xs
xsm
sm
md
lg

“ฐากูร” ออกโรงแจงอาเศียรวาทไร้นัย เหน็บปัญหาอยู่ที่ทัศนคติคนตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ฐากูร บุนปาน” ยันบทอาเศียรวาทมติชนไร้นัยซ่อนเร้น แจงคำว่า “ดีอย่างไร” ไม่ใช่คำถาม แต่ใช้ระลึกถึงสิ่งประทับใจ เผยไม่ลงชื่อผู้ประพันธ์เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานานแล้ว พร้อมระบุถ้าไม่มีอคติบังตาเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของคนอ่านที่ตีความให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ

วันนี้ (6 ธ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. นายฐากูร บุนปาน คอลัมนิสต์และกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ ในรายการ “มติชนวิเคราะห์” ในประเด็นเรื่องบทอาเศียรวาทของหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2555 ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ว่า หลายคนคงได้อ่านคำชี้แจงของกองบรรณาธิการและของผู้ประพันธ์แล้ว ท่านก็ชี้ให้เห็นว่าท่านหมายความอย่างที่ท่านเขียน ตรงไปตรงมาทุกคำ ไม่มีการซ่อนเร้นนัยใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะบาทสุดท้ายที่ตั้งคำถามกันมากว่า “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร”

ท่านก็หมายถึงว่า ก็ในวันที่มีทุกข์ มีร้อน เหมือนกับวันลมร้อน ลมเย็น ฝนแล้ง ฝนหนัก ทุกคนก็นึกถึงวันที่สดใส ฟ้าสว่างในที่นี้ก็คือพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ดีอย่างไร” ในที่นี้เป็นสำนวนไทย ไม่ใช่คำว่า “ดียังไง” คำว่า “ดียังไง” นั้นเป็นการตั้งคำถาม แต่ “ดีอย่างไร” ถ้าใครเคยพูดไทยแบบตรงไปตรงมาก็ต้องเคยพูดคำนี้ ใช้เป็นตัวอย่าง ใช้เป็นคำที่ทำให้เราระลึกถึง ภาษาอังกฤษใช้ “Remind” ย้อนคิดถึงสิ่งที่ประทับใจ นี่คือความตั้งใจ นี่คือเจตนาของผู้ประพันธ์ และของกองบรรณาธิการ

เมื่อถามว่า ทำไมไม่เปิดเผยชื่อผู้ประพันธ์ นายฐากูรกล่าวว่า จริงๆ ท่านเขียนอาเศียรวาทและบทกวีอื่นๆ ด้วย มาร่วม 30 ปีแล้ว บางคนเขียนจนเลยจุดที่ต้องการชื่อเสียงหรืออย่างอื่นไปแล้ว เขียนเพราะใจรัก เพราะเป็นหน้าที่ และที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยลง ทั้งมติชน และข่าวสด เวลาลงบทอาเศียรวาท ไม่เคยลงนามผู้ประพันธ์ เป็นธรรมเนียมของเราแต่ไหนแต่ไร ถ้าไม่ได้ทำมา 30-40 ปี แล้วอยู่ดีๆ ปีนี้ทำสิแปลก

แล้วจริงๆ ท่านผู้ประพันธ์ก็เขียนบทอาเศียรวาทในแนวแบบนี้มาตลอด ท่านเขียนบทอาเศียรวาทในกรอบความคิดว่าประชาชนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักและผูกพันกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมีทุกข์มีร้อนที่พึ่งหลักที่พึ่งแรกที่ประชาชนนึกถึงก็คือพระเจ้าอยู่หัว กรอบความคิดท่านเป็นอย่างนี้มาตลอด ดูจากบทอาเศียรวาท 5 ธันวาคม 2543 ก็ได้ ท่านเขียนว่า

“หกสิบเจ็ดล้านไทยป่วยไข้หรือ ไม่มีมือไม่มีเท้าเฝ้านั่งถัด
หรือมะเร็งกินถ้วนกระบวนรัฐ รอพระหัตถ์ประทานส่งพระองค์เดียว
กราบบาทพระพุทธเจ้าข้า กระแสช่อพารายังบ่าเชี่ยว
พวกบังหลวงยังโกงเห็นตัวเป็นเกลียว มีแต่ ธ คอยเหนี่ยวประชาชน”

นายฐากูรกล่าวอีกว่า คือถ้าใครอ่านมาโดยตลอดอย่างเข้าใจ ไม่ได้มีอคติ ไม่มีกรอบความคิดทางการเมือง แบ่งข้างแบ่งสีเข้ามาบังตา ตนเข้าใจว่าก็จะเห็นบทอาเศียรวาทนี้เป็นบทอาเศียรวาทที่ดีด้วยซ้ำ เพราะท่านเปรียบทุกข์ของประชาชนเหมือนกับโดยภัยธรรมชาติที่กระหน่ำเข้ามา โดนลมร้อน ลมแล้ง ลมเย็น ฝนแห้ง ฝนบ่า แล้วก็นึกถึงวันที่ฟ้าสว่าง นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณว่าดีอย่างไร ถ้าไม่ตีความกันแบบ “เหาะเกินลงกา” ไม่มีอคติบังตา เป็นท่านอาจารย์ภาษาไทย ก็ตีความภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาหน่อย เป็นสื่อก็พยายามค้นหาข้อมูลหน่อย ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ที่มีปัญหาไม่ใช่ตัวอาเศียรวาท เป็นปัญหาทัศนคติของคนอ่านแล้วตีความ แบบลากให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น