xs
xsm
sm
md
lg

วันอังคารนี้ กิตติรัตน์ จะช่วยพา ครม.เสี่ยงคุก !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุ ประชาชนสนใจแต่ข่าวที่มีผู้มาชุมนุมประท้วง แม้ในบางครั้งดูเหมือนจะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าเป็นโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะได้อนุมัติโครงการสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณมหาศาลโดยที่สื่อมวลชนทั่วไปอาจเผลอไม่ทันได้ติดตามโครงการเหล่านั้น

โครงการต่อไปนี้มีเงื่อนงำที่น่าสนใจมาก เพราะอาจมีเงินส่วนต่างนับหมื่นล้านบาทตกใส่กระเป๋าใครบางคนที่ได้วางแผนเอาไว้อย่างแยบยล

แก๊งที่ว่านี้อาจมีคนสำคัญอยู่เบื้องหลังช่วยวิ่งเต้นฉายา "ศ. มัลดิฟส์" ร่วมด้วย จึงจะทำให้โครงการนี้เดินหน้าอย่างเงียบเชียบที่สุดที่มีส่วนต่างของผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาท และอาจจะเป็นนับแสนล้านบาทในอีกหลายโครงการ

โครงการนี้ชื่อ "งานสัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นงานระบบรถไฟฟ้าและระบอาณัติสัญญาณ (M&E : สัมปทานเดินรถ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน)" ซึ่งถือว่าได้เข้าโค้งสุดท้ายแล้ว !!!

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 คณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจ โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล ยินยอมลดราคาข้อเสนอแรกจาก 95,202 ล้านบาท เหลือ 82,980 ล้านบาท


ฟังตรงนี้เหมือน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กำลังจะได้เครดิตว่ามีความสามารถในการเจรจารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติจนลดราคาลงมาได้ถึง 12,222 ล้านบาท จาการเสนอราคาครั้งแรกของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล

แต่มันเป็นความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว!!!

เพราะยังมีความจริงอีกด้านที่สังคมและประชาชนควรรู้เอาไว้ด้วยว่า...

การประกวดราคาในโครงการที่มีการใช้งบประมาณสูงเช่นนี้ จะต้องเป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ ถ้าเป็นกฎหมายที่แก้ไขแล้วก็คือ เป็นไปตามคณะกรรมการตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวตามกฎหมายร่วมทุนนี้ ได้เป็นผู้เจรจาต่อรองยังเห็นว่าราคาดังกล่าวนั้นยังสูงกว่าราคาประมาณการที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประมาณการงบประมาณเอาไว้ที่ 76,000 ล้านบาท และยังสูงกว่าการประเมินราคาของ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ที่ประมาณเอาไว้เพียงแค่ 65,000 ล้านบาท !!!

หมายความว่าราคาที่ต่อรองที่อ้างว่าต่ำสุดแล้วคือ 82,980 ล้านบาทนั้น ยังสูงกว่าที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประมาณการเอาไว้ถึง 6,980 ล้านบาท

และหมายความว่าราคาที่ต่อรองที่อ้างว่าต่ำสุดแล้วคือ 82,980 ล้านบาทนั้น ยังสูงกว่าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ประมาณการเอาไว้ถึง 17,980 ล้านบาท

คำถามมีอยู่ว่าส่วนต่างระหว่าง 6,980 ถึง 17,980 ล้านบาทนั้น เข้ากระเป๋าใคร !!!?

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นายอาคม เต็มพิทยาไพสิฐ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ได้ทำหนังสือเรียนปลัดกระทรวงคมนาคม เลขที่ นร 0506 (คกก.3)/897 ในเรื่องผลการเจรจาต่อรองในโครงการดังกล่าวนี้ และได้ระบุอย่างชัดเจนในประเด็นการอภิปรายในเรื่องของคณะกรรมการฯ อย่างชัดเจนว่า

"1.3 คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่าผลการเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้เสนอราคาต่ำสุดของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ในส่วนของค่างานระบบขบวนรถไฟฟ้ายังสูงกว่ารายงานการศึกษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ พ.ศ. 2535 ซึ่งประมาณการราคา 76.8 ล้านบาทต่อคัน และข้อมูลการจัดหาขบวนไฟฟ้าของประเทศต่างๆของ รฟม. ประกอบกับข้อเสนอของ รฟม. และ คค.(กระทรวงคมนาคม) ในครั้งนี้ยังขาดความชัดเจนในประเด็นค่าภาษีนำเข้า และการพิจารณารายละเอียดของร่างสัญญาตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งประเด็นการปรับลดจำนวนรถไฟฟ้าที่จะต้องจัดหาในปีที่ 11 โดยให้มีการเจรจาอีกครั้งหนึ่งถือเป็นการปรับค่างานตามร่างสัญญาฯ หรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบ คค. และ รฟม. ควรรับข้อสังเกตดังกล่าวไปประกอบการดำเนินตามขั้นตอนก่อนเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในการเจรจากรอบวงเงินค่าลงทุนควรอยู่บนพื้นฐานของกรณีที่เอกชนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในประเด็นดังกล่าวต่อไป"

ความจริงเรื่องดังกล่าวนี้มีกลิ่นอายของความไม่โปร่งใสตั้งแต่การออกเงื่อนไขการประกวดราคา และเกิดคำถามข้อสงสัยว่ามีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาเพื่อล็อกและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าประกวดราคา ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือไม่?

เพราะเนื้อหาของผู้ที่จะมาประกวดราคานั้นมีเนื้อหาสำคัญคือ "ผู้เดินรถไฟฟ้าจะเป็นผู้จัดหารถด้วย" ประการหนึ่ง และ "ผู้เดินรถนั้นจะต้องมีผลงานการเดินรถในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี" เป็นอีกประการหนึ่ง เพียงแค่การกำหนดสเปคดังกล่าว จึงทำให้เหลือบริษัทที่จะเข้าประกวดราคาได้นั้นเหลือเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นคือ บีเอ็มซีแอล กับ บีทีเอส เท่านั้น ทำให้ราคา "ค่ารถ" และ "ค่าเดินรถ" แพงที่สุดในโลกก็ว่าได้

การเอื้อประโยชน์และข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสและถูกจับตานั้น ทำให้เรื่องดังกล่าวถูกยืดเยื้อออกไปจนไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ทัน พอมีการเลือกตั้งใหม่เข้าสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โครงการนี้จึงเดินหน้าสวมตอต่อทันที ดังนั้นจึงมีการลดราคากันพอเป็นพิธีโดยมีรัฐมนตรี 2-3 คน และ "ศ. มัลดิฟส์" พยายามผลักดันให้เดินหน้าให้สำเร็จให้ได้ ใช่หรือไม่?


ถึงขนาดที่ปรากฏเป็นข่าวว่าผู้บริหารของ บีเอ็มซีแอล รู้ล่วงหน้าและกล้ายืนยันต่อที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น บีเอ็มซีแอล เมื่อต้นปี 2556 ว่าจะได้รับการอนุมัติสัมปทานในเร็วๆนี้ รวมถึงสายสีม่วงใต้และสายสีน้ำเงินอีกด้วย

ถ้าใครได้ติดตามสถานะทางการเงินของ "บีเอ็มซีแอล" อย่างใกล้ชิดก็พอจะทราบว่าในอีกไม่กี่เดือน บีเอ็มซีแอล จะประสบปัญหาใหญทางการเงินหรือไม่อย่างไร และเกิดคำถามว่าจะมีคนรู้ไส้ล่วงหน้าก่อนหรือไม่ จึงทำให้หุ้นของ บีเอ็มซีแอล สูงขึ้นในช่วงเวลานั้นเป็นกรณีพิเศษ !!!

"คนรู้ไส้พวกหนึ่ง" ที่คลุกคลีในวงการตลาดทุนคงได้ประโยชน์ไปไม่น้อย !!!

ต้องตั้งคำถามไปยัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ที่ผ่านมาได้สนับสนุนโครงการนี้อย่างออกหน้าออกตาและผลักดันเดินหน้าเสนอเข้าคณะรัฐมนนตรีในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556 นี้ โดยอ้างว่าราคาที่ลดลงไป 12,222 ล้านบาท เป็นผลงานของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 นั้น น่าจะบอกความจริงไปด้วยว่า "ราคานี้มีการลดเนื้องานลงอยู่ด้วย"

ทำอย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่า "ลดราคา" แต่ น่าจะเรียกว่า "ลดเนื้องาน" เพื่ออำพรางให้เข้าใจว่าลดราคาเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่?

บีเอ็มซีแอล ยืนยันการปรับลดราคาการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 21 ขบวน หรือ 63 ตู้ จากราคา 5,295 ล้านบาท มาอยู่ที่ 5,075 ล้านบาท คือลดลง 220 ล้านบาท

แต่ความจริงราคาประมาณของที่ปรึกษาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้วคือ 4,841 ล้านบาท หรือต้องการให้ลดลงไป 454 ล้านบาท ไม่ใช่ 220 ล้านบาท คำถามมีอยู่ว่าส่วนต่างที่ต้องการให้ลดอีก 234 ล้านบาทนั้น กำลังจะเข้ากระเป๋าใคร?

นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ควรได้รับคำตอบจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถึง "ตัวเลขที่ใหญ่กว่านั้น" คืองานส่วนที่ 4 ที่กำลังจะอนุมัติกันที่ 82,980 ล้านบาทนั้น มีส่วนต่างจากการประมาณการก่อนหน้านี้อย่างมหาศาล คำถามมีอยู่ว่าส่วนต่างที่ว่านี้อยู่ระหว่าง 6,980 ถึง 17,980 ล้านบาทนั้น กำลังจะเข้ากระเป๋าใคร?

และใช้ราคาแบบนี้เป็นมาตรฐานรถไฟฟ้าอีก 10 สาย เงินที่จะหล่นหายไปก็จะเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณนับหลายหมื่นถึงแสนล้านบาท ใช่หรือไม่?


ความจริงแล้วในวงการรถไฟฟ้าต่างรู้ว่าราคารถไฟฟ้าในตลาดโลกตามมาตรฐานที่ บีเอ็มซีแอล และ บีทีเอส ใช้กันอยู่นั้น ตกประมาณตู้ละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (60 ล้านบาท) จริงหรือไม่ ดังนั้นการที่ บีเอ็มซีแอล เสนอราคาตู้ละ 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (81 ล้านบาท) จึงเท่ากับน่าจะมีส่วนต่างกำไรตู้ละ 7 แสนเหรียญสหรัฐ (21 ล้านบาท) เมื่อจะซื้อถึง 63 ตู้ ก็ต้องมีส่วนต่างกำไรถึง 1,323 ล้านบาท ใช่หรือไม่ แล้วเงินเหล่านี้กำลังจะเข้ากระเป๋าใคร?

เป็นการเอากำไรตัวลดอย่างมหาศาลเกินไปหรือไม่? สิ่งที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ต้องตอบคำถามต่อมาก็คือ การที่คณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจรับราคาตามที่ บีเอ็มซีแอล เสนอ จะมีความเหมาะสมประการใด และเป็นประโยชน์แก่รัฐอย่างไร ที่นอกเหนือจากการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีความสามารถในการเจรจาลดราคาได้หมื่นกว่าล้านบาท?

การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ (6 สิงหาคม พ.ศ. 2556) หากเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง โดยไม่ใช่เอาประโยชน์ของ บีเอ็มซีแอล เป็นตัวตั้ง คณะรัฐมนตรีก็ไม่ควรพิจารณาเฉพาะภาพรวมของการลดจำนวนเงินที่มาจากการเปลี่ยนแปลงเนื้องานให้ลดลงต่างหาก

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการลงทุนแบบนี้เป็นการดำเนินการตามหลัก (Public Private Partnership: PPP) ที่ถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐที่ใช้ข้ออ้างว่าเพื่อควบคุมราคาค่าโดยสารโดยรัฐและเพื่อดำเนินการให้เป็นประสิทธิภาพแบบเอกชนนั้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีรัฐก็ไม่เคยพิสูจน์ว่าทำอย่างนั้นได้จริง มีแต่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนให้เกิดการผูกขาด ยิ่งยังจะมีโครงการรถไฟฟ้าหลากสีอีก 10 สาย ก็ยิ่งเท่ากับรัฐบาลป้อนให้เกิดการผูกขาดแก่เอกชนอยู่ไม่กี่ราย แล้วเมื่อไหร่ประชาชนจะได้ประโยชน์ในระบบขนส่งมวลชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร?

แต่ถ้ารัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ฟัง ก็เท่ากับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กำลังพาคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไปเสี่ยงคดีทุจริต และเตรียมตัวพิสูจน์ตัวเองตามขั้นตอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไปได้เลย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น