xs
xsm
sm
md
lg

“มติชน-เนชั่น”โผล่เวทีปาหี่ ปูปธ.ปฏิรูป 25 ส.ค.-งดถ่ายทอดสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 ส.ค.56)ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเปิดเวทีหาทางออกประเทศไทยหรือเวทีปฏิรูป ในเวลา 09.00 น.วันที่ 25 ส.ค.นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้ได้ออกหนังสือเชิญผู้เข้าร่วมเวทีปฏิรูปแล้ว 69 คน โดยเป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการนักวิชาการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน รวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งหนังสือที่ออกไปนั้นได้มีแบบตอบรับการเข้าร่วมเพื่อให้แจ้งกลับมาด้วย ทั้งนี้ในการประชุมวันดังกล่าวจะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ตามจะไม่มีการถ่ายทอดสด และอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าเก็บบรรยากาศในช่วงเริ่มการประชุมเท่านั้น เนื่องจากต้องการให้ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ หากมีผู้สื่อข่าวอยู่ด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมอาจจะรู้สึกเกร็งได้
นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้เข้าร่วมที่แน่นอนได้ คงต้องรอดูการตอบรับจนถึงวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งในจำนวน 69 รายที่ออกหนังสือเชิญไปนั้น ได้มีการเชิญพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย นอกจากนั้นเป็นในส่วนที่ตน และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปพบ มีทั้งส่วนที่ได้โทรศัพท์ประสานงานไว้ รวมไปถึงบางส่วนที่ยังไม่ได้ประสานงานไป อย่างไรก็ตามบางรายที่เชิญไปนั้นอาจจะติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมได้ แต่เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมเวทีปฏิรูปไม่ต่ำกว่า 40 ราย
ผู้สื่อข่าวถามถึง การเชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเวทีปฏิรูป นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ยังไม่ได้ออกหนังสือเชิญนายอานันท์ เพราะอยู่ระหว่างการประสานงาน ส่วนตัวมองว่าหากนายอานันท์เข้าร่วมเวทีปฏิรูปจริง จะเป็นประโยชน์อย่างมา เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์
เมื่อถามต่อว่า หากมีผู้ตอบรับเข้าร่วมไม่ถึงครึ่ง มีแนวโน้มจะยกเลิกเวทีหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวย้ำว่า คงไม่มีการยกเลิก เพราะเชื่อว่าผู้ที่จะมาเข้าร่วมจะเพียงพอ และสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ บางคนอาจจะไม่มาร่วมในครั้งแรก แต่เชื่อว่าครั้งต่อๆไปจะมาเข้าร่วม เพราะหลายคนอาจจะติดภารกิจในวันที่ 25 ส.ค.พอดี นอกจากนี้ก็จะมีการพิจารณาเชิญบุคคลและองค์กรเข้าร่วมเพิ่มเติมด้วย บางกลุ่มทางเราก็ยังไม่รู้จะเชิญใคร หากกลุ่มไหนต้องการเข้าร่วมก็ขอให้ตัวแทนแสดงตัว จะได้เชิญได้ถูก เพราะบางกลุ่มก็ยังสวมหน้ากากอยู่ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร
เมื่อถามว่า ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาเข้าและอยู่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดหรือไม่ รวมถึงในครั้งต่อๆไปด้วย รองนายกฯกล่าวว่า นายกฯในฐานะเจ้าภาพจะเข้าร่วมในการเปิดเวทีปฏิรูปแน่นอน และจะพยายามอยู่ร่วมตลอด หากไม่มีภารกิจด่วนใดๆ ส่วนในครั้งต่อๆไปนั้นคงต้องมาดูกันอีกที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อที่ทางรัฐบาลได้ออกหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมเวทีหาทางออกประเทศไทยในวันที่ 25 ส.ค.นี้ จำนวน 69 ราย ได้แก่ ภาคการเมือง อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายพิชัย รัตตกุล รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พล.อ.สนธิ บุญรัตยกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ รวมไปถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในการเชิญตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้ระบุเพียง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ระบุชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่อย่างใด
ตัวแทน ส.ว. อาทิ นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา
ภาควิชาการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยศรีปทุม นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)
ภาคเอกชน นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาติสิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย
ภาคประชาชน นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
สื่อมวลชน นายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายสุทธิชัย หยุ่น ประธาน กรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คนในรัฐบาลระบุ ไม่รู้จักระบอบทักษิณว่า อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่รู้ตัว ระบอบทักษิณ คือ ความพยายามใช้รูปแบบของประชาธิปไตยไปสู่การรวบอำนาจ นำสู่การแสวงหาประโยชน์ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย เพราะมีการเข้าไปครอบงำวุฒิสภาและสื่อ จำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จึงอยากแนะนำให้คนที่บอกว่าไม่รู้จักระบอบทักษิณ ไปอ่านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคเพื่อไทย กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แทรกแซงองค์กรต่าง ๆ และตอนนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เดินตามรอย และการนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นก้าวสำคัญของการที่จะผลักดันระบอบทักษิณให้เดินหน้า
ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 22 ส.ค. มีวาระที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตัว นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไปดำเนินคดี ข้อหาล้มการประชุมอาเซียน แสดงให้เห็นชัดว่า กฎหมายนิรโทษกรรม ที่ทำกันอยู่เรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน โดยนายวรชัย ซึ่งเป็นคนยื่นร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่สภา และเป็นกรรมาธิการฯอยู่ด้วย จะหลุดจากคดีนี้ไปโดยสิ้นเชิง หากร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านสภา
นายไทกร พลสุวรรณ คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ขณะนี้มี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รัฐบาลอาจต้องหลุดพ้นจากการบริหารประเทศก่อนกลางเดือนก.ย.นี้ ได้แก่ 1.กรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามาตรา 68 รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท 2.รัฐบาลจะประกาศยุบสภาเพื่อปลดล็อคทางการเมือง และ 3.มีการใช้กำลังนอกรัฐธรรมนูญมาบีบบังคับสถานการณ์ในขณะนี้ ซึ่งอยู่ที่ว่าเหตุการณ์ไหนจะเกิดก่อนกัน แต่ส่วนตัวมองว่าข้อแรกจะเป็นทางออกที่ดีสุด
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21ส.ค.แกนนำและมวลชนจำนวนหนึ่งจะเดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่ของคณะตุลาการ เพื่อต้องการให้ศาลเร่งพิจารณาคดี โดยมั่นใจว่าการที่กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เคลื่อนขบวนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย จะไม่เกิดการเผชิญหน้าหรือนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนการไม่เคลื่อนไหวมวลชนออกไปคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หน้ารัฐสภานั้น เนื่องจากเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพูดคุยกับคนที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่กปท.ยืนยัน จะยังปักหลักชุมนุมอยู่ที่สวนลุมพินีเพื่อคัดค้านระบอบทักษิณต่อไป
วันเดียวกัน เวลา 11.50 น. กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) นำโดย พล.อ.ชัย เปี่ยมสุพรรณ พล.อ.อ.วัชระ ฤทธาคนี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน นายไทกร พลสุวรรณ และน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ปรึกษาคณะเสนาธิการร่วมฯ พร้อมด้วยมวลชนกว่า 100 คน ได้เดินรณรงค์ให้ประชาชนและผู้ที่อาศัยในย่านสีลมออกมาชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกับกปท. โดยมีการแจกใบปลิวอธิบายเหตุผลในการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการแจกเอกสารโจมตีการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สนใจปัญหาของประชาชน
น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า จากการเดินขบวนเคลื่อนไหวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนรับทราบและสนับสนุน ซึ่งพบว่าประชาชนได้เข้าใจถึงเหตุผลการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปท. เพราะต้องการล้มระบอบทักษิณ ยืนยันว่าระบอบทักษิณมีอยู่จริง เพราะทำให้บ้านเมืองเสียหาย มีการสืบทอดอำนาจของพรรคพวกตัวเอง คุณธรรมจริยธรรมเป็นศูนย์
ส่วนการเคลื่อนไหวนอกสภาของ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นสิ่งดีและถูกต้องที่นักการเมืองออกมาต่อสู้กับประชาชน อย่าไปคิดว่าอะไรก็ตาม ต้องอยู่ในแต่สภาอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะถูกต้องเสมอไปหากไม่มีการรับฟังเสียงข้างน้อยตามหลักประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่มีมวลชนเริ่มเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายทำเพื่อประเทศชาติดีขึ้น นักการเมืองที่ดีเมื่อรู้เป้าหมายนั้นแล้วก็ควรออกมาช่วยเหลือ ดังนั้น ความเห็นของตนคือพรรคประชาธิปัตย์ควรออกมาต่อสู้กับประชาชน เพราะไม่มีได้มีกฎหมายฉบับไหนระบุว่าห้ามนักการเมืองมาเคลื่อนไหวร่วมกับมวลชน
ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรมในมาตรา 3-4 ยังขัดรัฐธรรมนญ มาตรา 122 เพราะ รัฐมนตรีเสื้อแดงและสส.เสื้อแดงที่มีคดีก่อการร้าย จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือพรรคพวกตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น