xs
xsm
sm
md
lg

ตรงจากอเมริกา : สูตรสำเร็จของความหายนะ

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2551 เทศบาลเมืองต่างๆ ในอเมริกาประสบปัญหาร้ายแรง ปัญหาทางการเงินของบางแห่งร้ายแรงมากจนหาทางออกมิได้จึงประกาศล้มละลายเพื่อหวังจะงดจ่ายหนี้สินบางส่วน

ทุกครั้งที่มีการประกาศล้มละลาย การวิพากษ์วิจารณ์จะเกิดขึ้นตามมาว่าอะไรเป็นปัจจัยในการสร้างปัญหา เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ดีทรอยต์เป็นเมืองล่าสุดที่ประกาศล้มละลายเพื่อหวังจะอาศัยกฎหมายลดภาระทางการเงินจาก 2 ด้านด้วยกัน นั่นคือ ตัดทอนหนี้ที่มีอยู่กับผู้ซื้อพันธบัตรของเทศบาลและลดบำเหน็จบำนาญกับสวัสดิการที่เทศบาลจะต้องจ่ายให้แก่อดีตพนักงานของตน เนื่องจากดีทรอยต์เป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่ประกาศล้มละลาย เหตุการณ์จึงถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายวงการและจากมุมมองของบทเรียนที่เทศบาลและประเทศต่างๆ น่าจะศึกษา

การวิพากษ์ได้นำไปสู่ข้อสรุปหลายอย่าง ข้อสรุปที่กว้างที่สุดได้แก่ ดีทรอยต์ไม่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจของอเมริกาซึ่งครั้งหนึ่งมีอุตสาหกรรมหนักเป็นหัวจักรขับเคลื่อนได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญโดยมีอุตสาหกรรมด้านข่าวสารข้อมูลและการบริการเข้ามาแทนที่

ดีทรอยต์เป็นศูนย์กลางของการสร้างรถยนต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมหนักที่อเมริกาเคยนำหน้าชาวโลก แต่ตอนนี้ชาวโลกมีความสามารถผลิตรถยนต์ได้ไม่แพ้อเมริกาแล้วและมักได้เปรียบรถยนต์ที่ผลิตในดีทรอยต์มากเนื่องจากสหภาพแรงงานที่นั่นกดดันให้ผู้ผลิตจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงตามแหล่งที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเข้าไปสร้างโรงงานในอเมริกา ต่างก็พากันหลีกเลี่ยงดีทรอยต์และย่านที่มีสหภาพแรงงาน ฉะนั้น จึงมองได้ว่า การมองเห็นเฉพาะประโยชน์ส่วนตนเพียงแคบๆ ในระยะสั้นของสหภาพแรงงานมีค่าเท่ากับการหั่นขาตัวเองในระยะยาว

อนึ่ง รถยนต์มีประโยชน์มหาศาล แต่มันนำคำสาปติดมาด้วยเช่นเดียวกับเทคโนโลยีจำนวนมาก คำสาปอย่างหนึ่งของรถยนต์ได้แก่การเอื้อให้ชาวเมืองอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในย่านชานเมืองซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำงานมากๆ ได้ การอพยพนั้นส่งผลให้ฐานทางด้านการเก็บภาษีของเทศบาลลดลง ยิ่งเมื่อเกิดปัญหาจากการเหยียดผิวอย่างรุนแรงในอเมริกาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กระบวนการอพยพออกไปอยู่ตามชานเมืองยิ่งเกิดเร็วขึ้น

สำหรับในดีทรอยต์ การเหยียดผิวเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดจลาจลครั้งใหญ่ในปี 2510 ซึ่งมีคนตาย 43 คนและบาดเจ็บกว่า 1,100 คนในช่วงเวลา 5 วันก่อนที่ทหารจะควบคุมสถานการณ์ได้ เหตุการณ์นั้นผลักดันให้ชาวเมืองดีทรอยต์ผิวขาวเร่งอพยพออกไปอยู่นอกเมืองเพิ่มขึ้น ประชากรของดีทรอยต์จึงลดลงอย่างรวดเร็วจากราว 1.8 ล้านคนจนเหลือเพียงราว 7 แสนคนในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ผู้อพยพออกไปมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ส่วนผู้ที่ยังปักหลักอยู่ในเมืองต่อไปมักมีรายได้ต่ำทำให้รายได้ต่อหัวคนต่อปีของชาวดีทรอยต์ตกอยู่ที่ราว 15,000 ดอลลาร์เท่านั้น ในขณะที่รายได้ต่อหัวคนต่อปีของประชาชนในย่านชานเมืองชื่อเบอร์มิงแฮมสูงถึงกว่า 4 เท่า หรือราว 67,000 ดอลลาร์ ความแตกต่างเช่นนั้นทำให้ฐานทางด้านการเก็บภาษีของเทศบาลดีทรอยต์ลดลงไปมากกว่าการลดของจำนวนประชากร นอกจากนั้น ความทรุดโทรมของตึกรามบ้านช่องและการปิดตัวลงของธุรกิจต่างๆ ยังทำให้ฐานภาษีลดลงไปอีกด้วย
ที่อยู่อาศัยในบางย่านถูกปล่อยทิ้งทั้งหมด (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
ธุรกิจถูกปิดลงอย่างกว้างขวาง (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
ในขณะที่ฐานทางด้านการเก็บภาษีลดลงเรื่อยๆ นั้น นักการเมืองทำในสิ่งที่มีผลไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้บริการต่างๆ แก่ชาวเมืองเพิ่มขึ้นหากได้รับเลือกเข้าไปทำงานเทศบาล แน่ละ การให้บริการในยามที่เก็บภาษีได้น้อยลงย่อมนำไปสู่งบประมาณขาดดุลซึ่งปิดด้วยการกู้ยืมเพิ่ม การกู้ยืมกลายเป็นดินพอกหางหมูเมื่อการเก็บภาษีทำไม่ได้ตามเป้าซึ่งก็มักเกิดจากการประมาณการที่มองโลกในแง่ดีเกินไปอยู่แล้ว ยิ่งการเงินของเทศบาลง่อนแง่นเพิ่มขึ้นเท่าไร อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดสถาบันการเงินให้ซื้อพันธบัตรของเทศบาลเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นักการเมืองมักหลีกเลี่ยงเรื่องการขยายฐานและการเพิ่มอัตราภาษีเนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ตัวเองอาจไม่ได้รับเลือกเข้าทำงานเทศบาล

การเพิ่มบริการนำไปสู่การจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นักการเมืองมักยิมยอมพร้อมใจที่จะให้สวัสดิการแก่พนักงานเพิ่มขึ้นทั้งในระหว่างที่พวกเขาทำงานอยู่และในช่วงเวลาที่เกษียณจากงานไปแล้ว บำนาญและค่ารักษาพยาบาลสูงเกินคาดเมื่อพนักงานที่เกษียณออกไปมีอายุยืนกว่าที่คาดไว้ นอกจากนั้น ก่อนเกษียณออกไปรับบำนาญ พนักงานมักได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อนำไปใช้ในการคำนวณบำนาญเช่นเดียวกับการเลื่อนยศในกองทัพไทย การได้บำนาญและสวัสดิการสูงเป็นแรงจูงใจให้พนักงานนิยมเกษียณก่อนกำหนดเวลามากขึ้น นั่นหมายความว่าเวลาที่พวกเขารับบำนาญยิ่งยืดยาวออกไปอันเป็นการสร้างภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นให้แก่เทศบาลอีกทางหนึ่ง เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน มันจึงกลายเป็นนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายเช่นเดียวกับที่สร้างความเสียหายในหลายประเทศรวมทั้งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาในอดีตและกรีซในปัจจุบัน
ยิ่งกว่านั้น กองทุนบำเหน็จบำนาญที่เทศบาลตั้งไว้ประเมินรายได้ของตนสูงเกินกว่าอัตราค่าตอบแทนที่ตนทำได้เช่นเดียวกองทุนบำเหน็จบำนาญมักทำกัน การประเมินที่มองโลกในแง่ดีเกินไปแบบนี้มีปัญหามากขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงมาเหลือเกือบศูนย์และเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะซบเซายืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี

นโยบายประชานิยมมีผลร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งซึ่งชาวเมืองมักมองข้าม หรือทำเป็นมองไม่เห็น นั่นคือ นักการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าไปทำงานและพนักงานของเทศบาลส่วนใหญ่มักไร้สมรรถภาพในด้านการบริหารจัดการและงานเทคนิคต่างๆ พร้อมทั้งมักมีความฉ้อฉลสูง ฉะนั้น ในปีนี้เพียงปีเดียวจึงมีตัวอย่างของความฉ้อฉลมากมายปรากฏออกมาให้เห็น เช่น ผู้บัญชาการตำรวจถูกไล่ออกหลังก่อเรื่องอื้อฉาว ผู้บริหารชั้นสูงของระบบห้องสมุดถูกดำเนินคดีฐานรับเงินใต้โต๊ะ ทนายและกรรมการของกองทุนบำเหน็จบำบาญถูกดำเนินคดีฐานฉ้อฉล อดีตนายกเทศมนตรีกำลังถูกขังอยู่ในคุกเพื่อรอคำตัดสินของศาลในเดือนกันยายนว่าจะให้จำคุกนานเท่าไรฐานทำผิดหลายสิบกระทง คาดกันว่าเขาจะถูกจำคุกนับสิบปีแน่นอน

อันที่จริงในช่วงหลายปีมานี้ บางส่วนของดีทรอยต์ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาบ้างแล้วจากการลงทุนของภาคธุรกิจและองค์กรเอกชน แต่การฟื้นนั้นไม่สามารถขยายต่อไปได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกนักการเมืองที่ไร้สมรรถภาพและฉ้อฉลเพราะหวังได้ผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมที่พวกเขานำมาเสนอ
บางส่วนของเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจนต่างจากส่วนที่ทรุดโทรมปานฟ้ากับดิน
คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การตามโลกไม่ทัน การใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย และความฉ้อฉลผสมกับความไร้สมรรถภาพโดยตัวของมันเองจะสร้างปัญหาหนักหนาสาหัส ดีทรอยต์นำทั้งหมดมารวมกัน มันจึงเป็นเสมือนการจ้างเพชฌฆาตมาตัดหัวตัวเอง ทั้งที่ตัวอย่างในแนวนี้มีให้ดูอยู่อย่างต่อเนื่องมานาน แต่เทศบาลและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังไม่ยอมเปิดตานำมาเป็นบทเรียน คราวนี้ความล้มละลายเกิดกับเมืองขนาดใหญ่ในอเมริกา เมืองไทยจะนำมาเป็นแนวนโยบายต่อไปบ้างไหมหนอ?
กำลังโหลดความคิดเห็น