xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงเสียแชมป์ข้าวอีกปี อัดจำนำทำเจ๊งยอดตก-ราคาวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยฟันธงปีนี้ไทยยังเสียแชมป์ส่งออกข้าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เหตุครึ่งปียังส่งออกได้แค่ 2.9 ล้านตัน ลดลง 8.4% อัดนโยบายจำนำทำให้ข้าวไทยเจ๊ง ทั้งยอดตก ราคาวูบ ส่วนผลประมูลข้าวเปลือก จ่อเคาะขายให้ 4 ราย ปริมาณ 1.2 แสนตัน "หมอวรงค์"เย้ย ไม่มีคนประมูลข้าว เพราะกลัวเจอข้าวเน่า จี้รัฐรับประกันก่อนประมูลครั้งต่อไป

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ปี 2556 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวไปยังตลาดโลกได้เป็นอันดับที่ 3 เหมือนกับปี 2555 รองจากอินเดียและเวียดนาม เพราะช่วงครึ่งปี 2556 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยสามารถส่งออกข้าวได้เพียงแค่ 2.94 ล้านตัน ลดลง 8.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2555 โดยมีมูลค่า 2,103 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.4% และคงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก

"ถ้าจะให้ส่งออกข้าวได้มากๆ คงต้องเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง จนทำให้ผลผลิตข้าวโลกเสียหาย แต่ขณะนี้ หลายประเทศมีผลผลิตข้าวสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการค้าข้าวโลกปีนี้ปรับลดลงมาเหลือ 37.58 ล้านตัน หรือลดลง 4.01% โดยปีนี้ เอกชนคาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวได้ 6.5 ล้านตัน เป็นข้าวเฉพาะที่เอกชนส่งออก ยังไม่รวมกับข้าวของรัฐบาลที่ขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ยังไม่รู้ว่ามีเท่าไร เพราะล่าสุดเพิ่งขายให้อิหร่านได้แค่ 2.5 แสนตัน"

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำที่รัฐบาลกำหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำให้ไทยแข่งขันราคาข้าวในตลาดโลกได้ และส่งผลให้รายได้จากการส่งออกข้าวของไทยต่อปีลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาท จากเดิมสามารถส่งออกได้ 2 แสนล้านบาท เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่ลดทั้งปริมาณและมูลค่า ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับราคาข้าวอีก ซึ่งรัฐสามารถช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยลดต้นทุนปลูกข้าว ยกระดับการผลิตข้าวให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการอุดหนุนเงินให้กับเกษตรกรโดยตรง

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 3.5 แสนตัน ที่มีเอกชนเข้าร่วมประมูลน้อย เนื่องจากเอกชนไม่มั่นใจคุณภาพข้าวในสต๊อกรัฐบาล จึงต้องการให้รัฐบาลกำหนดให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวเยอร์) ออกมารับรองคุณภาพข้าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเอกชน รวมทั้งควรพิจารณาราคาอนุมัติขายที่สามารถทำให้ผู้ชนะประมูลนำข้าวออกไปส่งออกแล้วราคาไม่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมากเกินไป หรือบวกราคาพรีเมียมได้ไม่เกิน 30 เหรียญสหรัฐ/ตัน

วันเดียวกันนี้ นางปราณี ศีริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้เปิดซองราคาเสนอซื้อข้าวเปลือกเจ้า 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกรอบ 2 ปี 2555/56 ปริมาณ 2 แสนตัน เพื่อทำเป็นข้าวนึ่งส่งออก

นางปราณีกล่าวว่า หลังการเจรจา เบื้องต้นคาดว่าจะอนุมัติขายให้กับผู้ส่งออกที่เสนอซื้อ 4 ราย ได้แก่ บริษัท นครหลวงค้าข้าว บริษัทไชยพร ไรซ แอนด์ ฟู้ด โปรดักส์ บริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ และบริษัท กมลกิจ จากที่เสนอซื้อทั้งสิ้น 5 ราย คิดเป็นปริมาณรวม 1.2 แสนตัน เพราะทั้ง 4 ราย เสนอซื้อในราคาสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนอีก 1 รายไม่อนุมัติขายให้ เพราะเสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์มาก โดยกรมฯ จะเสนอให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ กรมฯ จะเปิดประมูลข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์หน้า จะออกประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) น่าจะมีทั้งข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ ซึ่งตั้งเป้าประมูลข้าวในสต๊อกเดือนละ 2 ครั้งๆ ละประมาณ 2-3 แสนตัน เพื่อไม่ให้กระทบราคาตลาด

ทางด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเปิดประมูลข้าวสาร และปลายข้าวปริมาณ 3.5 แสนตัน และข้าวเปลือก 2 แสนตัน ของรัฐบาล เป็นการประมูลที่ล้มเหลวที่สุด โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยมาก เพราะจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ส่งออก ได้ความว่า ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพข้าวในสต๊อก เนื่องจากไม่มีการรับรองคุณภาพ ไม่ใช่เตรียมตัวไม่ทันเหมือนที่นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวอ้าง และหากรัฐอยากขายข้าวให้ได้ ก็ต้องกล้าประกาศว่า หากซื้อข้าวไปแล้วพบข้าวเสื่อม ก็จะรับคืน สำหรับการประมูลครั้งต่อไป

“โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ซึ่งการประมูลล่าสุดก็พิสูจน์แล้วว่าข้าวขายไม่ได้ จึงชัดเจนว่าโครงการจำนำข้าวล้มเหลว และไม่สามารถถูไถต่อไปได้อีก จึงอยากให้รัฐบาลออกมาขอโทษประชาชน และยอมรับว่านโยบายนี้ผิดพลาด หากรัฐบาลกล้าออกมายอมรับผิดในเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จำให้คำแนะนำกับรัฐบาลในเรื่องนโยบายข้าว แต่ไม่อยากให้รัฐบาลถูไถต่อไป เพราะไม่มีรัฐบาลประเทศใดในโลก ที่จะต่อสู้กับกลไกตลาดในระยะยาวได้”นพ.วรงค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น