xs
xsm
sm
md
lg

อาเศียรวาทกำกวม “ มติชน ” ส่อเสียด แจงวุ่น “ฟ้าสว่าง-ฟ้าครึ้ม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวเน็ตวิจารณ์ขรม! ซัด อาเศียรวาท “มตชิน” ใช้คำกำกวม-ถูกตีความไม่เหมาะสม “บิลลี่” สุดทนแต่งบทกลอนโต้ “มติหมาภาษาสัตว์” นักภาษาศาสตร์ ชี้ส่อเสียดแบบแยบยล ซัดผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะส่อเสียด หรือก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปมากกว่าจะเป็นถวายพระพรตามปกติ

วานนี้ (6 ธ.ค.) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้ออกคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาท สืบเนื่องจากมีผู้ตั้งคำถามต่อบทอาเศียรวาท ที่ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาว่ามีความหมายอย่างไร มีความกำกวมไม่เหมาะสมหรือไม่ มีเนื้อความดังนี้

“วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งลมแล้งในใจไห้โหยหาย
ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร”
ต่อไปนี้ คือคำอธิบายจากผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาทดังกล่าว
“....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ

ด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความสว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์สม่ำเสมอแก่ไร่นา

ดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหา จึงมีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน”

กองบรรณาธิการหวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ ลงชื่อ กองบรรณาธิการมติชน 6 ธันวาคม 2555

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมองว่ามีการใช้คำและสัมผัสที่กำกวมและไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง เช่น “บิลลี่ โอแกน” ดารานักแสดงชื่อดัง

“อาเจียรวาทชาติหมาประสาหนอน
แต่งคำหอนโหยหวนชวนคลื่นเหียน
มติหมาภาษาสัตว์ร่วมกัดเกรียน
จงวนเวียนเดียรัจฉานสถานเอย”

ด้านผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีคคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ของประเทศไทย กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนอ่านแล้วงง มีข้อสังเกตว่า เป็นบทอาเศียรวาทที่ผิดแผกไปจากขนบการประพันธ์ ถามว่าไม่ทำตามขนบได้ไหม ตอบว่าก็ได้ บทอาเศียรวาทอาจจะไม่ต้องใช้ศัพท์แสงหรูหรา หรือฉันทลักษณ์แบบที่ยาก เช่น สัททุลวิกีฬิตฉันท์ อาจใช้คำง่าย สื่อภาพสื่อความคิดที่จับใจ อาจจะเลือกเขียนเป็นบทร้อยแก้วสั้นๆ เขียนเป็นบทสารคดีสั้นๆ ก็ได้ แต่ด้านเนื้อหา คงต้องดำเนินตามกรอบคือการสดุดี สรรเสริญ ผู้แต่งแต่ละคนสามารถเลือกประเด็นมาเล่าความคิด

“บทอาเศียรวาทใน นสพ.มติชนนี้มีเนื้อหาคลุมเครือ เนื้อความแบ่งเป็นสองส่วน และใช้สัญลักษณ์ที่ไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะสื่อถึงอะไร ท่อนแรกว่า วันหนึ่งฟ้าสว่าง ข้าวนาอุดมสมบูรณ์ ความทุกข์ความโศก (ลมแล้ง) ปลาตหายไป ท่อนที่สอง เนื้อความต่อเนื่อง ทำนองว่า เวลาผ่านไปจนวันหนึ่ง มีเมฆคลุ้ม ซึ่งไม่รู้ว่าผู้แต่งเขาตั้งใจจะให้หมายถึงใคร มีลมร้อนลมเย็นซึ่งก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าจะให้หมายถึงอะไร แต่แน่นอน ต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่ดี ที่เข้ามาทำลาย "ฟ้า" ที่เคยสว่าง และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน นอกจากนี้ "เมฆคลุ้ม" นี้ยังส่งผลให้ "พฤกษ์พุ่มชอุ่ม" นั้น เกิด "ช้ำท่วมน้ำตา" พฤกษ์พุ่มชอุ่มนี้หมายถึงใคร หมายถึงประชาชนหรือ ถ้าใช่ แปลว่าอะไร แปลว่า "ฟ้าคลุ้ม" ในวันนี้ได้ย่ำยีประชาชนให้ได้ทุกข์เช่นนั้นหรือ? และผู้แต่งตบท้ายว่า "ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร" ฟ้าสว่าง ในช่วงท้ายต้องหมายถึงบุคคลเดียวกันกับ ฟ้าสว่าง ในบทแรก ฟ้าสว่างคือใครหรือ ? ผู้แต่งปรารถนาให้ "ฟ้าสว่าง" มาดูแลบ้านเมือง เพราะบอกว่า ฝันว่าฟ้าสว่างนั้นดีอย่างไร อยากให้ "ฟ้าสว่าง" กลับมา” ผศ.ดร.ธเนศ กล่าว

ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า ที่พยายามวิเคราะห์แยกแยะนัยยะข้างต้น ไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าผู้แต่งคนนี้ตั้งใจจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเราอาจตีความว่า “ฟ้าสว่าง” หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ “เมฆคลุ้ม” หมายถึง กลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ตาม เนื้อความก็ยังคลุมเครือ สุ่มเสี่ยงต่อการตีความเป็นอื่นให้เกิดความแคลงใจว่าตั้งใจจะสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ และสดุดีสรรเสริญประเด็นใดกันแน่ โดยสรุป ช่างเป็นบทอาเศียรวาทที่แปลก อ่านแล้วอึ้ง งง ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าชม ไม่กล้าด่า แต่คิดว่า นสพ.มติชนคงไม่กล้าสื่อความหมายหรือน้ำเสียงที่มีนัยลบอย่างโจ่งครึ่มแน่นอน ซึ่งตนคิดในแง่ดี แม้ว่ายังตะขิดตะขวงใจเมื่ออ่านบทประพันธ์นี้ทวนซ้ำไปซ้ำมา

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดแล้วพบว่าผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะส่อเสียด หรือก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปมากกว่าจะเป็นถวายพระพรตามปกติ เหมือนที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่คนอ่านแล้วจะเข้าใจความหมาย ถือเป็นการกระทำที่แยบยลของผู้ประพันธ์ เช่น คำว่าฟ้า ในวรรคที่หนึ่งดูเหมือนจะมีความหมายถึงในหลวง แต่พอวรรคท้ายกลับมีการตั้งคำถามว่าฟ้าดีอย่างไร หรือคำว่าฝนในวรรคที่สี่ ซึ่งน่าจะทำให้ลมแล้งหายไปกลับกลายเป็นปัญหาในวรรคที่ห้า

ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า บทประพันธ์นี้ตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่ไม่มีปัญหา เพราะเหมือนจะสื่อว่าในหลวงคือฟ้าสว่างที่นำเอาฝนมาให้ข้าวในนาได้งอกงาม แต่พอเริ่มวรรคห้าที่ว่าลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา จึงเกิดคำถามว่าแล้วฝนที่มาจากฟ้าหรือจากในหลวง เหตุใดจึงทำให้เกิดปัญหา วรรคที่ห้านี้พลิกความหมายที่ปูมาตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นว่าฟ้าสว่างทำให้เกิดปัญหา จากนั้นก็ตามด้วยพฤกษ์ชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา กลายเป็นต้นข้าวถูกน้ำท่วมซ้ำ สุดท้ายก็ตั้งคำถามว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร ไม่มีตรงไหนที่จะบอกว่าเป็นบทประพันธ์ที่ถวายพระพรในหลวงเลย

" บทประพันธ์นี้หากนำออกไปตีพิมพ์เดี่ยวๆโดยตัดคำว่าอาเศียรวาทและภาพในหลวงออกไป คนอ่านจะไม่รู้เลยว่านี่คือบทประพันธ์ถวายพระพรในหลวง ยิ่งหากดูบริบทอื่นๆประกอบ เช่น บทความหรือข้อเขียนต่างๆในหนังสือพิมพ์มติชนที่มีแนวทางเช่นนี้ ก็จะยิ่งเห็นว่าบทประพันธ์เจตนาอย่างไร " ดร.อนันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้เพิ่มเติมข้อความในคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาท ระบุว่า “อนึ่ง ที่ยังมีข้อสงสัยต่อความหมายในบาทสุดท้าย ที่ว่า"ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร" นั้น หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแล้วว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ที่ทำให้คนส่วนมากเดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่คนส่วนมากเรียกร้องความสงบสุขในสังคม เพื่อจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน เช่นนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่คิดถึงล่ะว่าวันที่ฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งนั้นดีอย่างไร วันที่ธรรมชาติดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามฤดูกาล ไร่นาประชาชนสมบูรณ์ วันที่พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปราศจากฝุ่นละอองใดๆ มาแผ้วพาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น