xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เพิ่มข้าราชการ3,848 อัตรา กับคอร์รัปชั่นอันดับ 88 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันก่อน (20 ส.ค.56) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ เพิ่มอัตรากำลัง 3,848 อัตรา

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ครม. รับทราบและขออนุมัติรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมความต้องการอัตรากำลังภาครัฐ โดยมีสาระดังนี้

1. อนุมัติจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ให้กับส่วนราชการสำหรับปฏิบัติภารกิจในแผนงาน/โครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์ประเทศ รวม 3,848 อัตรา แยกเป็นการจัดสรรอัตราข้าราชการเพิ่มใหม่ 3,285 อัตรา และพนักงานราชการเพิ่มใหม่ 563 อัตรา โดยให้สำนักงาน ก.พ. กำหนด มาตรการ แนวทาง หรือเงื่อนไขเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนราชการนำตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรไปยุบเลิกเพื่อปรับระดับตำแหน่งสูงขึ้น หรือนำตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรเกลี่ยไปปฏิบัติงานอื่นนอกเหนือจากภารกิจตามยุทธศาสตร์ประเทศ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอัตราตั้งใหม่ดังกล่าวด้วย

2. รับทราบผลการพิจารณาของคณะทำงานศึกษาภาพรวมความต้องการอัตรากำลังภาครัฐ กรณีองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานในสังกัดองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลอื่น และมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้

(1) มอบหมายให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณากลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของอัตรากำลังในองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานในสังกัดองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลอื่น โดยกำกับดูแลการใช้งบประมาณตามหลักเกณฑ์/แนวทางการพิจารณาตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคล กรณีอัตราตั้งใหม่ ที่สำนักงบประมาณกำหนดมาตรการไว้แล้วกับทุกหน่วยงานอย่างเข้มงวดและติดตามผล เพี่อให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(2) มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. จัดเวทีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารกำลังคนภาครัฐ ระหว่างส่วนราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลอื่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความตระหนักในการใช้กำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ

วันก่อน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ก็บอกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมกลุ่มข้าราชการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจากหลายจังหวัดมายื่นหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) กลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน ซึ่งข้าราชการกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มงานในเขตพื้นที่การศึกษา

โดยที่ผ่านมากลุ่มงานนี้จะมีกรอบอัตรากำลังในเขตพื้นที่การศึกษากำหนดไว้ 5 คน ต่อปริมาณงาน แต่ภายหลังถูกปรับลดเหลือ 3-5 คน ซึ่งในความเป็นจริงการทำงานกลับพบว่าบางเขตพื้นที่มีบุคลากรของสถานศึกษาเอกชน 1 คนเท่านั้น ทั้งที่ร.ร.เอกชน และการศึกษานอกระบบ มีนักเรียนจำนวนมากในหลายเขตพื้นที่ การทำงานจึงมีปัญหามาก อาทิ ต้องติดตามงานธุรการ คนเดียวทำไม่ไหว ไม่สามารถนำเวลาไปพัฒนาครู และพัฒนาคุณภาพร.ร.เอกชนได้ เป็นต้น ซึ่งในหลายพื้นที่มีนักเรียนเอกชนมากกว่า ร.ร. ของรัฐด้วย แต่กลุ่มบุคลากรเอกชนทำงานคนเดียว ขณะที่เขตพื้นที่มีบุคลากรจำนวนมาก

นอกจากนี้ กลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน ยังเสนอกรอบอัตรากำลังที่ควรจะเป็นในการปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิภาพด้วย อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 1 มีสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบ 167 แห่ง มีนักเรียน 53,039 คน มีครู 1,776 คน ดังนั้น จึงควรมีบุคลากร 7 คน เพื่อให้เหมาะสมตามปริมาณงาน ขณะที่สพป.ชลบุรี เขต 3 มีสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบ 210 แห่ง มีนักเรียน 76,053 คน และมีครู 3,687 คน จึงควรมีบุคลากร 8 คน เป็นต้น

"ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอทุกอย่าง โดยเฉพาะกรอบอัตรากำลัง การทำงานต้องเกิดประสิทธิภาพ งานการศึกษาเอกชนไม่ใช่งานฝาก เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายโดยตรงที่ต้องการส่งเสริมงานการศึกษาเอกชนอยู่แล้ว เพื่อให้มีบทบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ ซึ่งผมจะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาแก้ไขต่อไป" รมว.ศธ.สรุป

วันต่อมา นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พูดถึงกรณีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา โดยปีแรกจัดสรรไปแล้ว 7,547 ตำแหน่ง ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมติที่มีการอนุมัติอัตราการบรรจุตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นการให้บรรจุได้โดยมีเงื่อนไข คือ อนุมัติให้มีการบรรจุตั้งแต่ปี 2556-2558 จำนวนปีละประมาณ 7,547 อัตรานั้น ล่าสุดในปีงบประมาณ 2557-2558 สำหรับเกณฑ์ที่จะพิจารณาอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กับบุคลากรสาธารณสุขนั้น สธ.จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในหลายเรื่อง ได้แก่

1.การปรับปรุงฐานข้อมูลระบบกำลังคนของ สธ.ให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ ก.พ.ให้ได้ภายในปี 2556 เนื่องจากหากทำไม่ได้ ก.พ.ก็จะเช็กอัตราการว่างงานไม่ได้

2.สธ.ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว คือ ต้องคำนวณในเรื่องของอัตราความต้องการตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล หรือสายงานต่างๆ รวมถึงการกระจายไปอยู่ในจุดใด หรือตามยุทธศาสตร์ประเทศ เป็นต้น โดยให้มีรายละเอียดว่า จะใช้อัตราในที่ไหน จุดไหน อย่างใด ให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 เช่นกัน ทาง ก.พ.จึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) บรรจุข้าราชการของปี 2557 เพิ่ม

3.ต้องมีแผนปฏิบัติการรองรับที่จะดำเนินการ เช่น การผลิตกำลังคนว่าจะเอามาจากไหน จำนวนเท่าใด และสายงานใดบ้างต้องมีความชัดเจน เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น

4.ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของข้าราชการว่าตำแหน่งใดควรบรรจุก่อนหรือหลัง

เลขาธิการ ก.พ. บอกด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของข้อกำหนดที่ ก.พ.เสนอนั้น หาก สธ.ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทาง ก.พ.ก็จะไม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้บรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการให้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น หากปฏิบัติไม่ได้ แต่เชื่อว่า สธ.คงจะทำได้ เพราะสิ่งที่กำหนดไม่ใช่เรื่องยากและทั้งหมดก็ทำเพื่อประโยชน์ในการบริหาร และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด

กลับมาที่ มติครม. 20 ส.ค. ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอรายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2555

พบว่าขณะนี้ มีหน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง รวม 177 หน่วยงาน (20 กระทรวง 157 กรม) ส่วนภูมิภาค รวม 954 หน่วยงาน (76 จังหวัด 878 อำเภอ) ส่วนท้องถิ่น รวม 7,853 หน่วยงาน (องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,082 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,693 แห่ง และ กทม. และเมืองพัทยา) รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง องค์การมหาชน 68 หน่วยงาน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น (หน่วยธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ กองทุนที่เป็นิติบุคคล และหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ)

มีกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนทั้งข้าราชการและบุคลากรประเภทอื่น จำนวน 2,724,335 คน

ขณะที่ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 2,380,000 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรจำนวน 547,690.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.0 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ยังมีงบบุคลากรภาครัฐบางส่วนปรากฏอยู่ในงบรายจ่ายอื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในงบบุคลากรตามเอกสารงบประมาณต่ำกว่าความเป็นจริง

ยังพบว่า สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบ

ด้านความเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 จาก 183 ประเทศ

ด้านภาวะธรรมาภิบาลพบว่ามิติประสิทธิผลของรัฐบาลและมิติคุณภาพของมาตรการควบคุม ยังคงอยู่ใน Percentile Rank ที่ 50-75 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพบว่า อยู่ในอันดับที่ 30 จาก 59 ประเทศ

ขณะที่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 88 จาก 176 ประเทศ (ค่าดัชนี 37 หรือ 3.7 ในฐานคะแนนแบบเดิม) ซึ่งปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศ (ค่าดัชนี 3.4) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากค่าดัชนีเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2554 ด้วยฐานคะแนนที่เท่ากันแล้ว จะพบว่าค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 0.3 คะแนน โดยประเทศที่มีค่าดัชนีสูงหมายถึง ประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด และประเทศที่มีค่าดัชนีต่ำ หมายถึงประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด

ส่วนความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยพบว่า อยู่ในอันดับที่ 64, 76 และ 92 ในปี พ.ศ. 2551, พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2555 ตามลำดับ อันดับความมีประสิทธิภาพของระบบราชการไทยพบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ระบบราชการมีประสิทธิภาพ รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง

นี้คือตัวเลขต่าง ๆที่ ก.พ.ร.สรุปถึงระบบข้าราชการไทย ใน ปี พ.ศ. 2555 ต่อข้าราชการ จำนวน 2,724,335 คน

แต่หากรวมตัวเลข เพิ่มอัตรากำลังใหม่ 3,848 อัตรา ลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่กำลังจะถูกปรับเป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา หรือของกระทรวงศึกษาธิการที่ อาจจะปรับครูเอกชนมาเป็นครูของภาครัฐแล้วในปีต่อๆไป ตัวเลขที่ ก.พ.ร.สรุปข้างต้น จะปรับขึ้นไปทางที่ดี หรือปรับลงไปในทางที่เลวร้ายต้องจับตาดูกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น