xs
xsm
sm
md
lg

ญาติวีรชนฯดันนิรโทษฯ ฉบับปชช.จี้ “นายกฯปู”มารับเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(14 ก.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.2553 แถลงถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน โดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 กล่าวว่า กลุ่มญาติวีรชนฯได้ร่วมกับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการด้านกฎหมาย จัดทำร่างกฎหมายที่ชื่อว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549” ซึ่งหลักการโดยรวมของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปนั้นก็เพื่อแสดงออกทางการเมือง แต่มีปัญหาที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ทั้งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและพลเรือน จึงต้องมีการแยกแยะการกระทำใดๆที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และการเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน การกระทำเกินกว่าเหตุของผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชา ฯลฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกจากการนิรโทษกรรมนี้ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นอีก
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้จะให้การคุ้มครองกับการกระทำใดๆของบุคคลที่แม้เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งถูกประกาศใช้จากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ให้พ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง และถ้าเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาหรือสามารถเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งด้วย ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้การคุ้มครองไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือตามข้อปฏิบัติในกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมสถานการณ์เท่านั้น แต่ต้องเอาผิดกับผู้สั่งการปราบปรามประชาชน คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เพราะแม้อ้างว่าเป็นการทำตามอำนาจในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เมื่อมีการเสียชีวิตในการสลายการชุมนุม กลับไม่มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 กล่าวว่า การที่ฝ่ายอื่นเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ไม่เคยมีการนำความเห็นของกลุ่มญาติวีรชนฯเข้าไปร่วมด้วยเลย อย่างไรก็ตาม กลุ่มของตนจะนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยื่นถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อขอการสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยขอให้นายกฯลงมารับเรื่องด้วยตัวเองเพราะรัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นมาโดยเลือดเนื้อของประชาชนที่เสียชีวิต แต่นายกฯไม่เคยลดตัวลงมารับเรื่องจากญาติของผู้เสียชีวิตเลยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เราจะเดินสายขอความสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระหว่างวันที่ 17-19 ก.ค.นี้ ก่อนเข้ายื่นร่างกฎหมายต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อขอการสนับสนุนและให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดสมัยประชุมในเดือนส.ค.นี้
นางพะเยาว์ กล่าวอีกว่า ส่วนการที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. ระบุว่าเป้าหมายของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน โดยฝ่ายหนึ่งอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน ส่วนญาติของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมอยากนำฆาตกรมาติดคุกโดยไม่สนใจการนิรโทษกรรมนั้น ตนอยากถามว่านางธิดาเคยศึกษาเรื่องนี้จริงๆหรือไม่ และกลุ่มญาติวีรชนฯต้องเคลื่อนไหวกันเองในการวิ่งทำทุกอย่างเพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้สำหรับประชาชน ซึ่งถือว่าเหนื่อยที่สุด อีกทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนช่วยเหลือกันเองซึ่งรวมถึงการไปเยี่ยมผู้ที่ถูกจำคุก เราถูกลอยแพมานานแล้ว แต่ตัวประธาน นปช.ดีแต่พูด ไม่เคยทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ตอนนี้เราไม่คิดหวังพึ่งกลุ่มใดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใหญ่แค่ไหน.
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมวิปรัฐบาลทั้งหมด ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ที่รัฐสภา เพื่อหารือว่าในจำนวนร่างกฎหมายที่ค้างพิจารณาในสภา เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะหยิบยกฉบับใดขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค. หลังการหารือจะออกเป็นมติวิปรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เพราะการพิจารณากฎหมายต้องฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จะตัดสินโดยพรรคหนึ่งพรรคใดไม่ได้ หากวิปรัฐบาลมีมติให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ก็มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหากับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่ม นปช.และเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากมีความจำเป็น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ กฎหมายกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจาณาแล้วเสร็จ ประกาศบังคับใช้ภายใน 120 วัน ซึ่งรวมถึงขั้นตอนของวุฒิสภาด้วย อีกทั้งยังมีผลต่องบประมาณผูกพันที่หน่วยงานต่างๆ ต้องเบิกจ่ายในวันที่ 1 ต.ค.
ประธานวิปรัฐบาล ยังประเมินว่า สถานการณ์การเมือง เมื่อเปิดประชุมสภาจะไม่มีเหตุวุ่นวาย แม้ว่าจะกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่รอพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่ใช้สำหรับปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา สภาฯก็ได้ดำเนินการตามคำเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็นิรโทษให้เฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีการเมือง ให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ครอบคลุมแกนนำ.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาฯวันที่ 1 ส.ค. เพื่อพิจารณากฎหมายที่ยังค้างอยู่ในสภาฯ ทั้งพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2557 คาดว่าจะนำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มาพิจารณาในวาระแรก ส่วนพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะช่วยเหลือประชาชน ส.ส.ของพรรคและส.ส.กลุ่มนปช. คงจะไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าเรื่องนี้คงไม่มีปัญหา หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง พรรคยังยืนยันมติเดิม ที่จะสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่จะช่วยเหลือประชาชนทุกสีเสื้อ ไม่รวมแกนนำ ส่วนพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั้นพรรคยังไม่มีมติว่าจะเลื่อน หรือนำมาพิจารณา แม้จะมีส.ส.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อก่อนหน้านี้ เพราะอาจยังไม่ทราบรายละเอียด พรรคเพื่อไทย มีเอกภาพ แสดงความเห็นต่างกันได้ แต่เมื่อมีมติพรรคออกมาทุกอย่างก็จบ เมื่อพรรคยังไม่กลับมติ คงเดินหน้าพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น