรัฐสภาไม่ได้ และญัตติดังกล่าวจะต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ว่าญัตติดังกล่าวนั้นจะก่อให้เกิดภยันตรายต่อการปกครอง หรือจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือไม่ ถ้าญัตติดังกล่าวอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ แม้ยังไม่เกิดผลในขณะที่เสนอญัตติ รัฐสภาก็จะรับญัตติดังกล่าวไม่ได้ ถ้ารัฐสภาต้องการจะรับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณา รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการตามมาตรา 136 (16) คือ รัฐสภาจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่งเสียก่อน หากไม่มีการพิจารณาแก้ไขมาตรา 291 วรรคหนึ่ง โดยรับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นโดยตรง โดยไม่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง เลยนั้น จึงเป็นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ดังกล่าวได้เลย

“ ญัตติข้อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ ” ตามมาตรา 291 วรรคหนึ่งนั้น เป็นบทบัญญัติที่ป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย เป็นบทบัญญัติที่ใช้หลักการเดียวกับกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน เช่น กฎหมายอาญามาตรา 221 บัญญัติว่า “ ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิด จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท”

หรือมาตรา 227 บัญญัติว่า “ ผู้ใดมีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือ วิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”

การกระทำความผิดอาญาที่จะเกิดอันตรายต่อประชาชน จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายในการป้องกันภัยให้กับประชาชนไว้ ดังนั้นแม้ความเสียหายยังไม่เกิดเพียงแต่น่าจะเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น กฎหมายอาญาก็บัญญัติให้เป็นความผิดสำเร็จและต้องถูกลงโทษแล้ว เช่นเดียวกับความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมายอาญาบัญญัติเพียง “ ขั้นตระเตรียมการ ” ซึ่งยังไม่ถึงกับลงมือถึงขั้นพยายามก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยนัยเดียวกันกับรัฐธรรมนูญซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่ากฎหมายอาญา เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น หรือน่าจะเกิดขึ้นต่อระบบการปกครองประเทศหรืออาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐนั้น จึงต้องห้ามเด็ดขาดมิให้มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ( Exclusionary Authority ) โดยห้ามทั้งผู้เสนอและรัฐสภาผู้พิจารณาญัตติดังกล่าว

หลักการรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะกลั่นกรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นหากไม่สอดคล้องหรือขัดหรือมีผลที่อาจจะขัดต่อหลักการมาตรา 291 วรรคหนึ่งแล้ว รัฐสภาก็จะต้องพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) เสียก่อน เพื่อเปิดประตูให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐสภาว่า ญัตติที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นนั้น จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ ถ้าผลของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐแล้ว รัฐสภาก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16 ) ไม่ได้ และญัตติที่ขอแก้ไขนั้นก็จะต้องตกไปจะนำมาพิจารณาไม่ได้ แต่ถ้าผลของการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ไม่มีผลต่อการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐแล้ว แต่มีข้อขัดข้องที่ไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศได้แล้ว รัฐสภาก็ต้องพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดประตูให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆได้

อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งให้อำนาจรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่นได้เลย การใช้บังคับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 136 (16 ) จะต้องตีความตามตัวอักษร เพราะเป็นการใช้อำนาจที่มีผลต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นที่นอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 136 (16) โดยข้ามขั้นตอนไม่นำญัตติแก้ไขมาตราอื่นมาพิจารณาว่าขัดกับมาตรา 291 หรือไม่นั้น การประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็เป็นการประชุมเพื่อล้มล้างการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตยและนำไปสู่อำนาจเผด็จการได้

ข้อ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นการขอแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยรัฐสภาเสียงข้างมาก ไม่ต้องการให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา โดยขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 113 และ114 จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาโดยเสียงข้างมากต้องการเปลี่ยนองคาพยบขององค์กรรัฐสภาเอง เมื่อสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา เป็นการสรรหามาจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในสาขาวิชาการ และวิชาชีพต่างๆ มีวัฒนธรรม คุณธรรม และจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีหลักประกันในเบื้องต้น ในทางคุณภาพและคุณธรรมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอื่นซึ่งไม่มีหลักประกันในเบื้องต้นเช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา แต่มีหลักประกันในเบื้องต้นจากความนิยม ความไว้วางใจจากประชาชนคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง [ ยกเว้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมาจากการคัดเลือกของหัวหน้าพรรคการเมือง หรือ กรรมการพรรคการเมือง ] การมีสมาชิกรัฐสภาที่มาจากความหลากหลาย แตกต่างกันก็เพื่อให้การทำหน้าที่ของรัฐสภาเกิดประสิทธิภาพและดุลยภาพในการทำหน้าที่ในทางรัฐสภาร่วมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงองคาพยบขององค์กรรัฐสภา จึงไม่ใช่เป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย และใช้วิธีการทางรัฐสภาดำเนินการกำจัดวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาให้พ้นไปจากรัฐสภาไทย โดยใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของรัฐสภาไทย ( Power Structure ) เพื่อไม่ให้มีบุคคลที่มีคุณสมบัติในทางคุณภาพ คุณธรรม มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในทางวิชาการและวิชาชีพ ( Functional Representative ) มาทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในวิถีทางรัฐสภา อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ในบริบทแห่งรัฐธรรมนูญที่การปกครองแบบรัฐสภานั้น ต้องมีทั้งดุลยภาพและประสิทธิภาพ

การรื้อโครงสร้างทางอำนาจของรัฐสภาไม่อาจกระทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยมาตรา 136 (16 ) ไม่ได้ การประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรรัฐสภาเพื่อกำจัดสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาออกจากรัฐสภาไทย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของรัฐสภาไทยนั้น
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา จึงเป็นการประชุมรัฐสภาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีผลเป็นการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) เป็นการกระทำเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดอาญา เพราะมีการนำตำรวจปราบจลาจลเข้าไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของรัฐสภานั้นเกิดผลสำเร็จ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ [ เพื่อให้รัฐสภามีแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองเลือกมาเท่านั้น ] การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

ข้อ 4. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้แทนของประชาชนให้ทำหน้าที่ในรัฐสภาไว้ 2 ประเภทคือ ผู้แทนโดยตรง( Representative ) และผู้แทนโดยปริยาย ( Virture Representative )

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นผู้แทนโดยตรง ( Representative ) ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา เป็นผู้แทนโดยปริยาย ( Virture Representative )

ทั้งผู้แทนโดยตรงและผู้แทนโดยปริยายเป็นที่ยอมรับกันในสากลในระบอบประชาธิปไตยว่า เป็นผู้แทนของปวงชนโดยรวม ( Collective Representative )

อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและศักดิ์ศรีในการเป็นผู้แทนของสมาชิกรัฐสภา จึงมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดดุลยภาพและประสิทธิภาพในทางรัฐสภา อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นไปตามหลักสากลของนานาอารยประเทศในระบอบประชาธิปไตย

อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (1), ( 4 ), (5 ), ( 8 ) ,( 9), (10), (11), (12), (14), (16) มาตรา 140, 141 ,143 วรรคสอง , 144 , 145 , 146 , 147 ,153 วรรคสอง วรรคสาม , 154, 156, 168 วรรคสอง วรรคสาม วรรคห้า วรรคหก , 176 , 178, 179 , 182 ( 8 ) , 184 วรรคสาม วรรคสี่ , 185 , 186 , 189 วรรคสอง , 190 วรรคสอง วรรคสาม , 204 , 206 ( 2) [ เห็นชอบผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ] มาตรา 224 , 225 [ เห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ] มาตรา 231 (4 ) (5 ) ( 6 ) [ เห็นชอบให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ] มาตรา 242 [ เห็นชอบแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ] มาตรา 246 , 248 วรรคสอง [ เห็นชอบในการแต่งตั้งและพ้นจากตำแหน่งของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ] มาตรา 255 [ เห็นชอบแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่งของอัยการสูงสุด ] มาตรา 256 [ เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ] มาตรา 270 , 271 , 272, 273 , 274 [ ตรวจสอบการทุจริตและถอดถอนจากตำแหน่ง ] และ ฯลฯ

อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น เป็นระบบของขบวนการในความรับผิดชอบของวุฒิสภาที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน ( Systematic Process ) กล่าวคือ มีความรับผิดชอบต่อการออกกฎหมายที่จะใช้บังคับกับประชาชน รับผิดชอบต่อการตรวจสอบผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการทุจริตรวมทั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐ และฯลฯ ความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของวุฒิสภาเป็นพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองไว้โดยตรงและโดยปริยาย การที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อไม่ให้มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา จึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบบของขบวนการในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของวุฒิสภาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27

สรุปแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อทำลายโครงสร้างทางอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และล้มล้างระบบของขบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การประชุมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงเป็นการกระทำที่นอกเหนือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะกระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวได้ การกระทำดังกล่าวจึงไม่ต่างไปจากการปล้นอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทยโดยเสียงข้างมากในรัฐสภา

การประชุมรัฐสภาจึงไม่ใช่เป็นการประชุมเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 136 (16) เป็นการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากของรัฐสภา เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจขององค์กรรัฐสภา และทำลายระบบของขบวนการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ( Systematic Process ) ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะประชุมได้ จึงเป็นการประชุมเถื่อนของรัฐสภาเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเอง

29 ส.ค. 56

กำลังโหลดความคิดเห็น