หากในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ใส่ใจกับการค้นหาความจริงและดูแลเร่งรัดให้หน่วยงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษทำคดีอย่างจริงจังและโปร่งใส ป่านนี้เราคงคุยเรื่องนิรโทษกรรมกันได้รู้เรื่องกว่านี้
นิรโทษกรรม ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่ต้องทำแล้วเกิดความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง ไม่ใช่ทำแล้ว ยิ่งสร้างความแตกแยกเกลียดชังระหว่างคนสองฝ่าย จนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ความจริงแล้ว ทุกฝ่ายที่คัดค้านการนิรโทษกรรมไม่ได้ปิดประตูตายว่านิรโทษกรรมไม่ได้ แต่เงื่อนไขบริบทของประเทศที่ดำเนินอยู่แบบนี้ไม่สามารถจะนำไปสู่การยอมรับให้นิรโทษกรรมได้ หากปราศจากซึ่งการค้นหาความจริง และขั้นตอนยุติธรรม การสำนึกยอมรับผิด เฉกเช่นที่ทั่วโลกเขาทำกัน ถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่เป็นบันไดสู่นิรโทษกรรมและ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีโดยตรงทั้งสิ้น ไม่อาจปัดความรับผิดชอบให้กลไกรัฐสภาแต่ฝ่ายเดียวได้เลย
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปเยือนต่างประเทศว่า <1>“การที่เราอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นนั้น ต้องเปิดใจที่จะให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับการดูแลอย่างยุติธรรม เห็นใจผู้ที่เขาต้องขอความเป็นธรรมด้วย สนับสนุนเวทีรัฐสภา เพราะเป็นเวทีที่ถูกต้องในการให้ผู้แทนของประชาชนได้พูดคุยแล้วตัดสินกัน”
นายกรัฐมนตรีมีความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่นั้น เราไม่เคยได้ยิน แต่ท่านมักพูด คำว่า ปรองดองเสมอ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจของฝ่ายบริหารอยู่ในมือ สามารถที่จะใช้กลไกฝ่ายบริหารในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ ก่อนที่จะเดินมาถึงการเสนอเรื่องนิรโทษกรรมในวันนี้ มีข้อเสนอ คอป.ให้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการมากมาย แต่ท่านไม่ได้ทำและเลือกที่จะใช้หนทางอันเสี่ยงต่อการสูญสีย เสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองในภาวะกดดันขณะนี้ ดิฉันจึงใคร่ขอวิงวอนให้นายกรัฐมนตรีเปิดใจให้ความเป็นธรรมตามที่ท่านพูดไว้ โดยนึกถึงผู้เดือดร้อนที่เป็นประชาชนฝ่ายอื่นๆที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง และดูแลปกป้องอนาคตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้พวกเขามีหลักประกันที่จะมีความปลอดภัยในชีวิตอันเป็นสิทธิพื้นฐานโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญด้วย หน้าที่นายกรัฐมนตรีต้องสามารถปกป้องปวงประชา แม้ว่าจะเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้อยู่ในรัฐสภา หลักการปกครองประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแต่ยึดเสียงข้างมากแต่ต้องดำเนินไปควบคู่กับ RULE OF LAW ด้วย
ปัจจุบัน ฝ่ายที่สนับสนุนการนิรโทษกรรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันด้วยคำพูดเดียวกันว่า “นิรโทษกรรมแล้ว จะดี บ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้า” แต่ไม่เคยมีใครสามารถอธิบายชี้แจงขยายความให้กระจ่างได้เลยว่ามันจะดีได้อย่างไร ใครได้ประโยชน์บ้างแล้วคู่กรณีจะยอมรับให้อภัยกันอย่างไร ขอสมมติว่าวันที่ ๗ สิงหาคม ศกนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมผ่านรัฐสภา จากนั้นในวันรุ่งขึ้นคนไทยจะกลับมาดีกัน สามัคคีรักกันทันทีทันใดเลยไหม คนอื่นเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ดิฉันคนหนึ่งที่ไม่ดีด้วยและจะยิ่งไม่มีวันให้อภัย เพราะการอภัยบังคับกันไม่ได้ พวกท่านไม่ใช่เจ้าของชีวิตคนตาย มันสะท้อนว่าพวกท่านไม่เคยเห็นค่าชีวิตคนตายทุกฝ่าย และยังไม่เคารพในสิทธิของชีวิตคนเป็น ที่เขาไม่ได้ทำความผิดอีกด้วย
ชีวิต ๙๑ ศพที่ตายไปในเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ ไม่ว่าคนตายจะเป็นใครฝ่ายไหนก็ตาม ควรเป็นบทเรียนการสูญเสียแก่สังคม และช่วยป้องกันสังคมไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมนั้นอีก ดิฉันเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อสู้คัดค้านการนิรโทษกรรมในขณะนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจกับใคร เราเพียงแต่มีหน้าที่ต้องสู้เพื่อรักษาสำนึกผิดชอบชั่วดีของสังคม ซึ่งมันคือสิ่งสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตของพวกเรา สู้เพื่อรักษาบรรทัดฐานในการมีชีวิตอยู่ของพวกเราและลูกหลานของเราให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมความถูกต้องเท่านั้นเอง
การออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยขาดสำนึกยอมรับผิดของผู้กระทำผิด มีแต่จะบังเกิดผลร้ายมหันต์ต่อสังคม ในขณะที่ผู้สนับสนุนนิรโทษกรรมไม่สามารถอธิบายชี้แจงข้อดีได้ ดิฉันเห็นข้อเสียของนิรโทษกรรมอย่างน้อย ๑๑ ข้อ คือ ๑)ทำลายหลักนิติรัฐ ๒) ทำลายหลักศีลธรรม ๓) ทำลายบรรทัดฐานสังคม ๔) ทำลายอำนาจอธิปไตย (อำนาจตุลาการ) ๕) ละเมิดสิทธิพื้นฐานในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ๖) เยาวชนเรียนรู้ตัวอย่างผิด ทำลายอนาคตของชาติ ๗) สังคมไทยยึดการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ๘) ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ๙) ประชาชนขัดแย้งแตกสามัคคี ๑๐) เกิดจลาจลใช้ความรุนแรงในสังคม และ ๑๑)นำไปสู่รัฐล้มเหลว รัฐล่มสลาย (Failed State)
มีใครคนไหนกล้าออกมารับประกันว่าผลร้าย ๑๑ ข้อดังกล่าว จะไม่เกิดขึ้นกับสังคมไทย แล้วถ้าหากว่า มันเกิดขึ้นพวกท่านจะรับผิดชอบอย่างไร จวบจนชั่วรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกท่านก็ไม่มีวันชดใช้รับผิดชอบได้ นอกเสียจากว่า...พวกท่านไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมารับผิดชอบกับความเป็นไปของอนาคตแผ่นดินถิ่นเกิดของท่าน
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖