ไม่ผิดความคาดหมายที่รัฐบาลเลื่อนวันประชุมกรรมการสภาปฏิรูปการเมืองนัดแรกจากเดิมกำหนดไว้ศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2556 ออกไปก่อน หลังจากที่ก่อนหน้านี้การเดินหน้าทาบทามบุคคลต่างๆ มาร่วมเวทีถกเรื่องปฏิรูปการเมืองและการสร้างความปรองดองเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย เสียงตอบรับยังอยู่แค่กับคนในเครือข่ายของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น
แม้จะมีเสียงตอบรับจากคนนอกแวดวงรัฐบาลบ้างอย่างพวกตัวแทนองค์กรภาคเอกชนอย่างสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่ยังไร้เสียงขานรับจากสองขั้วสำคัญคือ “พรรคประชาธิปัตย์”และ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่ยังคงจุดยืนชัดคือ
ไม่เข้าร่วมเวทีดังกล่าวหากยังไม่มีการถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯและร่างพ.ร.บ.ปรองดองทุกฉบับออกจากสภาฯ
ทำให้ความพยายามจะทำให้สภาปฏิรูปการเมืองเป็น สภาดอกไม้หลากสี หลายคู่ขัดแย้งการเมืองนั่งโต๊ะเดียวกันของรัฐบาลยังไม่เข้าเป้า
ด้วยเหตุนี้คนก็คิดไว้ก่อนว่าหากประชุมกันนัดแรกที่จะมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะแล้วมีแต่พวกเดียวกันเอง ภาพที่ออกมาก็คงไม่สวยงามนัก จะกลายเป็น สภาขี้ข้า มีลิ่วล้อคนกันเองมาสุมหัวกันละครตบตาประชาชน
ก็พอดีได้จังหวะอ้างเรื่องสภาฯต้องประชุมร่างพ.ร.บ.งบฯ 57 ต่อเนื่อง 14-16ส.ค. รัฐบาลก็เลยเลื่อนนัดประชุม 16 ส.ค.ที่ผ่านมาไปเสียเลย แล้วเคาะวันใหม่จะให้เป็นวันประชุมนักแรดในวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. แทน อันทำให้รัฐบาลมีเวลามากขึ้นในการทำให้แผนสร้างภาพครั้งนี้ออกมาดูดีขึ้น
“ทีมข่าวการเมือง”ติดตามการเดินหน้าของรัฐบาลที่พยายามจะทำคลอดกรรมการสภาปฏิรูปฯมาอย่างต่อเนื่อง ก็พบหลายอย่างที่ต้องท้วงติงไปถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรวมถึงสองรัฐมนตรีที่รับหน้าที่ประสานคนเข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ คือพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี
เพราะบุคคลที่พงศ์เทพ-วราเทพ เดินสายไปหาเพื่อทาบทามให้มาร่วมเวทีนี้ บุคคลเกือบทั้งหมดที่ไปพบ แทบไม่มีตัวแทนในซีกการเมืองภาคประชาชน-คนที่ทำงานการเมืองหรืองานภาคประชาสังคม ให้เห็นเลย
แม้ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 14 ส.ค.ทั้งสองคนจะเดินทางไปพบ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มักนำเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอะไรต่างๆ ไว้มากมาย แต่หมอประเวศได้ปฏิเสธจะเข้าร่วมด้วยกับรัฐบาล หาทางเลี่ยงไปแบบเนียนๆว่าอายุมากเกินไปแล้วที่จะไปร่วมได้
อย่างไรก็ตามนพ.ประเวศ จัดอยู่ในกลุ่มนักวิชาการ-ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมากกว่าที่จะอยู่ในกลุ่มการเมืองภาคประชาสังคม หากดูตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่า พงศ์เทพ-วราเทพ ก็แทบไม่ได้ไปพบตัวแทนภาคประชาสังคมในแขนงต่างๆ ที่สามารถดึงเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีสภาปฏิรูปการเมืองได้เลย
เสมือนกับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมทั้งที่ถือเป็นกุญแจสำคัญหากคิดจะทำเรื่องปฏิรูปการเมืองให้เกิดผลสำเร็จ
กลับกลายเป็นว่าภาพที่ออกมาเวลานี้มันชัดว่าฝ่ายรัฐบาล เทน้ำหนักหวังให้สภาปฏิรูปฯสำเร็จให้ได้ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มนักการเมือง-ตัวแทนพรรคการเมืองเป็นหลัก คือเอาคนกลุ่มนี้เป็นศูนย์กลางในการปฏิรูปการเมือง ทั้งที่ปัญหาประเทศชาติไม่ใช่แค่ตอนนี้แต่หลายสิบปีมาแล้ว
ต้นตอของปัญหาการเมืองในประเทศไทยที่สำคัญที่สุด ก็คือ“นักการเมือง-พรรคการเมือง”
แต่รัฐบาลกลับไปให้น้ำหนักกับนักการเมือง-อดีตผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ยังมีบทบาทการเมืองอยู่ เป็นแกนหลักของกรรมการสภาปฏิรูปการเมือง แค่นี้มันก็เห็นแล้วว่า รัฐบาล-ยิ่งลักษณ์ แค่ขยับก้าวแรกของการเริ่มตั้งไข่สภาปฏิรูปการเมือง แค่คิดก็ผิดแล้ว
ถามว่าคนอย่างบรรหาร ศิลปอาชา -สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-อนุทิน ชาญวีรกูล -สนธยา คุณปลื้ม ที่ตอบรับเข้าร่วมเวทีปฏิรูป คนพวกนี้หรือที่จะมาวางเสาเข็มปฏิรูปให้ประเทศไทย มันไม่ใช่แน่นอน
ต่อให้พวกนี้พยายามจะตัดสูทใหม่ใส่ให้ตัวเองยังไง โดยการหวังใช้เวทีแห่งนี้ล้างคราบไคลฟอกตัวเองให้พ้นจากภาพนักธุรกิจการเมือง แล้วสร้างภาพใหม่ว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวางแผนปฏิรูปประเทศไทย แต่ดูแล้วต่อให้พยายามทำอย่างไร ก็ยากจะสำเร็จ
เพราะคนอย่างบรรหาร-สุวัจน์-สนธยา-อนุทินหรืออีกหลายคนที่ตอบรับด้วยอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ-พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาฯ-ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ -พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี-นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา
คนพวกนี้นะหรือที่จะกล้าเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทยเพื่อรื้อโครงสร้างใหญ่ของประเทศ ในอันที่จะทำให้สังคมไทยมีความเสมอภาค ช่องว่างชนชั้นมีน้อยลง ผ่านข้อเสนอใหญ่ๆ อย่างเช่นการออกกฎหมายมรดก
เชื่อเถอะ พวกนี้อย่างมากก็แค่เสนอทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบจุลภาค อาทิเสนอให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองหันหน้าเข้าหากัน เสนอให้ใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้ง อันเป็นข้อเสนอรูทีนซ้ำซากที่ใครๆ ก็คิดและเสนอได้
ถามจริงเถอะ พวกว่าที่กรรมการสภาปฏิรูปฯของรัฐบาลชุดนี้จะกล้าไหมที่จะเสนอความเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกๆ ต่อยิ่งลักษณ์และรัฐบาลว่าไหนๆ ยิ่งลักษณ์ก็บอกต้องการปรองดอง อยากเห็นการปฏิรูป วิธีการง่ายๆ ก่อนอื่น ก็ให้ยิ่งลักษณ์ไปบอกส.ส.เพื่อไทยว่าให้ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯและพ.ร.บ.ปรองดองทั้งหมดในสภาฯออกไปก่อน แบบนี้ สภาปฏิรูปฯกล้าเสนอไหม?
แล้วหากกล้าเสนอ แต่ปรากฏว่ายิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย พวกที่นั่งอยู่ในสภาปฏิรูปฯจะกล้าถอนยวงตัวเองออกมาหรือไม่?
ตอบหน่อยได้ไหม ขอความชัดเจนก่อนได้ไหม ?
นี่คือสิ่งที่ผู้คนสงสัยและอยากรู้จากพวกที่โดดเข้าร่วมวงสภาปฏิรูปฯ เพราะหลายคนที่เป็นข่าวว่าเอาด้วยกับยิ่งลักษณ์ ชนิดแทบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยอย่างพลเอกชวลิต-พลเอกสนธิ-อนุทิน -บรรหาร -กระมล ก็พบว่าจากคำให้สัมภาษณ์อะไรต่างๆ ที่ปรากฏออกมาตอนนี้ ก็ไม่เห็นว่าจะแสดงความเห็นอะไรที่จะทำให้เห็นความแหลมคมในการมองปัญหาประเทศแบบองค์รวมอะไรออกมาเลยสักคน
ไม่เห็นแสดงให้เห็นถึงมุมมองว่าอะไรคือปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่ต้องเร่งปฏิรูปแก้ปัญหาทั้งแบบเร่งด่วนและระยะยาว และหากคิดจะแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างวิธีการปฏิบัติต้องทำอย่างไรบ้างทั้งแผนปฏิบัติการและแผนยุทธศาสตร์ ก็ไม่เห็นนักการเมืองพวกนี้แสดงภูมิปัญญาให้เห็น
แถมบางรายอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ บอกปัญหาประเทศตอนนี้เรื่องเร่งด่วนคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่งั้นหาทางออกให้กับประเทศไม่ได้
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าหางโผล่ พวกตอบรับหลายคนโดยเฉพาะที่มาจากสายนักการเมือง-พรรคการเมืองที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้กับรัฐบาล เชื่อได้ว่าบางคนได้มีการคุยกันไว้ก่อนแล้วกับพวกพรรคเพื่อไทยว่า จะใช้เวทีสภาปฏิรูป ที่แม้จะไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับแต่ก็จะใช้ว่าเป็นเวทีซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมด้วยจำนวนมากและมีตัวแทนจากหลายฝ่ายอยู่ในกรรมการชุดนี้ หากมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้รัฐบาลนำไปเป็นเครื่องประทับตราความชอบธรรมในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยอีกหลายช็อตที่จะตามมาในช่วงสองปีที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้
จริงอยู่ว่าด้วยจำนวนเสียงข้างมากในรัฐสภาของพรรคร่วมรัฐบาลและสว.สายเลือกตั้งที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล จะทำให้การแก้ไขรธน.ทำได้ตลอดเวลา แต่ในบางบทบัญญัติที่เป็นเรื่องซึ่งจะจุดกระแสแรงคัดค้านทางการเมืองขึ้นมาได้หากเข้าไปแตะ เช่นการไปลดอำนาจองค์กรอิสระและเพิ่มอำนาจของนักการเมืองให้มากขึ้น หรือการโละรัฐธรรมนูญบางมาตราที่เป็นปัญหาเช่นมาตรา 309 ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า หากยกเลิกไปแล้วจะทำให้คดีความของทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นโมฆะหรือไม่
ตรงนี้หากรัฐบาลได้ข้อเสนอจากกรรมการสภาปฏิรูปฯที่ให้แก้รธน.มาดันหลังหนุนอีกแรง มันก็ทำให้พรรคเพื่อไทย ยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้นในเส้นทางแก้รธน.บางมาตราเพื่อสร้างอำนาจให้ฝ่ายตัวเอง
แม้แนววิเคราะห์ข้างต้นที่อิงจากท่าทีของผู้ตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ ที่เสนอว่าต้องมีการแก้ไขรธน.เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ยังเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องดูกันอีกยาว แต่มันก็พอทำให้เห็นได้แล้วว่า
ทิศทางของสภาปฏิรูปฯ สุดท้ายคงไม่พ้นจะถูกรัฐบาลชุดนี้นำมาใช้เป็นเครื่องมือการเมืองแน่นอน โดยที่คนในกรรมการสภาปฏิรูปฯก็รู้ดีว่าจะต้องเจอแบบนี้แต่ก็พร้อมจะเอาด้วย!