xs
xsm
sm
md
lg

หยุดแก้ปัญหา...ด้วยการแดกโชว์กันได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ภาพของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด และนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นบุคคลระดับรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ได้เดินทางไปในตลาดบ้านเพ ตลาดตะพง ในพื้นที่รอบเกาะเสม็ดเพื่อทำพิธี “กินปูโชว์” ผู้สื่อข่าว เพื่อจะให้สื่อสารกับสาธารณะว่าปูทะเล ระยอง หรือในพื้นที่รอบเกาะเสม็ด ยังรับประทานได้ ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ

คำถามจึงมีว่านี่คือวิธีการในการแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดหรือไม่มากน้อยแค่ไหน หรือนี่คือปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ได้ผลเหมือนกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ที่ผ่านๆ มา จนต้องถือเป็นแบบอย่าง เป็นหลักปฏิบัติที่คนระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีจะต้องงัดมาปฏิบัติการในทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

 ถ้าเรายังจำกันได้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมานี้เอง (วันที่18 กรกฎาคม 2556) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปที่บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วทำการทดสอบคุณภาพข้าวที่หุงสุกแล้ว และ “กินข้าวโชว์” สื่อมวลชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประชาชนจากสาเหตุของข่าวพบสารเคมีปนเปื้อนในข้าวสาร ก่อนหน้าอีกกรณีคือในปี 2548 ตอนนั้นประเทศของเรามีวิกฤตกรณีไข้หวัดนกในไก่ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ออกมาลาดตระเวนพร้อมคณะรัฐมนตรี เพื่อ “กินไก่โชว์” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าไม่ต้องวิตกกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้นกับเรื่องไข้หวัดนก แล้วกระแสข้าวสารปนเปื้อน ไก่ติดเชื้อไข้หวัดนก ก็เริ่มจางหายไปจากสังคม ทั้งๆ ที่ในทางวิชาการในการตรวจสอบพิสูจน์ยังไม่จบสิ้นขบวนความ

กรณีของไก่ติดเชื้อไข้หวัดนก กรณีข้าวสารปนเปื้อน ล้วนเป็นผลกระทบต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในทางการเมือง คือผลประโยชน์ของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ คนในระดับนายกรัฐมนตรีจึงต้องออกโรงเอง ใช่หรือไม่??? แต่กรณีผลกระทบจากน้ำมันรั่วลงทะเลระยองในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้ส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านในระยอง ซึ่งที่มีอยู่ประมาณ 20 กลุ่ม ที่จะได้รับผลกระทบ ในเบื้องต้นพบว่ามีชุมชนประมงและผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งแล้วอย่างน้อยๆ มี 6 กลุ่ม ซึ่งได้แก่กลุ่มชาวประมงลานหินขาว กลุ่มชาวประมงแหลมเทียน กลุ่มชาวประมงเรือเล็กศาลาเขียว กลุ่มหมู่บ้านประมงสวนสนยูงทอง กลุ่มเรือนวลทิพย์ และกลุ่มอวนปู โดยมีพี่น้องชาวประมงไปลงชื่อร้องเรียนถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากการทำการประมงแล้วประมาณ 560 ราย ผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมที่พวกเขาได้รับก็คือผู้บริโภคต่างงดการสั่งซื้ออาหารทะเลจำพวก หอย ปู ปลาจากพวกเขา จากวันแรกที่น้ำมันรั่วไหลเข้ามา ชาวประมงต้องเร่ขายปูเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท ต้องยอมขายลดราคาลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ขาดทุน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักท่องเที่ยวก็ลดลงแหล่งท่องเที่ยวเริ่มขาดรายได้ ผู้บริโภคอาหารทะเลเริ่มปฏิเสธการซื้อสัตว์ทะเลเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่จึงไม่กล้าซื้อกิน กรุ๊ปทัวร์ ร้านอาหารต่างก็งดสั่งอาหารทะเล ทำให้ชาวประมงขาดรายได้เลี้ยงชีพ และครอบครัวเริ่มเดือดร้อน 

ถ้าเรามาดูบทเรียนเช่นเดียวกันนี้ในต่างประเทศ อย่างกรณีบริษัทน้ำมันเชฟรอนของสหรัฐอมริกา ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่จากบ่อสำรวจน้ำมันในทะเล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 จากแหล่งขุดเจาะน้ำมันเฟรด นอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร ระยะทางประมาณ 370 กม.ทำให้ทางรัฐบาลบราซิลสั่งระงับการขุดเจาะน้ำมันทั้งหมดของบริษัทเชฟรอน นอกจากนั้นสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบราซิลมีคำสั่งปรับเงินบริษัทเชฟรอน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่อมาอิบามา (Ibama) ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของบราซิลได้สั่งปรับเพิ่มอีกเป็นเงิน 5.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โทษฐานที่บริษัทขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือเหตุน้ำมันรั่วไหลนอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร เพราะตรวจสอบพบว่าบริษัทขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นในเรื่องฉุกเฉิน และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช้ามาก

เมื่อเกิดวิกฤตที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค จากการกระทำของฝ่ายธุรกิจ เราจึงไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีของประเทศไหนในโลกใบนี้ ที่ออกไป “ยืนกินโชว์นั่งเปิบโชว์” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจของเอกชน แต่เขาสั่งให้หน่วยงานวิชาการ กลไกอิสระของรัฐออกมาทำหน้าที่ตรวจสอบความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและแถลงความจริงต่อประชาชนของเขาเท่านั้น กรณีการกระทำของธุรกิจเอกชนหากกระทำการใดๆ แล้วกระทบต่อประชาชนผู้ทำมาหากินโดยสุจริต รัฐต้องทำหน้าที่ออกมายืนอยู่ข้างประชาชนของตัวเอง ในการทำหน้าที่เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาชีพและรายได้ของประชาชน รวมไปถึงการยื่นฟ้อง เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งที่ต้องสูญเสียไปจากธุรกิจเอกชนที่ก่อเหตุขึ้น ไม่ใช่ออกมาปกป้องซูเอี๋ยกันอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ พวกท่านไม่ละอายแก่ใจกันบ้างเหรอครับ หรือมองว่าประชาชนของบ้านนี้เมืองนี้ท่านจะกระทำอะไรก็ได้ ระวังเถิด...เมื่อชาวบ้านเขาหมดความอดทนพร้อมๆ กันขึ้นมาเมื่อไหร่ ผมเกรงว่าพวกท่านจะไม่มีบ้านเมืองให้อยู่เชิดหน้าชูคอกันสลอนเหมือนที่เป็นอยู่นะครับท่าน.
กำลังโหลดความคิดเห็น