xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จบที่ศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ภาพการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในสัปดาห์นี้ เรียกได้ว่าเป็นความอัปยศ และล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ฝ่ายรัฐบาล ที่ถือว่ามีเสียงข้างมาก ก็พยายามรวดรัด จะใช้เสียงข้างมากลากเอาอย่างที่ตัวเองต้องการ โดยผ่านการเดินเกมของประธาน และรองประธานรัฐสภา ขณะที่ฝ่ายค้าน เมื่อรู้ว่าโหวตสู้ไม่ได้ ก็ใช้วิธีเตะถ่วง ดื้อแพ่ง ไม่ยอมอภิปราย ด้วยการประท้วง ประท้วง ประท้วง จนประธานในที่ประชุมต้องแก้เกมด้วยการเอาตำรวจมาลากผู้ประท้วง ออกจากห้องประชุม

ปั่นป่วน วุ่นวาย เย่อกันข้ามวันก็ยังไม่ได้อภิปรายเข้าวาระ แต่สุดท้าย ฝ่ายค้านก็ยอมอภิปราย แล้วก็โหวตแพ้ไป ฝ่ายค้านก็บอกไม่เป็นไร สภาผ่านวาระ 3 เมื่อไร ก็จะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าการแก้ไขครั้งนี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ลิเกชัดชัด!!

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เห็นภาพในอนาคตได้เลยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา อื่นๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งแท่นไว้ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 68 มาตรา 190 มาตรา 237 มาตรา 309 หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม การกู้เงิน 2 ล้านล้าน

ก็จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.นี้ ประเด็นที่จะถูกหยิบยกขึ้นมายื่นตีความ ก็น่าจะมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่กำหนดให้ ส.ส.- ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือห้ามมีส่วนได้ส่วนเสียในการทำหน้าที่ เพราะชัดเจนว่าหากร่างแก้ไขมีผลบังคับใช้ หลายคนโดยเฉพาะ ส.ว.เลือกตั้ง ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค. 57 ก็จะได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือกลับมาเป็นส.ว.อีกโดยไม่ต้องเว้นวรรค

อีกประเด็นที่ ส.ส.ฝ่ายค้านพูดถึงกันบ่อย คือ ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ครบกระบวนความพิจารณาในวาระที่ 1 เพราะยังมีญัตติขอให้ขั้นกรรมาธิการแปรญัตติ 60 วัน ค้างอยู่ แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานที่ประชุมชิงปิดประชุม เพราะไม่ครบองค์ประชุม และต่อมาที่ประชุมก็กำหนดกรอบแปรญัตติใหม่แค่ 15 วัน ซึ่งฝ่ายค้านมองว่า มีปัญหาไม่ครบองค์ประชุม และไม่ครบกระบวนความพิจารณาตามวาระที่ 1 อย่างสมบูรณ์ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ กฎหมายที่ออกมาย่อมโมฆะ ต้องถูกยกเลิก

อีกประเด็นที่เริ่มมีการพูดถึงคือ การเปลี่ยนที่มาของ ส.ว. ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรค 2 ที่ระบุว่าญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะเสนอมิได้

เพราะการแก้ให้ ส.ว.ทั้งหมด 200 คน มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีหลักประกันของความอิสระจากพรรคการเมือง เท่ากับเปิดโอกาสให้พรรค ถือทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจกลั่นกรอง ถ่วงดุลตรวจสอบ ไปในคราเดียวกัน อาจทำให้รูปแบบของการปกครองเปลี่ยนแปลงไป

ต้องไม่ลืมว่า อำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน องค์กรอิสระ หากอยู่ในมือวุฒิสภา ที่เป็นคนของพรรคการเมือง ระบบการถ่วงดุลย่อมเสียศูนย์

เมื่อถึงเวลานั้นคงคิดกันได้ว่า ปราการด่านสุดท้าย อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายค้านหวังพึ่งพา จะพึ่งได้หรือไม่ !


กำลังโหลดความคิดเห็น