xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” แจงวุฒิฯ ยันลงทุนระยะยาว 7 ปีไม่มีเจตนาเอื้อนายทุน-ก่อหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์  ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.คลังแจงในที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 56 ยืนยันโครงการลงทุนระยะยาว 7 ปี ไม่มีเจตนาซุกซ่อนการลงทุนหรือก่อหนี้ อ้างเป็นค่าศึกษา-ออกแบบ มีลักษณะงบผูกพัน ส่วนการลดภาษีนิติบุคคลอ้างชักชวนคนเสียภาษีเข้าสู่ระบบ ส่วนเรื่องรถคันแรกยันไม่ใช่ประชานิยม อ้างเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต

วันนี้ (4 ก.ย.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ว่าจะบริหารงบประมาณด้วยความระมัดระวัง การขาดดุลงบประมาณในปี 2555 จำนวน 4 แสนล้านบาท เป็นการดำเนินงานตามความจำเป็น ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจากการขาดดุลในปีงบประมาณ 2553 ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามารับหน้าที่ ซึ่งมีงบขาดดุลอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลตั้งใจจะลดงบประมาณขาดดุลมาตั้งแต่ปีการบริหารงบประมาณ ปี 2555 แต่พบว่ามีรายการที่ต้องชดเชยเงินคงคลัง สูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาท จึงมีความจำเป็นจัดงบประมาณขาดดุลในระดับเดียวกัน ทั้งที่ใจจริงต้องการลดให้เหลือ 3.5 แสนล้านบาท แต่ต้องบวกกลับไปอีก 5 หมื่นล้านบาทเพื่อดูแลการชดเชยเงินคงคลังจากที่ขาดดุลในปีก่อน

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า การจัดทำงบประมาณปี 2556 ได้ลดการขาดดุลลง 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญทำให้สัดส่วนการขาดดุลอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทั้งนี้ได้ตั้งใจจะลดการขาดดุลให้น้อยลง ซึ่งขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นขาดดุลงบประมาณแบบเรื้อรัง ส่วนแนวทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่พัฒนายอมรับว่าเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง การเดินทาง และเพิ่มต้นทุนการขนส่ง การเดินทางมากขึ้น ยืนยันว่าการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เลี่ยงการตรวจสอบระบบปกติ หากทางสภาฯ และ ส.ว. ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและเพื่อความเหมาะสมต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศระยะยาว จะหารือและแถลงอีกครั้งอย่างละเอียดในโครงต่างๆ อีกครั้ง ทั้งนี้การลงทุนโครงการระยะยาว ซึ่งจะใช้กรอบเวลา 7 ปี ไม่มีเจตนาซุกซ่อนการลงทุนหรือก่อหนี้

“ส่วนตัวมองว่างบประมาณประจำปี มองข้อมูลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวไม่ชัด เพราะเป็นการลงทุนปีต่อปี ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 มีบางโครงการที่ระบุว่าเป็นค่าศึกษา หรือ ค่าออกแบบ หมายถึงว่าหากจะดำเนินการต่อเนื่องจะมีการลงทุนต่อในปีต่อไป ในลักษณะงบผูกพัน โดยมิติการแสดงไม่สามารถแสดงยอดรวมของโครงการนั้นๆ ได้ ทั้งนี้ ตามแนวทางของ พ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายบาทแรก ถึงบาทสุดท้าย” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์ยังชี้แจงต่อว่า หากมองงานของรัฐบาลเป็นชิ้นๆ หรือส่วนๆ อาจจะถูกมองว่าเป็นการเอาใจคนแต่ละกลุ่มในลักษณะประชานิยม แต่ข้อเท็จจริงรัฐบาลไม่มีโครงการใดที่เป็นเรื่องเอาเงินหรือ ออกเช็คไปใส่มือให้กับประชาชนเพื่อให้กลับมาซื้อของของรัฐบาล รวมถึงไม่ได้เป็นโครงการที่เอื้อให้กับกลุ่มนายทุนกลุ่มใด ส่วนประเด็นการทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะได้เห็นการทุจริตคอรับชั่นที่มีความเรื้อรัง การดำเนินการส่วนนี้ รัฐบาลไม่ได้ละเลย กำลังติดตามการดำเนินการต่างๆ อยู่ เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้จึงกำหนดเป็นมติครม.ออกมากำหนดให้อย่างน้อยในกระทรวงต่างๆ ต้องมีอย่างน้อยรองปลัดกระทรวงต้องติดตามดูแลปัญหาการทุจริตในองค์กรของตน

ในส่วนของการลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลที่ลดลงจากร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 23 นายกิตติรัตน์ชี้แจงว่า ถือว่าเป็นทิศทางที่มีประโยชน์เพราะทำให้ชักชวนกลุ่มผู้ที่อยู่ในฐานะเสียภาษีเป็นการชักชวนให้เข้าสู่ระบบ เพราะอัตราภาษีที่เหมาะสมเกิดขึ้นแล้ว และแข่งขันได้ และในปีหน้าจะลดลงอีกให้เหลืออัตราร้อยละ20 ปีถัดไป ส่วนอัตราภาษีที่วุฒิสภาได้ให้แนวทางไว้ที่ร้อยละ 17 ก็จะนำไปพิจารณา การลดลงของอัตราภาษีไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนเพียงอย่างเดียว แต่ประโยชน์ที่จะตามมาก็คือการจ้างงาน เพื่อบริษัทจะได้การเพิ่มอัตราค่าจ้างต่อพนักงาน ส่วนประเด็นคืนภาษีรถคันแรก รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการแบบประชานิยม เรามองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ไม่มีโครงการใดเลยที่เอาเงินไปใส่มือประชาชน แต่เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส
กำลังโหลดความคิดเห็น