xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการล้างพิษตับที่ "ผู้หญิง" มีข้อควรระวังมากกว่า "ผู้ชาย" (ตอนที่ 2) : ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ปัญหาภายหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แม้จะเป็นข่าวดีอยู่มากว่าผลการสำรวจตรวจเลือดที่จัดทำโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์อนัน ศรีพนัสกุล อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตับ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้กับผู้เข้าฝึกอบรมของกลุ่มบุญคณา จังหวัดขอนแก่น แล้วพบว่า เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophils ของคนที่มีค่าสูงผิดปกติ (อาการแพ้ Allergic disorders, การติดเชื้อพยาธิ, โรคผิวหนังบางชนิด) เมื่อเข้าอบรมหลักสูตรแล้วส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีค่ากลับมาเป็นปกติ อันเป็นสัญญาณที่บ่งว่าหลักสูตรการล้างพิษตับโดยองค์รวมแล้วอาจจะทำให้ภาวะภูมิแพ้ของคนที่มีปัญหามีอาการดีขึ้นได้

แต่ข่าวดีก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน โดยเฉพาะ "ผู้หญิงบางคน" อาจมีภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการแพ้ได้มากกว่าเดิมได้อีกหลังล้างพิษ "หากไม่ระมัดระวัง" ผมได้เก็บข้อมูลของคนที่เกิดอาการแพ้มากว่าเดิม (ไม่นับคนที่ไม่ทำตามขั้นตอน เช่น การไม่ทำการสวนล้างตามที่กำหนดให้เป็นเวลา) เท่าที่เห็นและรวบรวมข้อมูลพบสาเหตุที่น่าตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ "ภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ" มากที่สุด โดยเฉพาะคนที่มีประวัติดื่มนมวัวควบคู่กับการใช้ยาแก้แพ้ หรือสเตียรอยด์ การรับประทานหวานมาก การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก และมีอาการเป็นผื่นแพ้อยู่บ้างแล้วแต่ใช้ยากดหรือข่มอาการเอาไว้ ฯลฯ
ภาพที่ 1 ผู้หญิงรายหนึ่งชาวราชบุรีมีประวัติดื่มนมวัวต่างน้ำ ชอบรับประทานรสหวาน ใช้ยาสเตียรอยด์ มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำเกิดอาการหลังล้างพิษตับด้วยตนเอง
คนที่มี ภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำแฝงกว่าคนปกติ สามารถสังเกตอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้ระบุเอาไว้ในตอนที่ 1 แล้ววัดอุณหภูมิตอนเช้าใต้ลิ้นโดยเฉลี่ย 5 วันต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส คนเหล่านี้มีพลังงานการเผาผลาญต่ำอาจทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้าจึงทำให้ท้องผูกกว่าคนปกติอยู่แล้ว บางคนเมื่อรับประทานทานลิดท็อกซ์แล้ว (ผงธัญพืชผสมน้ำที่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลเลียมซึ่งมีคุณสมบัติพองในลำไส้เพื่อทำความสะอาด) ปรากฏว่าลิดท็อกซ์ที่พองตัวเหล่านั้นเคลื่อนตัวช้ามากจนเข้าใจว่าไม่ได้ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายในช่วงเวลาล้างพิษ
ภาพที่ 2 อาการแพ้ของผู้หญิง 2 ราย (ราชบุรี และกรุงเทพ)ที่ล้างพิษตับมีประวัติดื่มนมวัวมาก ชอบรับประทานหวานและใช้สเตียรอยด์ มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เกิดอาการปะทุพิษที่คล้ายคลึงกัน
เมื่อดื่มน้ำมันมะกอกกระตุ้นให้ตับและถุงน้ำดีขับน้ำดีออกมาเป็นจำนวนมาก น้ำดีเหล่านี้มีองค์ประกอบของไขมันคอเลสเตอรอล และรวมถึงสารพิษที่ละลายได้ถูกขับออกมาอาจติดอยู่กับขบวนลิดท็อกซ์ที่ยังคงค้างอยู่ในลำไส้ หรืออาจติดอยู่ตามผนังลำไส้นานกว่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสที่สารพิษที่ละลายในไขมันซึ่งถูกขับออกมาพร้อมกับน้ำดีเหล่านั้นถูกลำไส้ดูดกลับเข้าเส้นเลือดดำมากกว่าการขับถ่ายออกมา สารพิษเหล่านั้นเมื่อถูกดูดกลับเข้าร่างกายก็อาจเกิดการแพ้ตามผิวหนังอย่างรุนแรงตามมาได้ คนเหล่านี้ให้สังเกตได้จากการล้างพิษอาจไม่ค่อยมีอะไรออกมามากนักหรือไม่มีอะไรขับถ่ายออกมาเลยในระหว่างการล้างพิษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำมีกระบวนการเผาผลาญต่ำ(Metabolism)อยู่แล้ว ก็อาจจะมีกระบวนการเผาผลาญสารพิษที่ละลายในไขมันในรูปของน้ำดีที่ถูกขับออกมาจากตับได้ช้ากว่าคนทั่วไปอีก ยิ่งหากอดอาหารที่นานๆควบคู่กันไปด้วยก็ยิ่งทำให้ปัญหาธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำลงไปอีก ส่งผลทำให้กระบวนการเผาผลาญลดต่ำลงกว่าเดิม

ภาพที่ 3 อาการแพ้ของผู้หญิงรายหนึ่งจากจังหวัดนครราชสีมา มีประวัติดื่มนมวัวมาก ชอบรับประทานหวานและใช้สเตียรอยด์ มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เกิดอาการผื่นแพ้ด้านหลัง
หากคนที่มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำซึ่งถือว่ามีพลังงานในการเผาผลาญและพลังงานในการเคลื่อนตัวของลำไส้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงอาจต้องรอเวลาให้ขับถ่ายลิดท็อกซ์เพื่อล้างลำไส้ให้เรียบร้อยก่อนการดื่มน้ำมันมะกอกเพื่อล้างพิษตับ

หรือหากไม่สามารถจัดเวลาได้เหมาะสมเพราะลิดท็อกซ์อาจค้างอยู่ตามลำไส้นานเกินไป อาจเลือกทางอื่นในการล้างลำไส้แทน เช่น การใช้ยาถ่ายประเภทเป็นยาน้ำ, ดีเกลือ, ยาชำระเมือกมัน, ผงเอนไซม์สำหรับการย่อยสลายสิ่งตกค้างในลำไส้ อาจจะเหมาะสมกว่าสำหรับคนที่มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ในการนี้หากได้ผู้ที่เชี่ยวชาญคอยนวดกดท้องในบริเวณที่แข็งเกร็งตัวให้คลายตัวก็อาจทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการล้างพิษตับลดน้อยลงได้
ภาพที่ 4 ผู้หญิงรายหนึ่งจากจังหวัดนครสวรรค์ เกิดอาการผื่นแพ้เกิดขึ้นทั่วร่างกายและบริเวณคอหลังล้างพิษโดยมีประวัติการใช้สเตียรอยด์มาก่อน
คนที่มีภาวะธัยรอยด์ฮอรโมนต่ำนอกจากลำไส้จะบีบเคลื่อนตัวช้าทำให้ขับถ่ายของเสียและพิษตกค้างได้ช้าแล้ว ยังมีการเผาผลาญเปลี่ยนสภาพไขมันเป็นน้ำดีและฮอร์โมนได้น้อยกว่าคนปกติอีกด้วย ส่งผลทำให้ฮอร์โมนบางชนิดที่ต้านการอักเสบหรือต้านการผื่นแพ้ เช่น ฮอร์โมนคอร์ติโซล (Cortisol) อาจผลิตได้น้อยกว่าปกติ หรือผลิตได้อย่างผิดเพี้ยนไม่เป็นเวลา เมื่อผสมกับภาวะการเผาผลาญต่ำจึงทำให้สลายสารพิษที่ละลายในไขมันได้ช้ากว่าคนปกติด้วย ดังนั้นคนที่ล้างพิษที่ขาดความเข้าใจในตรงนี้อาจส่งผลร้ายตามมาคืออาจเกิดภาวะผื่นแพ้ได้มากขึ้น บางครั้งอาจไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งแรกเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อๆ ไปที่มีการล้างพิษ เมื่อธัยรอยด์ฮอร์โมนทยอยลดลงไปเรื่อยๆทุกครั้งที่มีการอดอาหารยาวในล้างพิษตับ

บางคนอาจไม่ได้เกิดปัญหาผื่นแพ้ แต่เกิดปัญหาอีกด้านคือเมื่อธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำแล้วทำให้การเผาผลาญต่ำลง เมื่อไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับการเผาผลาญที่ต่ำลง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการอ้วนขึ้นกว่าเดิมที่เรียกว่า ผลกระทบตีกลับที่เรียกว่า ผลกระทบโยโย่ (Yoyo Effect) บางคนแม้ไม่อ้วนแต่กลับพบว่าคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นกว่าก่อนที่จะล้างพิษเสียอีก

โดยเฉพาะคนที่อาจมีภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut syndrome) ร่วมด้วย
อันเนื่องมาจากมีประวัติชอบรับประทานหวานมาก ดื่มนมวัวมาก รับประทานยาแก้อักเสบมาก หรือ ใช้ยาสเตียรอยด์มาก คนเหล่านี้ยิ่งต้องระวังเพราะร่างกายมีจุลินทรีย์และเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยน้อยกว่าคนปกติ มีเชื้อราจำนวนมาก ทำให้ลำไส้อักเสบและทำงานผิดเพี้ยนไป ส่งผลทำให้ลำไส้ดูดสารพิษหรือขนาดของโมเลกุลที่มีอณูใหญ่กว่าปกติ (Megamolecule) ได้ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็จะทำให้ร่างกายใช้ภูมิต้านทานเข้าโจมตี เพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงเกิดอาหารผื่นแพ้ได้ง่ายอยู่แล้ว เมื่อรวมกับภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำและกระบวนการล้างพิษตับที่ขับพิษออกมามากแต่ไม่สามารถขับถ่ายออกจากร่างกายได้และเผาผลาญได้น้อย ก็จะยิ่งมีอาการผื่นแพ้ได้มากขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย

สำหรับปัญหาธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำแฝงนั้น มีโอกาสจะสร้างปัญหาให้กับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศที่ชื่อเอสโตรเจน หากฮอร์โมนดังกล่าวไม่สมดุลเพราะมี "ฮอร์โมนเอสโตรเจน" สูงกว่า "ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน" ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่โดดเกินนั้นจะมีฤทธิ์ในการกดธัยรอยด์ฮอร์โมนให้ต่ำลงทันที เมื่อธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำลงจึงทำให้ความสามารถในการแปลงไขมันคอเลสเตอรอลเป็นน้ำดีและฮอร์โมนได้น้อยลง และส่งผลทำให้ฮอร์โมนคอร์ติโซลที่ต้านการอักเสบทำงานได้น้อยลงหรือไม่ก็ผิดเพี้ยนไปจนทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้นด้วย

ในทำนองเดียวกันเมื่อ ฮอร์โมนคอร์ติโซล ที่ทำงานหนักในภาวะที่เกิดความเครียด อดอาหาร รวมถึงเมื่อเกิดภาวะภูมิแพ้ หากทำงานหนักจนต่อมหมวกไตล้า ร่างกายก็จะดึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเอาไปช่วยฮอร์โมนคอร์ติโซลอีก ส่งผลทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดต่ำลงกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำลง จนทำให้การเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรรอลให้เป็นน้ำดีและฮอร์โมนได้น้อยลงไปอีก ก็จะทำให้ภาวะการต้านการอักเสบน้อยลง ภาวะผื่นแพ้เพิ่มมากขึ้น และกลับทำให้เป็นปัญหาลามเป็นลูกโซ่วนไปวนมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

สำหรับคนที่มีภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำอยู่แล้ว จึงไม่ควรอดอาหารนานเกินไป และไม่ควรดื่มน้ำมันมะกอกมากหลายๆแก้วในการล้างพิษตับครั้งเดียว แม้แต่ในการล้างพิษตับในแต่ละครั้งอาจจะต้องลดปริมาณน้ำมันมะกอกให้น้อยกว่าคนทั่วไป

โดยจากประสบการณ์ในหลายกรณีพบว่าการล้างพิษตับในกลุ่มคนที่เป็นธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จะไม่สร้างปัญหามากนักหากอดอาหารไม่เกิน 24 - 36 ชั่วโมง และดื่มน้ำมันมะกอกไม่เกิน 75 ซีซี (น้ำมันมะกอก 75 ซีซี + น้ำมะนาว 75 ซีซี) แต่เน้นการล้างลำไส้ให้สะอาดด้วยการเตรียมตัวปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารมาล่วงหน้า 7 วัน (งดอาหาร นมวัว ชีส เนื้อสัตว์ น้ำเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ของหวาน แอลกอฮอล์ ของทอดๆมัน ของเย็น และให้ทานยาขับชำระเมือกมันทำความสะอาดสวนล้างลำไส้ทุกวัน)


ต้องขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับบทเรียนอันมีค่ามหาศาลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายคนที่มาขอคำปรึกษาจากผมและให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อไป แม้จะไม่ใช่ปัญหาของคนส่วนใหญ่ แต่เพราะมีปัญหาของคนกลุ่มนี้จึงทำให้เราได้เรียนรู้เป็นวิทยาทาน และทราบได้ว่าเราจะสามารถที่จะช่วยเหลือและเยียวยารักษาอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นหรือหายไปได้อย่างไร เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆต่อไปในอนาคต

แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยที่จะมาแก้ปัญหาเหล่านี้เอาทีหลัง...
ดังนั้นกรณีเช่นนี้จึงควรป้องกันเอาไว้จะดีกว่า !!!


(โปรดติตามต่อในตอนหน้า : จะมาอธิบายว่าคนที่เกิดอาการเหล่านี้แล้วสามารถทำให้ดีขึ้นหรือหายได้อย่างไร?)


กำลังโหลดความคิดเห็น